รู้จัก “เสือจำปาวัฒน์” สิ่งมีชีวิตที่ “กินคน” จนได้รับการบันทึกลง “กินเนสบุ๊ค”
สำหรับคนที่ศึกษาสัตว์ คงจะไม่ต้องอธิบายว่า สัตว์ต่างๆ โดยทั่วไปจะกลัวมนุษย์ และก็จะมีแค่ “กรณีพิเศษ” เท่านั้นที่สัตว์จะล่ามนุษย์มากิน และกรณีพิเศษที่มากกว่านั้นก็คือ สัตว์ที่ล่ามนุษย์มากิน แล้วกินอีกเป็นร้อยๆ ชีวิต
ในบรรดาสัตว์เหล่านี้ สัตว์ที่ถือว่ากินมนุษย์ไปเยอะสุดที่สุดในประวัติศาสตร์คือเสือเบงกอล เสือตัวนั้นถูกขนานนามว่า “เสือจำปาวัฒน์” ตามชื่อเมืองจำปาวัฒน์ในรัฐอุตตราขันธ์ของอินเดีย
เสือตัวนี้เป็น “ตำนาน” เพราะว่ามันฆ่ามนุษย์ไปเกือบ 440 ชีวิต และนี่เป็นสถิติการฆ่าที่น่าจะโหดกว่านักรบ นักฆ่า หรือฆาตกรต่อเนื่องใดๆ ที่โลกนี้เคยบันทึกเอาไว้
จุดเริ่มตำนาน
เรื่องของเสือจำปาวัฒน์นั้นเริ่มขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อเสือร้ายตัวหนึ่งมาบุกหมู่บ้านคนเนปาลแถบชายแดนที่ติดกับประเทศอินเดีย โดยเสือตัวนี้ร้ายมากๆ ระดับส่งนักล่าไปเท่าไรก็ล่าไม่ได้ สุดท้ายกองทัพเนปาลจึงถูกส่งมาจัดการ
แต่ถึงแม้กองทัพลงมือเอง ก็จัดการเสือไม่ได้ อย่างไรก็ดี การลงพื้นที่ไปลาดตระเวนป่าแถวนั้นจนทั่ว ก็ไม่พบว่ามีเสืออยู่อีก ก็ทำให้ชาวบ้านโล่งใจ
แต่หารู้ไม่ว่า ในความเป็นจริง เจ้าเสือร้ายนั้นได้ข้ามแม่น้ำกาลีไปแล้ว
แม่น้ำกาลีเป็นพรมแดนระหว่างเนปาลและอินเดีย ดังนั้นหลังจากมันหนีทหารเนปาลมาอยู่ในเขตอินเดีย ซึ่งตรงนั้นเป็นเขตเมืองจำปาวัฒน์ ในรัฐอุตตราขันธ์และในเมืองนี้เองที่เสือร้ายได้สร้างตำนานของมันที่เล่าขานมาจนชื่อของมันได้ไปอยู่ใน Guinness Book of World Records ในฐานะของสิ่งมีชีวิตที่ฆ่ามนุษย์เยอะที่สุดในประวัติศาสตร์แม้เวลาจะล่วงเลยผ่านมาร้อยกว่าปี ก็ยังไม่มีสัตว์ตัวใดทำลายสถิติได้
จุดจบของสิ่งมีชีวิตที่สังหารมนุษย์มากที่สุดในโลก
“เสือจำปาวัฒน์” ได้สร้างตำนานโดยการไล่ขย้ำผู้หญิงและเด็กชาวบ้านที่เข้าป่าไปหาฟืนและของป่าตามประสาคนอินเดียบ้านนอกในสมัยนั้น
และมันก็ทำแบบนี้มาหลายต่อหลายปี โดยการล่าของมันจะเกิดขึ้นกลางวันแสกๆ ซึ่งเป็นเวลาที่คนจะเข้าป่าไปหาของป่า หรือกระทั่งอยู่นอกบ้าน (ตรงนี้ต้องไม่ลืมว่า อินเดียบ้านนอกยุคนั้นไม่น่าจะมีไฟฟ้า คือบ้านเมือง “ไม่เจริญ” สุดๆ และ “คนสมัยก่อน” พอพระอาทิตย์ตก เขาก็อยู่ในบ้านกันแล้ว)
