รู้จัก ‘ฐานันดรสาม’ หรือ ‘ประชาชน’ ชนชั้นที่เคยโดนกษัตริย์และศาสนาข้ามหัว จนก่อให้เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส

3 Min
1128 Views
23 Mar 2022

สมัยก่อนปฏิวัติฝรั่งเศส ‘คน’ ถูกแบ่งออกเป็นสามฐานันดร

หนึ่งคือพระ สองคืออภิชน และสามคือสามัญชนทั่วไป

ความสัมพันธ์แบบช่วงชั้นตามฐานันดรนี้เป็นมรดกตกทอดมาจากยุคกลาง และถูกจัดวางโดยเรียงตามลำดับความใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้า จึงทำให้พระ หรือตัวแทนศาสนจักรซึ่งผูกขาดการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าจึงได้อยู่ชั้นสูงสุด รองลงมาคืออภิชนผู้กุมอำนาจการปกครอง และล่างสุดคือ ‘สามัญชน’

สามัญชนอันอยู่ท้ายสุดของระบอบนี้ประกอบขึ้นจากประชากรราวๆ 27 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 98 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศ แต่ฐานันดรสามนี้กลับไม่มีอำนาจทางการเมือง ไร้ซึ่งอิทธิพล และถูกกดขี่มากที่สุด

แต่ท้ายที่สุด หนังสือเล่มหนึ่งก็ถือกำเนิดขึ้น และให้นิยามกับฐานันดรสามเสียใหม่ จนราษฎรผู้ถูกกดขี่เกิดภาวะ ‘ตาสว่าง’ ทั้งแผ่นดิน แล้วจึงนำมาสู่การต่อสู้ครั้งสำคัญอย่างที่เรารู้จักกันในนาม ‘ปฏิวัติฝรั่งเศส’ (The French Revolution)

ฐานันดรสามก่อนการปฏิวัติ

แม้ฐานันดรสามจะเป็นคนหมู่มากของประเทศ แต่ในยุคระบอบการปกครองเก่า (Ancien Regime) ราษฎรก็แทบไม่มีสิทธิเสียงใดๆ ในรัฐสภา ซึ่งเห็นได้ชัดจากการประชุมสภาฐานันดร (the Estates-General) ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เคยจัดขึ้นในปี 1789 ที่ใช้ระบบ ‘หนึ่งฐานันดรเท่ากับหนึ่งโหวต’ ประชาชนที่คิดเป็นคนเกือบทั้งประเทศจึงเทียบเท่าได้กับหนึ่งเสียงเล็กๆ ที่มักโดนกลบมิดจากเสียงของพวกอภิชนและศาสนจักร

ย้อนกลับมามองความเป็นอยู่ของคนฐานันดรสุดท้าย คำว่า ‘เหลื่อมล้ำ’ ก็สามารถใช้ได้อย่างไม่เคอะเขิน พวกเขาถูกบีบให้จนแบบแทบไม่มีโอกาสลืมตาอ้าปาก

ประชาชนทั่วๆ ไป โดยเฉพาะคนชนบทกับคนเมืองคือแรงงานหลักของชาติ ในช่วงใกล้ปฏิวัติ พวกเขาต้องทนอยู่กับค่าครองชีพแพงหูฉี่ ขนมปังไม่พอยาไส้ แถมมิวายยังต้องจ่ายภาษีแสนแพงเพื่อสนองความฟุ้งเฟ้อของราชสำนัก ถลุงไปกับสงครามกับต่างชาติ และยังต้องแบ่งเงินอีก 10 เปอร์เซ็นต์ให้โบสถ์

แม้กระทั่งพวกนายทุนที่ถือเป็นกลุ่มคนร่ำรวยสุดในฐานันดรสาม (The haute bourgeoisie) ก็ยังถูกเบียดเบียนจากความเหลื่อมล้ำนี้ ความต้องการของพวกเขาที่อยากเลื่อนยศถา หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองซึ่งถูกสงวนไว้แต่ในกลุ่มอำนาจเก่า

