“ไม่มีใครเกิดมาเพื่อเป็นอาชญากร” ป้ามล-ทิชา ณ นคร ผู้หวังเปลี่ยนโครงสร้างเฮงซวย เพื่อสร้างชีวิตใหม่ให้เด็กติดคุก
Select Paragraph To Read
- เมื่อชีวิตเคยก้าวเข้าใกล้ความตาย
- 17 ปีกับความเปลี่ยนแปลงในบ้านกาญจนา
- ความใกล้ชิดไม่ใช่การใช้อำนาจ
- ถึงเวลาแก้ไขโครงสร้างที่บิดเบี้ยว
- หยุดตีกรอบสร้างโอกาส
- ปรารถนาความรักในวันที่เลวร้าย
- รักษาแผลด้วยหัวใจ ใช่ความรุนแรง
“ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ป้ามักจะเลือกที่ตัดสินใจทำในสิ่งที่รู้สึกว่าหลายปีต่อมา จะไม่เสียดายกับการตัดสินใจในครั้งนั้น”
บทเรียนสำคัญในชีวิตของ ป้ามล-ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) แห่งบ้านกาญจนาภิเษก ที่ชีวิตนี้ไม่รู้สึกเสียดายกับสิ่งที่ทำ ถึงแม้ต้องลงทุนมหาศาล และใช้เวลานาน กลับมีเพียงอย่างเดียวที่เธอกลัวคือ เมื่อเวลาผ่านไปพอมองย้อนกลับมาแล้วรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้ลงมือทำ
เมื่อชีวิตเคยก้าวเข้าใกล้ความตาย
ป้ามลเล่าว่า เมื่อ 2 ปีก่อน เธอจับเจอก้อนที่เต้านมที่โตขึ้นเรื่อยๆ เลยไปตรวจจึงพบว่าป่วยเป็นมะเร็งที่เต้านม ซึ่งเธอก็ตัดสินใจผ่าตัดทันที หลังจากนั้นก็ทำคีโมอยู่ประมาณ 8 เดือนอาการก็เริ่มดีขึ้น จนเกือบจะกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ
ตอนแรกที่รู้ตัวว่าป่วยเป็นมะเร็ง เธอไม่ได้รู้สึกกลัวอะไรเลยแม้กระทั่งความตาย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตอนนี้อายุ 68 ปีแล้วด้วย อีก 2 ปีก็จะเกษียณ เธอเลยคิดว่าการจากไปเป็นเรื่องธรรมชาติของชีวิต แต่กลับรู้สึกผิดกับสิ่งที่ยังค้างคาอยู่มากกว่า เพราะถ้าหากเธอไม่อยู่แล้วใครเล่าจะเป็นคนสานต่อสิ่งที่ทำอยู่
17 ปีกับความเปลี่ยนแปลงในบ้านกาญจนา
การทำงานของป้ามลในบ้านกาญจนาจากวันแรกเมื่อปี 2546 เธอบอกว่า
“บ้านกาญจนา” เป็นสถานที่ที่ควบคุมเยาวชนที่ทำความผิดตามกฎหมาย หรือที่เรียกกันแบบหยาบคายว่า “คุกเด็ก”
ช่วงแรกที่เธอเข้ามาดูแลบ้านกาญจนา เธอเริ่มศึกษาก่อนว่าประเทศไทยมีคุกเด็กตั้งแต่ปี 2495 โดยมีกฎหมายว่า เด็กอายุมากกว่า 7 ปี ที่มีส่วนร่วมกับผู้ใหญ่หรือกระทำความผิดด้วยตัวเองต้องอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า “สถานพินิจ” เพื่อแยกระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ แต่สุดท้ายแล้วเด็กก็ยังคงถูกปฏิบัติเหมือนกับนักโทษผู้ใหญ่เช่นเดิม
จึงทำให้ ‘สงครามความคิด’ เกิดขึ้น เพราะป้ามลต้องเริ่มจากการเปลี่ยนความคิดของเจ้าหน้าที่ภายในบ้านก่อน เพื่อจะส่งต่อความคิดไปยังเด็กและพ่อแม่ของเด็ก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย เนื่องจากไม่ค่อยมีใครรับฟัง อีกทั้งความคิดเก่าๆ ที่หล่อหลอมความคิดของเจ้าหน้าที่ไว้ก่อนหน้านั้นด้วย
ทางบ้านกาญจนาจึงประกาศชัดเจนว่า จะไม่รับมรดกทางความคิดที่รัฐเคยปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนตั้งแต่นั้นมา
ความใกล้ชิดไม่ใช่การใช้อำนาจ
การใช้อำนาจในสถานพินิจ เริ่มแปรเปลี่ยนด้วยการใช้ความใกล้ชิด ความใส่ใจ และความเข้าใจ เจ้าหน้าที่ในบ้านกาญจนาพบว่า เด็กให้ความร่วมมือมากขึ้น รู้สึกสบายใจ เป็นมิตรต่อกัน และมากไปกว่านั้นคือ ‘แววตา’ ของเด็กและพ่อแม่เด็กที่ไม่ว่างเปล่าอีกต่อไป สำหรับเจ้าหน้าที่สิ่งนี้คือ ‘รางวัล’ ที่แสนพิเศษ
ป้ามลยังบอกต่ออีกว่า เครื่องมือที่ใช้ในการจัดการกับมนุษย์ไม่ได้พึงมีแค่วินัย กฎเหล็ก และอำนาจนิยมเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งอื่นเช่น “การให้อภัย ความเมตตา การเห็นคุณค่า และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ที่ทรงพลังในการเปลี่ยนแปลงมากกว่า ซึ่งมาจากความเชื่อที่แข็งแรง ไม่สั่นคลอนไปกับกระแสสังคม ที่พร้อมจะเข้ามาปะทะความคิดกันได้ตลอดเวลา