เสือจำปาวัฒน์ทำให้ชาวบ้านอกสั่นขวัญแขวน เพราะผู้คนต่างรู้สึกว่า เมื่อมีใครสักคนในเมืองจำปาวัฒน์เข้าป่า พวกเขาอาจไม่ได้กลับมา เพราะเสือคาบไปกิน จนสุดท้าย “ฮีโร่” ก็ปรากฎ ซึ่งแน่นอน ฮีโร่ในยุคอินเดียอาณานิคมก็ต้องเป็นคนขาว ซึ่งก็คือพรานป่าชาวอังกฤษนามว่า Jim Corbett
ตอนที่ Corbett ไปถึง เสือจำปาวัฒน์ได้ฆ่าเด็กหญิงวัย 16 ปีกลางวันแสกๆ ไปพอดี และทิ้งรอยเลือดไว้ให้ Corbett ได้ตามรอยมันไป และในที่สุด Corbett ก็พบศพเด็กหญิงผู้เคราะห์ร้าย เขาจึงเข้าไปดู ก่อนจะพบว่ามันเป็นแผนของเสือร้ายที่ซุ่มโจมตีเขาอยู่พอดี
แต่ด้วยสัญชาติญาณพรานป่า เขาหันขวับไปยิงปืนขู่ มันเลยหนีไป
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้แม้แต่ยอดพรานอย่าง Corbett ยังรู้สึกว่า เสือนี้มันร้ายนัก ก็เลยไปขอความช่วยเหลือจากทางเจ้าหน้าที่รัฐ และชาวบ้านเพื่อรวมคนมาไล่ลาดตระเวนตีวงล้อมกรอบเสือ
และวันรุ่งขึ้น ในที่สุดการตีวงล้อมกรอบก็ทำให้ สิ่งมีชีวิตที่ฆ่าคนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ กับมนุษย์ยอดนักล่าได้เผชิญหน้ากัน และฉากสู้กันราวกับในหนังก็เกิดขึ้น
เพราะ Corbett ยิงกระสุนเข้าไปที่ไหล่และยอดอก แต่มันก็ยังไม่ล้ม และยังสู้ต่อ สุดท้ายเขาเลยเลือกจะยิงเท้าของมันให้มันหนีไม่ได้อีกด้วยกระสุนนัดสุดท้ายที่เหลือ เรียกว่าวัดใจกันไปเลย เพราะถ้าพลาดก็ตาย
ผลคือ หลังจากเท้าบาดเจ็บ เสือจำปาวัฒน์จะสู้ต่อก็ไม่ได้เพราะเหลือแค่ 3 ขาแล้ว และจะหนีก็ไม่ได้เช่นกัน จนสุดท้ายมันก็เสียเลือดจนล้มลง
และปิดตำนานสิ่งมีชีวิตที่ฆ่ามนุษย์มากที่สุดในประวัติศาสตร์
“ความจริง” ของเสือในอินเดีย
ผลการชันสูตรนั้นชวนให้ช็อคอยู่ไม่น้อย เพราะเขาพบว่าเสือจำปาวัฒน์นั้นจริงๆ แก่มากแล้ว อายุของมันราวๆ 10-12 ปี ซึ่งปกติเป็นเวลาที่เสือเบงกอลต้องตายแล้วตามธรรมชาติ และผลชันสูตรยังพบว่าเขี้ยวซีกขวาของมันทั้งด้านบนและล่างหักอีกด้วย
ความแก่และเขี้ยวหักนี้น่าจะเป็นเหตุผลที่มันไม่สามารถล่าเหยื่อได้ตามธรรมชาติ และหันมาล่ามนุษย์เพื่อ “ประทังชีวิต” แทนล่าสัตว์ตามธรรมชาติ เนื่องจากล่ามนุษย์มาเยอะ มันเลยล่ามนุษย์เก่งขึ้นเรื่อยๆ จนกลายมาเป็น “ตำนาน” ในที่สุด
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจคืออายุของเสือ เพราะเสือเบงกอลนั้นตามธรรมชาติอยู่ได้ 10 ปีก็เก่งแล้ว แต่ถ้าอยู่แบบมีมนุษย์เลี้ยงตามสวนสัตว์หรือศูนย์รักษาพันธุ์สัตว์ป่า มันจะอายุได้ถึง 20 ปีทีเดียว
เหตุที่เป็นแบบนี้ก็เพราะเสือตามธรรมชาติอายุสัก 10 ปี มันก็จะแก่จนล่าสัตว์ตามปกติไม่ไหวแล้วและอดตายในที่สุด แต่สำหรับอินเดีย ที่เสือล่ามนุษย์นั้นเป็นกรณีพิเศษ