ความยากจน คับข้องใจ กับสองตาที่เห็นอยู่ตรงหน้าว่าราษฎรคือคนส่วนใหญ่ของประเทศแต่ไร้ซึ่งแขนขา จึงเริ่มนำมาสู่แนวคิดใหม่ซึ่งต้องการเรียกร้องว่าชาติคือประชาชน และเพราะเป็นประชาชน พวกเขาจึงควรเป็นกลุ่มที่สำคัญที่สุดในบรรดาสามสถาบัน

ราษฎร = ชาติ

ในเดือนมกราคม ปี 1789 นักเขียนนามว่า เอ็มมานูเอล-โฌเซฟ ซีเยส (Emmanuel-Joseph Sieyès) ได้ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร? ’ (Qu’est-ce que le Tiers-État?) ความยาว 127 หน้า และอิทธิพลของหนังสือเล่มนี้ก็กลายเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพลิกโฉมความหมายของการเป็นฐานันดรที่สามของคนฝรั่งเศสไปตลอดกาล

ในหนังสือเล่มนี้ ซีเยสได้กล่าวไว้ว่า

“ฐานันดรที่สามเป็นเสมือนกับชายที่แข็งแรงกำยำแต่แขนข้างหนึ่งของเขาถูกตรึงไว้ด้วยโซ่ตรวน หากตัดพวกอภิสิทธิ์ชนออกไป ประเทศชาติหาได้สูญเสียอะไรไม่ แต่กลับจะได้คืนมามากขึ้นยิ่งกว่าเดิม แล้วอะไรคือฐานันดรที่สามกันน่ะหรือ? ก็คือทุกสิ่งทุกอย่าง; แต่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกพันธนาการและถูกกดขี่ แล้วจะเป็นอย่างไรน่ะหรือ ถ้าไม่มีพวกอภิสิทธิ์ชน? ก็จะเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เสรีและเบ่งบาน…”

‘ชาติ’ ในความหมายใหม่ไม่ได้ถูกจัดวางตามลำดับความใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้าและมีสามชนชั้นอีกต่อไป หากแต่ถูกแบ่งตามประเภทของงานที่มีความจำเป็นทางเศรษฐกิจต่อชาติอย่างเท่าเทียมกัน ชาติของซีเยสคือกลุ่มคนที่อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน และมีผู้แทนแห่งอำนาจนิติบัญญัติเดียวกัน

หนังสือ ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร? ’ โน้มน้าวให้ผู้อ่านเห็นว่า ‘ฐานันดรที่สามไม่ใช่ชนชั้นที่ต่ำสุดของสังคม’ แต่คือพลังขับเคลื่อนประเทศชาติ และชี้ให้เห็นว่าฐานันดรที่สามนั้นตกเป็นเหยื่อของพระและอภิชนมาโดยตลอด ทั้งยังแสดงให้เห็นว่า ฐานันดรที่สามคือชาติและเจตจำนงของชาติ และฐานันดรที่สามเท่านั้นที่มีสิทธิ์ชี้ชะตากับอนาคตของประเทศ

ท้ายที่สุด เรื่องก็ดำเนินมาถึงคืนวันที่ 4 สิงหาคม ปี 1789 ที่ซึ่งสมัชชาแห่งชาติ (Assemblée national) ได้ลงมติยกเลิกระบอบอภิสิทธิ์ ศักดินาและฐานันดรไปในที่สุด

อ้างอิง

  • Alpha History. THE THIRD ESTATE. https://bit.ly/3Hboz5z
  • JSTOR. CHAPTER FOUR The Rise of the Third Estate: The French People Revolt. https://bit.ly/3BQLP8a
  • The 101 World. อ่านปฏิวัติฝรั่งเศส อ่าน ‘ฐานันดรที่สามคืออะไร? ’. https://bit.ly/3hdzqBA