รู้ไหม? แมลงทอดที่คุณกิน คือโปรตีนชั้นสูงอายุ 10,000 ปี

2 Min
769 Views
01 Mar 2021

เคยเห็นแมลงทอดตามรถเข็นทั่วๆ ไปไหม?

กลิ่นหอมของซอสถั่วเหลืองลอยออกมาจากฝูงแมลงนานาชนิดในสภาพถูกทอดจนเหลืองกรอบนอนกองกันในถาดสีเงิน ดูเป็นภาพอาหารง่ายๆ คุ้นตาในเมืองไทย แต่รู้ไหม ‘การกินแมลง’ มีประวัติศาสตร์ฝังรากลึกมาตั้งแต่สมัยโบราณ และชาติไทย ไม่ใช่ชาติเดียวที่เห็นแมลงเป็น ‘ของแซ่บ’

เมื่อ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เราได้เห็นข่าวชาวเม็กซิโกประกาศนำเข้าผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดไทย สายพันธุ์ทองแดงลาย หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ตัวสะดิ้ง’ อีกทั้งจะมีการตีตลาดไปยังอเมริกาเหนืออีก และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กับกรมปศุสัตว์เอง ก็สนับสนุนการเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อส่งออกอย่างเต็มที่ ย้ำให้เรารับรู้ว่าวัฒนธรรมการกินแมลงเป็นสิ่งสากลโลก ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่

ยิ่งไปกว่านั้น มันอยู่คู่กับมนุษยชาติมาช้านานแล้ว

คนกินจิ้งหรีด

คนกินจิ้งหรีด | eattomorrow.com

รากเหง้าการกินแมลง

ย้อนกลับไปนานถึง 10,000 ปีก่อน ณ ดินแดนวงพระจันทร์เสี้ยวไพบูลย์ (The Fertile Crescent) ในตะวันออกกลาง ซึ่งปัจจุบันก็คือดินแดนในอิรัก คูเวต ซีเรีย เลบานอน จอร์แดน อิสราเอล และปาเลสไตน์ มีหลักฐานอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาเดิม ระบุถึงการกินตั๊กแตนโลกัสด้า และย้อนไปนานกว่านั้น ในยุคกรีกโบราณ ตัวจักจั่นถือเป็นของขบเคี้ยวชั้นสูง ส่วนชาวโรมันก็กินตัวอ่อนแมลงเต่าทองเป็นอาหารเลิศรส

ประเทศไทย วัฒนธรรมการกินแมลงอันสืบทอดมาตามสภาวะเศรษฐกิจ

เมื่อเนื้อสัตว์ใหญ่สีแดงเป็นของแพง เนื้อกรุบกรอบมันๆ ของแมลงซึ่งอยู่ชุกชุมในผืนนาและท้องไร่จึงกลายเป็นทางเลือกใหม่ของคนยาก ยิ่งในพื้นที่ที่ต้องเผชิญภัยแล้งอย่างอีสาน ที่ผืนไร่นาซึ่งเอาไว้เลี้ยงปากท้องมักมีช่วงเวลาแห้งเฉาไร้ชีวิตเนิ่นนาน เหลือแค่ผืนดินแห้งแล้ง กับคูคลองไร้สายน้ำ คนอีสานจึงเรียนรู้การใช้ชีวิตกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด และหากว่านั้นหมายถึงการต้องหาแมลงกิน พวกเขาก็ไม่รังเกียจ ยิ่งด้วยรสชาติ ประโยชน์ พลังงานที่แมลงมอบให้พวกเขามีแรงทำงานต่อไปในแต่ละวัน พวกเขาจึงพร้อมอ้ารับเหล่าแมลงสู่ท้องอย่างไม่เดียดฉันท์

แต่เพราะใครๆ ก็ชอบของอร่อย รสนิยมการบริโภคแมลงจึงขยายออกไปในทุกชนชั้น จะเป็นชาวบ้านอยู่กับไร่กับดิน หรือจะเป็นคนสูงศักดิ์นุ่งผ้าไหมนั่งเบาะในบ้านหลังโต ต่างฝ่ายต่างก็มีจานใส่เมนูแมลงในมื้อใดมื้อหนึ่งทั้งนั้น กระทั่งลูกค้าฐานะดีในโรงแรมโอเรียนเต็ล ที่กรุงเทพฯ พวกเขาก็สามารถสั่งเมนูแมลงหรูๆ อย่างเมนู ‘ตัวอ่อนราชินีผึ้งผัดพริกไทยสด’ หรือจะบินข้ามทะเลไปยังแดนอาทิตย์อุทัย พวกเขาก็มีเมนู ‘ไข่เจียวตัวอ่อนราชินีผึ้ง ให้ลิ้มลอง

แมลง อาหารแห่งอนาคต

​​แม้คุณจะไม่ใช่หนึ่งในกลุ่มคนนิยมกินแมลง แต่เชื่อได้เลยว่า คุณจะมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับผลิตภัณฑ์อาหารที่มาจากแมลงมากขึ้น เพราะถึงมันจะไม่ได้มาในรูปแบบแมลงทอดกรอบๆ หอมซอสถั่วเหลือง แต่มันก็อาจมาในรูปแบบอื่นๆ เช่น โปรตีนบาร์ ซึ่งปัจจุบันก็มีให้ซื้อกินกันแล้ว

และเนื่องด้วยตอนนี้ เรากำลังประสบปัญหากับภาวะโลกร้อน แมลงได้รับการสนับสนุนให้เป็นโปรตีนทางเลือกซึ่งอุดมด้วยโภชนาการ ลดการก่อก๊าซเรือนกระจกและมลพิษ

‘แมลง’ เป็นอาหารที่มีรากเหง้ามาจากอดีต และตอนนี้ มันคือ ‘อาหารแห่งอนาคต’

อ้างอิง:

  • Thai PBS. เม็กซิโกอนุญาตนำเข้า “ผลิตภัณฑ์จิ้งหรีด” จากฟาร์มไทย. https://bit.ly/3uwlsQv
  • BBC. ส่องวัฒนธรรมอาหารจากแมลงทั่วโลก. https://bbc.in/3qZeKAI
  • Ted. Emma Bryce: เราควรกินแมลงหรือไม่?. https://bit.ly/2ZPkJMg