เคยได้ยินไหม? ใจเย็นแค่ไหนพออยู่หลังพวงมาลัยเปลี่ยนไปเป็นอีกคนทุกที
คิดว่าทุกคนต้องเคยมีประสบการณ์พบเจอคนที่ปกติเป็นคนใจเย็น ไม่พูดจาหยาบคาย หรืออะไรก็ตามที่เป็นขั้วตรงข้ามของความใจร้อน แต่พอขับรถเท่านั้นแหละเปลี่ยนเป็นอีกคนแบบไม่คาดคิดเลย คนเหล่านั้นอาจจะเป็นคนใกล้ตัวหรือไม่ก็เราเองเนี่ยแหละ
Stan Steindl นักจิตวิทยา และผู้ช่วยศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย Queensland กล่าวว่า พฤติกรรมที่แสดงออกถึงความไม่พอใจขณะขับรถมักจะเกิดขึ้นเวลาเราเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เช่น โดนปาดหน้า หรือต้องเบรกกะทันหัน เป็นต้น ทำให้มนุษย์แสดงสัญชาตญาณการต่อสู้เพื่อให้หนีเอาตัวรอดจากเหตุการณ์นั้นให้ได้ แต่ออกมาในรูปแบบการก่นด่า หรือการบีบแตร หนักหน่อยก็เสียมารยาทชูนิ้วกลางใส่คู่กรณีเสียเลย
แต่รู้ไหม? อารมณ์เสียขณะขับรถส่งผลต่อสุขภาพกายและใจเราได้ด้วยนะ
งานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดในปี 2014 ระบุว่า เมื่อเราแสดงอารมณ์หัวร้อนออกมาจะส่งผลต่อร่างกายเราได้ในทันที ไม่ว่าจะความเครียด ความกดดันหรืออะไรก็ตาม แล้วสิ่งเหล่านี้จะไปทำให้ความดันโลหิตสูง อัตราการเต้นของหัวใจก็เพิ่มขึ้น การไหลเวียนของโลหิตก็เร็วขึ้นทำให้หัวใจเราทำงานหนักขึ้น ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคหัวใจอาจจะกำเริบขึ้นมาได้ในระยะเวลาสั้นๆ นี้
แต่เดี๋ยวก่อนถ้าคุณคิดว่าคุณไม่มีปัญหาสุขภาพอะไร งั้นคุณก็ไม่ต้องกลัวสิ
มีคนจำนวนไม่น้อยที่เสี่ยงจะเป็นโรคหัวใจ หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวกับความเครียด ฉะนั้นความเครียด ความกดดัน อารมณ์ที่พุ่งขึ้นไปอย่างหยุดไม่อยู่ส่งผลให้อาการกำเริบขึ้นมาได้ นอกจากจะอันตรายกับสุขภาพแล้วยังเสี่ยงกับอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย
แล้วความเครียด การดับอารมณ์หัวร้อนไม่ได้ ยังทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทบนท้องถนนขึ้นได้ มีหลายกรณีที่ลงไม้ลงมือกันถึงขั้นเสียชีวิตเพียงเพราะการขับรถ
แล้วจะทำอย่างไรให้สงบจิตใจได้ขณะขับรถ?
ลองเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง จากที่โดนปาดหน้าแล้วสบถเป็นค่อยๆ หายใจเข้าออกช้าๆ ให้ไม่เกิดอารมณ์หงุดหงิด หรืออาจจะฟังเพลงที่ชอบคลอไปเรื่อยๆ สร้างสุนทรียะทางอารมณ์ ถ้าหงุดหงิดจากการรถติดอาจจะรอเวลาให้หายติดหรือหลีกเลี่ยงเส้นทางนั้นก็ได้ เพื่อสุขภาพกายและใจที่ดีของเราเองนะ
แล้วคุณล่ะ? จัดการกับความหัวร้อนเวลาขับรถอย่างไร มาแชร์ให้เราฟังกันหน่อย
อ้างอิง
- This Is What Road Rage Does to Your Body https://bit.ly/3coYUdl