2 Min

หน้าต่างชีวิตคุณเป็นแบบไหน? หน้าต่างโจฮารี (The Johari Window Model) ส่องตัวตนของเราผ่านหน้าต่าง 4 บานของโจฮารี

2 Min
30572 Views
12 May 2021

“เราต้อง ‘เพิ่มขนาดบานที่ 1’ เพื่อลดขนาดบานอื่นให้เล็กลง”

จะดีกว่าไหมถ้าเรารู้จักตัวได้มากขึ้น

‘หน้าต่างโจฮารี’ เป็นทฤษฎีที่ค้นพบโดย Joseph Luft และ Harry Ingham ในปี ค.ศ. 1955 หลังจากนั้น Joseph Luft ได้นำมาพัฒนาต่อและตั้งชื่อว่า ‘Johari’ มาจากการรวมชื่อของทั้งคู่นั่นเอง ทฤษฎีนี้ถูกคิดค้นขึ้นมาเพราะเห็นความสำคัญของการรู้จักตัวเองหากต้องทำงานเป็นกลุ่ม ทำไมการทำงานเป็นกลุ่มเราถึงต้องรู้จักตัวเอง? เพราะจะทำให้เราพัฒนาศักยภาพของเราให้ดีขึ้นเรื่อยๆ และทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีนั่นเอง

โดยทฤษฎีนี้จะแบ่งหน้าต่างเป็นสี่บาน มีทั้งด้านที่เรารู้จักตัวเอง และด้านที่คนอื่นรู้จักเรา แล้วแต่ละบานเป็นอย่างไรบ้าง มาดูกันเลยดีกว่า

1 – หน้าต่างบานแรก (ด้านซ้ายบน) บานนี้คือ ‘เรารู้เขาก็รู้’ เป็นด้านที่เรารู้ว่าตัวเองเป็นและคนอื่นก็มองเห็นเหมือนกัน

2 – หน้าต่างบานที่สอง (ด้านขวาบน) บานนี้คือ ‘จุดบอด’ เป็นจุดที่คนอื่นรู้ว่าเราเป็นแต่เราไม่รู้ตัวเอง เช่น เราอาจจะชอบกรอกตาเวลาพูดแต่เราไม่รู้ตัว

3 – หน้าต่างบานที่สาม (ด้านซ้ายล่าง) บานนี้คือ ‘เรารู้เขาไม่รู้’ เป็นเหมือนข้อบกพร่องที่เรารู้และเก็บไว้เพียงคนเดียวไม่ให้คนอื่นรู้ เช่น เราเป็นคนอ่อนไหวมาก แต่ไม่เคยแสดงให้คนอื่นเห็นเลย เก็บความรู้สึกอ่อนแอไว้เพียงคนเดียว

4 – หน้าต่างบานที่ที่ (ด้านขวาล่าง) บานนี้คือ ‘เราไม่รู้เขาไม่รู้’ เป็นจุดที่ไม่มีใครรู้เลยว่าเราเป็น อย่างเช่น เราอาจจะมีพรสวรรค์ด้านการร้องเพลงแต่เราไม่เคยรู้เลย และคนรอบข้างก็ไม่ทราบด้วยเช่นกัน

หลังจากที่เราทำความเรียนรู้กับหน้าต่างทั้งสี่บานแล้ว ให้เราลองจดบันทึกไว้ว่าหน้าต่างแต่ละบานของเรามีอะไรบ้าง หลังจากจดบันทึกแล้ว เราควรจัดการกับหน้าต่างแต่ละบานอย่างไรต่อนะ?

“เราต้อง ‘เพิ่มขนาดบานที่ 1’ เพื่อลดขนาดบานอื่นให้เล็กลง”

โดยหน้าต่างบานที่ 2 นั้นลดได้โดยการยอมรับคำติชมที่คนอื่นบอกเรา เพราะสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เราไม่ได้รับรู้แต่คนอื่นมองเห็น ถ้าเรายอมรับคำพูดเหล่านั้นจะช่วยขยายไปที่หน้าต่างบานที่ 1 เพราะเราได้รับรู้มันแล้วนั่นเอง

จากนั้นลดขนาดหน้าต่างบานที่ 3 ผ่านการกล้าที่จะเปิดเผยตัวเอง ยอมรับข้อเสียที่เกิดขึ้นกับตัวเองและบอกให้ผู้อื่นรับรู้ เพียงเท่านี้หน้าต่างบานที่ 4 ก็จะลดลงไปเองโดยปริยายเพราะเราไม่กลัวที่จะรับความคิดเห็นของผู้อื่นและกล้าที่จะยอมรับตัวเอง

หลังจากที่เรารับรู้ตัวตนของตัวเองผ่านทางหน้าต่างของโจฮารีแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองให้ดีขึ้นได้ การได้รู้จักตัวเองมากขึ้นส่งผลดีมากมายต่อทั้งตัวเราและคนรอบข้าง ช่วยให้ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นกับคนรอบตัวดีขึ้น เรามองเห็นคนอื่นในมุมมองที่กว้างขึ้น นอกจากนี้การรู้จักตัวเองยังช่วยให้เรา ‘รักตัวเอง’ มากขึ้นอีกนะ

สำหรับใครที่ยังรู้สึกว่าไม่รู้จักตัวเองเลย ลองนำหน้าต่าง 4 บานไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันดู แล้วมาแชร์กันว่าเป็นอย่างไรบ้าง

อ้างอิง

  • The Johari Window Model https://bit.ly/32XgBeM
  • หน้าต่าง 4 บานของโจฮารี่ (Johari’s window) นำเสนอตัวตนสี่รูปแบบ https://bit.ly/3gL90br