เรื่องนี้ไปไกลกว่า ‘ชุดนักเรียน’ ฟังเสียงหลากหลายของ ‘ครู’ ต่อกรณี ‘หยก’
[อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ]
เรื่องของ ‘หยก’ นักเรียนวัย 15 ปีที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาความมั่นคง แถมโรงเรียนยัง ‘ไม่ให้สถานะนักเรียน’ เพราะมอบตัวไม่เรียบร้อย (แม้จะจ่ายค่าเทอมและเข้าเรียนไปหลายคาบแล้ว) แต่เรื่องนี้ยังไม่จบง่ายๆ เพราะกระทรวง พม. เพิ่งรับหน้าที่เป็นตัวกลางพูดคุยระหว่างหยก รร. และผู้อุปการะ แต่เรื่องนี้ทำให้เกิดความเห็นที่น่าสนใจหลายประเด็นจากคนที่ทำหน้าที่ ‘ครู’ และผู้เกี่ยวข้องกับ ‘การศึกษาไทย’ ซึ่งบางคนมองว่าประเด็นที่หยกเรียกร้องนั้นไปไกลกว่าเรื่อง ‘ชุดนักเรียน’
เชื่อว่าคนในสังคมไทยมีความเห็นเป็นของตัวเองต่อกรณี ‘หยก ธนลภย์’ ที่ยืนยันจะเรียนต่อในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ หรือ ‘เตรียมพัฒน์’ ซึ่งในขณะเดียวกันก็ยืนยันการต่อสู้เรียกร้องให้โรงเรียนปรับแก้กฎที่เธอตั้งคำถามว่า ‘ไม่เป็นธรรม’ โดยเรื่องนี้ แม้แต่คนที่เกี่ยวข้องกับ ‘ระบบการศึกษา’ ในไทย ก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างไปคนละทางเช่นกัน
(1) ความคิดเห็นแรกที่พูดถึงหยกอย่างตรงไปตรงมา และบอกว่าการเคลื่อนไหวของหยก ‘ส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิต’ ของคนอื่นๆ ในโรงเรียน คือเนื้อหาในแถลงการณ์ของโรงเรียนเตรียมพัฒน์ ที่ลงนามรับรองโดย จินตนา ศรีสารคาม ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2566
“นางสาวธนลภย์ ผลัญชัย ไม่มีสภาพการเป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เนื่องจากการมอบตัวไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในการมอบตัวตามประกาศการรับนักเรียนปีการศึกษา 2566…
“สิทธิในการศึกษาต่อของ นางสาวธนลภย์ ผลัญชัย ยังมีหน่วยงานทางการศึกษาอื่นที่สามารถดูแลการเรียนต่อให้เหมาะสมตามความต้องการได้
“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิตของนักเรียน ครู บุคลากร และผู้ปกครอง รวมทั้งอาคารสถานที่และทรัพย์สินอื่นๆ ของโรงเรียน จึงจำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด”
สิ่งที่ตามมาจากแถลงการณ์นี้คือการที่โรงเรียนปิดกั้นไม่ให้หยกเข้าไปในโรงเรียน จนต้องปีนรั้วและปีนหน้าต่างอยู่ 2-3 วัน ทั้งยังมีการขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงเข้ามาตรึงกำลังรักษาการณ์ในโรงเรียน แสดงให้เห็นว่าเด็กนักเรียนวัย 15 ปี และการติดตามรายงานข่าวแบบเกาะติดของสื่อมวลชนหลายสำนัก น่าจะเป็นภัยที่น่ากลัวต่อทางโรงเรียนอย่างมากจริงๆ
(2) จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้ามาดูแลเรื่องนี้ด้วยตัวเอง โดยเข้าร่วมการประชุมปรึกษาหารือแนวทางการแก้ปัญหาระหว่างโรงเรียน ‘เตรียมพัฒน์’ และ ‘หยก’ จัดขึ้นที่อาคารสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวง พม. เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 และสรุปกับสื่อในเวลาต่อมาว่า กระทรวง พม. จะเป็นสื่อกลางในการประสานความเข้าใจระหว่างอาจารย์และหยก พร้อมย้ำว่า “คณะอาจารย์ รักและห่วงใยหยกเหมือนลูก”
