เพราะความจนอาจไม่งดงาม! ทวงคืนศักดิ์ศรีภาพ Potato Eaters ของแวนโก๊ะ จากที่เคยถูกวิจารณ์เละ สู่ภาพสุดดีที่สะท้อนแก่นความจริง
ถ้าพูดถึงศิลปินผู้โด่งดังหลังตายจาก แต่ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องเจอชะตากรรมสุดรันทด ชื่อของ Vincent Van Gogh ที่คนไทยคุ้นชินในชื่อ ‘แวนโก๊ะ’ คงจะแวบขึ้นมาในความนึกคิดของใครหลายคน
ถ้าจะเรียกเขาว่า ‘ผู้มาก่อนกาล’ ก็คงไม่ผิดความจริงนัก เพราะเทคนิคการวาดด้วยฝีแปรงหนักแน่นและสีสดใสที่คนในแวดวงศิลปะยุคหลังชื่นชมและให้คุณค่า ไม่ได้ถูกยอมรับกันอย่างแพร่หลายนักในยุคที่แวนโก๊ะยังมีไฟในการทำงาน
ในช่วงชีวิตที่แสนสั้น เขาทำงานศิลปะ และเข้ารับการรักษาอาการทางจิต ก่อนจะยิงตัวเอง และเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 37 ปี โดยไม่มีโอกาสรับรู้ว่าผลงานของตัวเองมีอิทธิพลกับวงการศิลปะทั่วโลกอย่างไร
ผลงานมาสเตอร์พีซอย่าง The Potato Eaters ที่แวนโก๊ะสร้างสรรค์ออกมาเป็นชิ้นแรกๆ ก็มีชะตากรรมอาภัพไม่แพ้กัน เพราะภาพดังๆ ในยุคหลังอย่าง Sunflowers หรือ Starry Nights เคยถูกนำไปจัดแสดงในแกลลอรีตอนที่แวนโก๊ะยังมีชีวิตอยู่
แต่ภาพคนกินมันฝรั่งอย่าง The Potato Eaters ไม่เคยได้รับโอกาสนั้นเลย แถมยังถูกวิจารณ์แบบสับเละจากเพื่อนฝูง, นักวิจารณ์ศิลปะ และคนในครอบครัว

The Potato Eaters | wikipedia.org
【ผิดพลาดทางเทคนิค แต่ไม่พลาดเรื่องอารมณ์ความรู้สึก】
หากดูเนื้อหาในจดหมายที่แวนโก๊ะตอบโต้กับคนอื่นๆ ช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะพบว่า เขาคาดหวังให้ภาพ The Potato Eaters เป็นการกรุยทางสู่วงการศิลปะยุโรปในยุคนั้น โดยเขาใช้เวลาตลอดฤดูหนาวปีหนึ่งในการพูดคุยและใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัว De Groot ซึ่งเป็นชาวนาในละแวกใกล้เคียงกับที่พักอาศัยของตัวเอง ก่อนที่ผลงานชิ้นนี้จะเสร็จสิ้นราวๆ เดือนเมษายน – พฤษภาคม 1885
เสียงวิจารณ์ที่มีต่อภาพ The Potato Eaters คือ การใช้สีสันทึมทึบและร่างกายที่ผิดสัดส่วนของคนในภาพ ถึงขั้นที่มีคนฟันธงว่านี่คือความผิดพลาดทางเทคนิคของศิลปิน โดยคนหนึ่งซึ่งมีความเห็นเชิงลบต่อผลงานชิ้นนี้มากที่สุด คือ Anthon van Rappard ศิลปินมีชื่อในยุคนั้น ซึ่งได้รับการยกย่องเรื่องการวาดภาพที่แม่นยำด้านสัดส่วนและความสมจริง
ข้อความตอนหนึ่งในจดหมายของ Van Rappard สอบถามแวนโก๊ะอย่างทิ่มแทงว่า “ผู้ชายในภาพไม่มีเข่า ไม่มีท้อง ไม่มีปอดหรือยังไง…หรือว่ามันไปอยู่ที่หลังทั้งหมด”
ส่วนแวนโก๊ะตอบกลับไปว่า สิ่งที่เขาพยายามเข้าถึงเพื่อวาดมันออกมาเป็นภาพให้ได้ ไม่ใช่แค่มือสักข้างหนึ่ง แต่เป็นกิริยาท่าทาง ทั้งยังไม่ใช่แค่การวาดศีรษะอย่างได้สัดส่วนถูกต้อง แต่เป็นการแสดงความรู้สึกทางสีหน้าทั้งหมด รวมถึงการสูดลมหายใจ การมองหาอะไรบางอย่าง หรือการพูดคุยของคนในครอบครัวชาวนาที่ปรากฏในภาพ