ในปัจจุบัน ศตวรรษที่ 21 แล้ว ทุกวันนี้ก็ยังมีเสืออยู่ในอินเดีย และก็ยังมีเสือกินคนอยู่เรื่อยๆ และเหตุผลที่คนอินเดียค่อนข้าง “เฉยๆ” กับเรื่องพวกนี้ก็คือ พวกเขามองว่ามันเป็น “ภัยธรรมชาติ” เพราะอย่างน้อยๆ ในกรอบคิดของฮินดู คนกับสัตว์ไม่ได้ต่างกันขนาดนั้น ทั้งหมดอยู่ในวงจรการเวียนว่ายตายเกิดแบบเดียวกัน ซึ่งเป็นคนละโลกกับวิธีคิดแบบตะวันตกที่มองว่ามนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่สูงส่งกว่าสัตว์โดยสมบูรณ์แบบเทียบกันไม่ได้
ในวิธีคิดแบบนี้คนอินเดียเลยอยู่ใกล้ชิดกับสัตว์มาก และวันดีคืนดีก็จะมีเสือแก่ๆ ล่าสัตว์ป่าไม่ไหวมาบุกชุมชนมนุษย์และคาบสัตว์เลี้ยงหรือมนุษย์ไปกินบ้าง
ซึ่งที่โหดกว่านั้นคือ พอมีขบวนการสิทธิสัตว์เกิดขึ้น ก็มีการต่อต้านการฆ่าเสือในนามของสิทธิสัตว์และการอนุรักษ์อย่างหนักหน่วง เช่นในปี 2018 มีเสือชื่อ “อันวี” ที่กินคนไปมากมาย และถูกฆ่าในที่สุด แทนที่คนจะยินดีปรีดากันที่ “เสือกินคน” ตาย กลับมีการประท้วงหาว่าทางการฆ่าสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์แทนที่จะจับมันเป็นๆ ไปคุมขังในศูนย์รักษาพันธุ์สัตว์ป่า
เรียกได้ว่าแม้เสือจะฆ่าคนไปเท่าไร ในสายตาของนักสิทธิสัตว์ พวกมันก็ยังควรจะมีชีวิต โดยเฉพาะถ้ามันเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์
นี่ทำให้ไม่แปลกนักที่ทุกวันนี้เสือที่อยู่ตามธรรมชาติในโลกนี้ 70% อยู่ในอินเดีย ถึงแม้ว่าจะไม่มีตัวไหนกลายเป็นตำนานแบบเสือจำปาวัฒน์แล้ว
แต่ประเด็นคือ สังคมกลับไม่ช็อคกับข่าวเสือคาบคนไปกินตามชนบทเท่าไหร่ อาจเพราะนี่ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นแทบทุกวันแบบเหตุกราดยิงในสังคมอเมริกัน
แต่รู้หรือไม่ว่า ปีๆ หนึ่งเหตุเสือคาบคนอินเดียไปกินหรือโผล่จากป่ามาทำร้ายคน ก็มีหลายสิบเคสอยู่เหมือนกัน
อ้างอิง:
- SCMP. History’s deadliest single animal? Story of the killer Indian tiger and the man who hunted it down detailed in new book. https://www.scmp.com/…/historys-deadliest-single-animal…
- BBC. The problem with India’s man-eating tigers. https://www.bbc.com/…/20191120-the-problem-of-indias…
- Wikipedia. Champawat Tiger. https://en.wikipedia.org/wiki/Champawat_Tiger
- Wikipedia. Tiger Attack. https://en.wikipedia.org/wiki/Tiger_attack