“พม. จะพยายามทำทุกวิถีทางให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว เพราะฉะนั้นในขั้นตอนถัดไป ต้องมีการคุยกับหยกและผู้ปกครองร่วมด้วย เพื่อรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน
“ขออนุญาตไม่ตอบเรื่องสถานะของหยก แต่อย่างไรก็ตามในการหารือครั้งนี้ ยึดประโยชน์ของหยกเป็นที่ตั้ง เนื่องจากหยกยังเป็นเยาวชน ทางด้านผู้ใหญ่ต้องมีความอดทน และพยายามเข้าใจ และจะพยายามคลี่คลายสถานการณ์โดยคำนึงถึงประโยชน์ของทุกฝ่ายให้อยู่ในจุดที่หยกและสังคมต่างยอมรับได้
“คุณครูห่วงใยเด็กมาก รักเหมือนลูกของตัวเอง และเราเชื่อว่าหากมีความรักความเข้าใจ สถานการณ์ก็จะคลี่คลาย เราจึงได้อาสาเป็นสื่อกลางเพื่อรับฟังทุกฝ่าย ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะไม่พิพากษา และจะหาทางออกให้ดีที่สุด”
(3) แม้ว่าประเด็นชุดไปรเวท-ชุดนักเรียน จะเป็นเรื่องหนึ่งที่คนถกเถียงกันเกี่ยวกับหยก และมีหลายคนที่บอกให้หยกไปเรียนโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สาธิต มธ.) ซึ่งเป็นไม่กี่โรงเรียนในไทยที่ไม่มีกฎบังคับให้เด็กนักเรียนแต่งเครื่องแบบ แต่ อธิษฐาน์ คงทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต มธ. ได้โพสต์ความเห็นของตนผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยมองว่าหยกไม่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเองเพียงอย่างเดียว และไม่คิดว่าหยกจะอยากย้ายโรงเรียนด้วย
“เราคิดว่าประเด็นของน้องหยก เขาไม่ได้อยากย้ายโรงเรียนนะ การย้ายโรงเรียนไม่ว่าจะไปที่ไหนๆ ไม่ได้จบปัญหานี้ เพราะกฎเดิมในระบบกระแสหลักไม่เปลี่ยนแปลง (จะยังคงมีนักเรียนอีกหลายคนที่ถูกทำโทษเรื่องการแต่งกาย ถูกทำให้อับอายหรือกดดัน) และประเด็นจริงๆ มันไม่ใช่เรื่องการแต่งกายหรือทรงผมด้วย (อย่าหลงประเด็นกันนะพวกเรา)
“เราคิดว่าน้องเขากำลังใช้การฝ่าฝืนกฎการแต่งกายเป็นเครื่องมือการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ ในทางสันติวิธีเรียกว่า ‘อารยะขัดขืน’ คือต่อสู้แบบดื้อแพ่งเพื่อต่อต้านกฎหมายหรือกติกาที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้สังคมและผู้มีอำนาจหันมาฟัง หันมารับรู้และถกเถียงกันถึงความผิดปกติที่ซ่อนอยู่ภายใต้กติกากฎระเบียบที่คนส่วนใหญ่คิดว่ามันปกติ และเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อร่วมกันสร้างกติกาใหม่ที่เป็นธรรมยิ่งกว่าเดิม (มีคนบอกว่าหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้หยกตัดสินใจออกมาเรียกร้อง คือข่าวที่น้องนักเรียนคนหนึ่งฆ่าตัวตายเพราะถูกบังคับให้ตัดผม)
