พลาสเตอร์หนังปลานิล ช่วยรักษาแผลไฟไหม้ได้จริง แต่ยังไม่ควรลองใช้เอง เพราะอาจมีผลเสียตามมา
ในช่วงไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ ในสังคมออนไลน์มีการแชร์ข่าวและข้อมูลการใช้หนังปลานิลมาแปะบนร่างกายรักษาแผลผู้ป่วยไฟไหม้ การันตีให้ผลเยี่ยม จนเป็นที่ฮือฮาอยู่ระยะหนึ่ง ขณะเดียวกันก็มีการตั้งข้อสงสัยว่าเป็นเรื่องจริงหรือแค่คอนเทนต์ลวงหลอกเรียกยอดไลก์ยอดแชร์เพียงเท่านั้น
ย้อนความกลับไป เรื่องราวหนนั้นมีต้นตอมาจากประเทศบราซิล และเป็นเหตุการณ์จริงที่แพทย์ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งนำหนังปลานิลมารักษาแผลไฟไหม้
แนวคิดนี้เกิดจากการที่ทีมแพทย์ต้องการหาทางออกให้กับผู้ป่วยที่ประสบเหตุถูกไฟไหม้ผิวหนัง จึงทดลองปลูกถ่ายผิวหนังจากวัสดุหลายประเภท ซึ่งในทางการแพทย์เคยพัฒนาการนำผิวหนังของมนุษย์ หมู และแม้แต่กบมาใช้จนสำเร็จแล้ว แต่ก็ไม่ค่อยได้เป็นที่นิยมนักในบราซิล เนื่องจากปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่นเรื่องราคา บวกกับผู้ป่วยประเภทนี้ส่วนใหญ่มีฐานะปานกลางค่อนไปทางยากจน จึงต้องมองหาทางเลือกอื่นๆ มาทดแทน จนบทสรุปมาตกที่หนังปลานิล
เหตุที่เลือกหนังปลา ก็ไม่มีอะไรซับซ้อนนัก เพราะเป็นสิ่งที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น มีราคาถูก และหนังของปลาก็เป็นส่วนที่คนแล่ทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์ (ร้อยละ 99 ของหนังปลาถูกทิ้งลงในถังขยะ และร้อยละ 1 นำไปใช้ทำผลิตภัณฑ์ศิลปะและงานฝีมือ) แต่เมื่อเอามาทดสอบแล้วปรากฏว่าได้ผล สามารถรักษาแผลได้จริง
เนื่องจากหนังปลานิล วัสดุชีวภาพที่มีลักษณะทางสัณฐานวิทยาที่คล้ายคลึงกับผิวหนังมนุษย์ และมีปริมาณคอลลาเจนสูง ช่วยในการเสริมความยืดหยุ่นและการสมานแผล รวมถึงยังสามารถป้องกันการสูญเสียความชื้นและโปรตีนบนบาดแผลได้ และยังยึดเกาะแผลได้ดี ช่วยป้องกันเชื้อโรคจากภายนอก ทำให้แผลหายเร็วขึ้น
และนวัตกรรมชีวภาพนี้ก็ไม่ได้ใช้กับแค่คนเท่านั้น ยังถูกนำมาต่อยอดรักษาสัตว์ที่โดนไฟป่าเล่นงาน ไม่ว่าจะเป็นเหตุไฟป่าใน Pantanal ของบราซิล ที่สหรัฐอเมริกา หรือโคอาลาที่ออสเตรเลียก็ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งข้อดีอีกอย่างคือ การนำวัสดุชีวภาพมาใช้จะช่วยลดอันตรายเวลาสัตว์รู้สึกรำคาญเผลอกัดและกลืนเข้าไป ถ้าเป็นผ้าก๊อซก็อาจก่อให้เกิดอันตรายอื่นๆ กับสัตว์ได้อีกทอดหนึ่ง
ส่วนที่หยิบเรื่องนี้มาพูดอีกครั้ง นั่นก็เพราะสื่อต่างประเทศหลายแห่ง เริ่มนำข่าวนี้มาเล่าอีกหน พร้อมอัปเดตข้อมูลใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเพิ่มเติม โดยล่าสุดมีการนำไปทดลองกับผู้ป่วยในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งผลที่ได้ก็เป็นที่น่าพอใจ หนังปลานิลสามารถฟื้นฟูผิวหนังที่ถูกไฟไหม้ได้ไม่ต่างกับการทดลองในบราซิล
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็มีข้อยกเว้นว่า มันไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน เนื่องจากพบอาการแพ้ในผู้ป่วยที่มีโรคอื่นแทรกซ้อนอยู่เหมือนกัน
แต่ถึงจะมีข้อจำกัดกับผู้ป่วยบางประเภท รายงานการวิจัยก็ค่อนข้างให้ความเห็นไปในทางบวก คือ สามารถใช้แทนการพันผ้าก๊อซชุบพาราฟินได้อย่างไม่น้อยหน้า อีกทั้งเมื่อเทียบราคาแล้วยังถูกกว่า รวมถึงมีความยั่งยืนกว่าในแง่การผลิต ซึ่งงานวิจัยก็หวังเห็นถึงการนำหนังปลานิลไปใช้เชิงพาณิชย์ได้ และใช้ในทางการแพทย์ต่อไป
สุดท้าย ถึงบทสรุปจะมองเห็นอนาคตของวัสดุทางเลือก แต่เราไม่แนะนำให้ใครทำตามหรือเอาอย่าง การรักษานี้เป็นเรื่องที่ต้องทำโดยแพทย์ และหนังปลาที่ใช้ต้องผ่านกรรมวิธีการฆ่าเชื้อที่ได้มาตรฐานหลายขั้นตอนก่อน ไม่ใช่จู่ๆ เดินไปซื้อปลาจากตลาดแล้วแล่มาแปะเอง – อย่าหาทำโดยเด็ดขาด!
อ้างอิง
- Tilapia Skin Grafts Won’t Turn You Into Aquaman But They May Save Your Skin https://shorturl.asia/dc7er
- Efficacy of tilapia skin xenograft compared to paraffin-impregnated gauze as a full-thickness burn dressing after excisional debridement: A case series https://shorturl.asia/oBb8O