“ถ้าจะพูดให้สั้นๆ สิ่งที่ฉันวาดก็คือชีวิต”
นั่นคือบทสรุปที่ปรากฏในจดหมายของแวนโก๊ะที่พยายามปกป้องภาพ The Potato Eaters ของตัวเอง

The Potato Eaters | wikipedia.org
【ภาพความแร้นแค้นต้องไม่ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องงดงามเกินจริง】
พิพิธภัณฑ์ Van Gogh Museum ในกรุงอัมสเตอร์ดัมเปิดแสดงผลงานของแวนโก๊ะเมื่อ 8 ตุลาคม 2021 หลังจากที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาได้สักพักใหญ่ๆ และงานนี้จะจัดแสดงยาวๆ ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2022
ประเด็นหลักของนิทรรศการนี้คือการตอบคำถามว่าภาพนี้คือมาสเตอร์พีซหรือผลงานที่ผิดพลาดของแวนโก๊ะกันแน่ ทั้งยังนำภาพสเก็ตช์ที่เกี่ยวข้องกับ The Potato Eaters ทั้งหมด รวมถึงภาพฉบับแก้ไขที่แวนโก๊ะวาดเอาไว้ช่วงท้ายของชีวิตมาจัดแสดงเป็นครั้งแรก
ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการนี้มองว่า แวนโก๊ะไม่ต้องการให้ภาพชาวนาที่มีชีวิตแร้นแค้นดูงดงามเกินจริง เขาจึงจงใจใช้สีหม่นๆ ในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในครอบครัวนี้ เห็นได้จากข้อความในจดหมายที่เขาเคยตอบโต้กับหลายคนที่วิจารณ์เรื่องสีสันหม่นมัวที่ปรากฏในภาพ
นักวิจารณ์ศิลปะในยุคหลังก็เห็นด้วยกับแวนโก๊ะ เพราะหลายคนมองว่าสิ่งที่โดดเด่นในภาพนี้ คือ สีหน้า แววตา มือหยาบกร้าน และอารมณ์ที่สะท้อนผ่านแววตาของชาวนาผู้มอมแมมด้วยฝุ่นดิน นอกจากนี้ยังมีการค้นพบทีหลังด้วยว่าสีที่ใช้วาดภาพ The Potato Eaters จริงๆ แล้วก็เป็นโทนร้อนและออกแนวสดใส แต่เขาผสมสีต่างๆ เข้าด้วยกันจนกลายเป็นสีเอิร์ทโทนตามภาพ
The Potato Eaters จึงแตกต่างอย่างมากหากเปรียบเทียบกับผลงานยุคหลังของแวนโก๊ะตอนที่ย้ายไปฝรั่งเศสแล้ว เพราะงานมาสเตอร์พีซอื่นๆ ที่คนจำนวนมากจดจำได้มักเป็นภาพที่มีสีสันเปี่ยมพลัง
แต่ไม่ว่าใครจะวิจารณ์หนักหน่วงแค่ไหน แวนโก๊ะก็ยืนยันเสมอว่า “นี่คือหนึ่งในงานที่ดีที่สุด” ของเขา
อ้างอิง:
- 6 things you need to know about Van Gogh’s Potato Eaters. https://bit.ly/3DHwJkT
- Exhibition ‘The Potato Eaters. Mistake or Masterpiece? ’. https://bit.ly/3j0yj9t
- The Untold Story of van Gogh’s Once-Maligned Masterpiece, ‘The Potato Eaters’. https://bit.ly/3aBBDnb
- จินตนา ดำรงค์เลิศ. ผลงานที่อ็องเดร มาลโร เขียนเกี่ยวกับศิลปะที่สำคัญ. วารสารราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 17, ฉบับที่ 2 เม.ย.-มิ.ย.2555. https://bit.ly/3p52xvS