ถึงเวลาแก้ไขโครงสร้างที่บิดเบี้ยว
จากระบบโครงสร้างบิดเบี้ยวที่มีต้นตอมาจากระบบอำนาจนิยมที่ส่งต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน แต่ป้ามลเชื่อและศรัทธาในความเป็นมนุษย์ว่า “มนุษย์ทุกคนต่างก็เคยทำผิดพลาดด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครเกิดมาเพื่อเป็นอาชญากร”
ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึก ไม่เคยถูกแก้ไข มีแต่ถูกมองข้ามหรือซุกเอาไว้ใต้พรม ป้ามลจึงถลกพรมนั้นเพื่อเผยให้เห็นปัญหา สร้างความยอมรับว่า ปัญหานั้นมีอยู่จริง และหาทางแก้ไขได้ไปด้วยกันเช่น มีพื้นที่ดีๆ ในการสร้างสรรค์ให้ชีวิตดีขึ้น
ซึ่งเป็นเรื่องที่คนมีอำนาจทำได้ แต่กลับทิ้งขว้างปัญหาอย่างไม่สนใจไยดี
จนสุดท้ายผลกรรมจากโครงสร้างอันล้มเหลว ก็ปรากฏในร่างของเด็ก หรือคนที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังอย่างที่เราเห็นเป็นเรื่องปกติที่ไม่ปกติ
หยุดตีกรอบสร้างโอกาส
ถึงแม้โครงสร้างจะไม่เอื้อต่อการมีชีวิตที่ดีสำหรับทุกคนก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าเราจะอ้างเป็นเหตุให้กระทำสิ่งที่ล่วงละเมิดคนอื่น เพราะท้ายสุดแล้ว คนที่ทำต้องได้รับผลนั้นในสถานที่ใดที่หนึ่ง
ป้ามลจึงอยากให้บ้านกาญจนาเป็นพื้นที่ที่ไม่มีกฎระเบียบที่คอยกดทับลดทอนความเป็นมนุษย์ให้ลดลงไปอีก เธอจึงพยายามสร้างโอกาสมากกว่า เพื่อหวังคืนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเด็กเหล่านั้นให้กลับมาอีกครั้ง
ปรารถนาความรักในวันที่เลวร้าย
ป้ามลเล่าถึงเด็กๆ ในบ้านกาญจนาแห่งนี้ว่า ในวันที่เด็กเหล่านี้เข้ามาที่นี่ล้วนเคยผิดพลาด ทำตัวเลวร้ายที่สุด สร้างความเสียหายให้คนรอบข้างมากที่สุด ขณะเดียวกันพวกเขาก็ต้องการความรักมากที่สุดเช่นเดียวกัน
สิ่งที่ป้ามลทำคือการยอมรับความแตกต่างของเด็กแต่ละคน แล้วคอยโอบกอดเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับเขา เด็กเหล่านี้ก็จะค่อยๆ ตกผลึกเปลี่ยนชุดความคิดที่พาชีวิตมาสู่จุดที่พลาดพลั้ง เป็นพลังให้พวกเขาสร้างชีวิตที่ดีกว่าในวันพรุ่งนี้ ป้ามลเชื่อว่าไออุ่นจากการสวมกอดสร้างปาฏิหาริย์ให้เด็กๆ คิดเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างคาดไม่ถึง
แม้กระแสสังคมบางส่วนจะไม่เห็นตัวกับสิ่งที่ป้ามลทำ แต่เธอก็ขอต่อสู้ทุกอย่าง เพื่อให้เด็กๆ ที่ก้าวเท้าออกจากที่นี่สามารถมีชีวิตที่สง่างามได้ในสังคม
สิ่งนั้นคือ ‘ของขวัญ’ ที่ตอกย้ำความกล้าหาญของเธอ
รักษาแผลด้วยหัวใจ ใช่ความรุนแรง
หากถามถึงเป้าหมายสูงสุด ป้ามลบอกว่า เธออยากให้คุกที่ใช้ระบบอำนาจสูญหายไป เพราะเธออยากให้คุกเป็นสถานที่คืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อ เช่นเดียวกับคืนความเป็นมนุษย์ให้กับเด็กที่ได้รับโทษ
เธอยังเชื่อเสมอว่า มีบาดเจ็บที่ไหนต้องรักษาที่นั่น หากบาดเจ็บที่ใจก็ต้องรักษาใจ ไม่ใช่ใช้ความรุนแรงเพื่อซ้ำเติม
และในอนาคตอันใกล้ หลังเกษียณป้ามลอยากมีบ้านสักหลังไว้สำหรับเยียวยาเด็กผู้หญิงหรือเหยื่อที่ถูกละเมิดทางเพศ เพราะเธอคิดว่า พื้นที่แห่งนั้นจะช่วยสร้างพลังให้กับเด็กผู้หญิงได้กลับมาลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ป้ามลทำ เพื่อโอบอุ้มเด็กคนหนึ่งให้กลับมาอยู่ในสังคมได้เป็นแค่ปลายทาง ป้ามลบอกว่าสิ่งหนึ่งที่เราทุกคนต้องตั้งคำถามคือ ปัญหาโครงสร้าง และสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ทำให้คนๆ หนึ่งต้องกลายเป็นแบบนี้ ควรได้รับการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงหรือไม่ และอย่างไร
รับฟังเรื่องราวของป้ามลได้เพิ่มเติมที่ : https://www.youtube.com/watch?v=0OeAWYqeLGc