“แทนที่จะชี้นิ้วโทษเด็กอายุ 15 แล้วไล่เขาไปโรงเรียนอื่น หรือมาสั่งมากดดันให้โรงเรียนอื่นรับน้องเข้ามา (เรายังงงๆ ว่าคนพวกนี้เขามีอำนาจอะไรที่มาสั่งให้โรงเรียนอื่นรับหรือไม่รับใคร ไหนบอกตัวเองเคารพกฎกติกาโรงเรียน??) ทำไมเราไม่เอะใจกับปัญหา แล้วหันมามองว่ามันมีความเป็นไปได้อื่นๆ อะไรได้อีกบ้าง ที่จะช่วยให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาที่ดี มีส่วนร่วมในการทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนได้จริงๆ”
(4) อีกคนหนึ่งที่แสดงความเห็นในเรื่องนี้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 คือ โกสุม รุ่งลักษมีศรี อาจารย์โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ซึ่งบอกเล่าผ่านโพสต์ที่เปิดสาธารณะทางเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับโครงการของทางโรงเรียนที่ให้นักเรียนแต่งชุดไปรเวทมาโรงเรียนได้ทุกวันอังคาร โดยย้ำว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการเมืองและขอความกรุณา ‘ไม่ดราม่าใดๆ’ โดยข้อความบางส่วนระบุว่า
“ทุกๆ วันอังคาร เด็กๆ ที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ สามารถใส่ขุดไปรเวทมาเรียนหนังสือได้ ข้อปฏิบัตินี้มีมาประมาณสัก 3-4 ปีได้แล้ว ตอนที่โรงเรียนจะเริ่มทำ มีความกังวลและคำท้วงติงจากผู้เกี่ยวข้องมาจากหลายภาคส่วน
“นับจากวันอังคารแรกที่นักเรียนเริ่มแต่งชุดไปรเวทมาโรงเรียนจนถึงวันนี้ เราพบว่าเราได้ประโยชน์จากข้อปฏิบัตินี้หลายอย่าง ขออนุญาตยกตัวอย่างประโยชน์ที่เราเห็นชัดเจนอย่างหนึ่งคือ เราได้เห็นและได้รู้จักเด็กแต่ละคนมากขึ้น ได้เห็นความเป็นปัจเจกของพวกเค้าผ่านรสนิยมการแต่งกาย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ สำหรับคนที่เป็นครู จะรู้ดีว่าเป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยพวกเราในการพัฒนาเด็กให้ได้เต็มตามศักยภาพของแต่ละคน
“มีหลายคนถามว่ากรุงเทพคริสเตียนจะทำอย่างไรหากเกิดกรณีแบบน้องนักเรียนปีนเข้าโรงเรียนที่เป็นกระแสอยู่ตอนนี้ เราถามตนเองและคุยกับเพื่อนครูที่โรงเรียนหลายท่าน ได้คำตอบไปในทางเดียวกันว่าสำหรับโรงเรียนเราแล้วเรื่องแบบนี้ไม่ใช่ปัญหา และเกือบไม่น่าจะมีโอกาสลุกลามเป็นเรื่องใหญ่โตเลย ลูกศิษย์ของเราจะเดินเข้ามาในโรงเรียนได้อย่างสง่าผ่าเผย เราจะรับฟังความคิดความต้องการของเค้า จะพยายามหาข้อมูลว่าเค้าอยากสื่ออะไรถึงพวกเรา พยายามหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน เพื่อให้ทั้งเค้าและเรา ‘ทั้งนักเรียนและครู’ อยู่ในโรงเรียนร่วมกันได้อย่างมีความสุข”
อ้างอิง
- Facebook. Kosum Runglaksameesee. https://tinyurl.com/3db6wsmy
- Facebook. งานประชาสัมพันธ์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ. https://tinyurl.com/2hffwpra
- Matichon. รมว.พม.เผยยึดประโยชน์ ‘หยก’ เป็นหลัก เตรียมหารือผู้ปกครองนัดหน้า ขอบคุณครูที่อดทน. https://tinyurl.com/yc5v783e
- Siamrath. อารยะขัดขืน! “ผอ.สาธิตธรรมศาสตร์” เชื่อ “น้องหยก” ต่อสู้กติกาที่ไม่เป็นธรรม หวังให้มีการเปลี่ยนแปลง. https://tinyurl.com/yc7ehdnn