‘กางเกงใน’ ย้อนรอยประวัติศาสตร์การห่อหุ้มเครื่องเพศ

2 Min
2689 Views
18 Oct 2020

เคยมีใครสงสัยไหมว่า ภายใต้เสื้อผ้าสวยๆ กับชั้นในที่เราสวมใส่อยู่ทุกวัน

เราใส่มันทำไม แล้วเริ่มใส่ตั้งแต่เมื่อไร?

อันที่จริงมนุษย์เราเริ่มมีการใส่ที่ที่คล้ายๆ กับกางเกงในตั้งแต่ 5,000 ปีก่อนคริสตกาล มันคือการใช้ผ้าพันรอบๆ เอวและลอดหว่างขา (อารมณ์คล้ายๆ โจงกระเบนแบบสั้น) เรียกว่า ‘Loincloths’ เริ่มใช้ในสมัยอียิปต์เรื่อยมาถึงจักรวรรดิกรีกและโรมัน

ในยุคกลางของยุโรป (ปีค.ศ. 500-1500) ชั้นในเป็นสิ่งที่ใส่กันทั้งผู้หญิงและผู้ชายเรียกว่า ‘Braies’ แตกต่างกับกางเกงในปัจจุบัน

สมัยนั้นชั้นในมีความยาวประมาณเข่า เนื้อบาง และมีช่องว่างตรงหว่างขา เชื่อว่ามีการเพิ่มชิ้นส่วนและความหนาในช่วงหลังเพื่อป้องกันการกระแทกระหว่างขี่ม้า แต่ผู้หญิงส่วนใหญ่ยังไม่ได้ใส่ชั้นในที่มีลักษณะแบบกางเกง แต่จะใส่กระโปรงซับในที่เรียกว่า ‘Shift’ จนกระทั่งในศตวรรษที่ 16 ก็เริ่มมีการใส่คอเซ็ทที่ทำจากกระดูกวาฬ

พอเข้าศตวรรษที่ 19 เป็นการเปิดศักราชของชั้นในสมัยใหม่ ทั้งผู้ชายและผู้หญิงใส่ชั้นในแบบกางเกงกันเป็นเรื่องปกติ แต่จะมีการเว้นช่วงกลางไว้เพื่อให้ขับถ่ายได้สะดวก ในช่วงแรกๆ เหมือนกับกางเกงซับในที่ยาวกว่าเข่า และค่อยๆ หดสั้นลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีชุดชั้นแบบที่เป็น “ทั้งตัว” (Union Suit) คล้ายกับชุดของเด็กทารกในปัจจุบันก็เป็นที่นิยมอยู่พักหนึ่ง

ในช่วงยุคสมัยวิคตอเรีย ผู้หญิงจะสวมกางเกงขายาวซึ่งถูกคิดค้นโดย Elizabeth Miller จนกลายเป็นกางเกงชั้นในแบบยาว (มีปิดระหว่างขา) ซึ่งในปี 1849 ได้รับการสนับสนุนให้เป็นที่นิยมโดย Amelia Bloomer และเรียกกางเกงชั้นในแบบยาวนั้นว่า ‘Bloomer’

ศตวรรษต่อมาได้มีการประดิษฐ์ชุดชั้นใน ‘Kenosha Klosed-Krotch’ หรือที่หลายคนเรียกว่า “ลองจอน” และค่อยๆ พัฒนาต่อมาเป็นชุดชั้นในสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ เรียกว่า ‘Lingerie’ (ลิงเฌอรี) หรือเชื่อว่าเป็นที่มาของ “กางเกงลิง” นั่นเอง

สำหรับประเทศไทยก็รับเอาวัฒนธรรมการสวมกางเกงชั้นในมาจากตะวันตกในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ก่อนหน้านั้นประเทศไทยก็มีสิ่งที่เรียกว่า “ตะปิ้ง” ให้เด็กๆ เอาไว้สวมกันสิ่งสกปรก เป็นแถบรัดเอวและยาวลงมาปิดส่วนหน้าเท่านั้น เมื่อโตแล้วก็เลิกใส่

จุดประสงค์การใส่กางเกงชั้นในแต่ดั่งแต่เดิมนั้นมีไว้เพื่อสร้างความอบอุ่น ประคับประคองอวัยวะส่วนตัว และป้องกันการกระแทก รวมถึงสิ่งสกปรก แต่การสวมใส่กางเกงชั้นในก็ไม่ใช่เรื่อง “จำเป็น” อะไรขนาดนั้นในเชิงสุขภาพ

แล้วถ้าหากไม่ใส่กางเกงในจะมีปัญหาอะไรไหม?

อันที่จริงแล้วการไม่ใส่กางเกงในก็มีข้อดีเช่นกัน มันช่วยลดปัญหาเรื่องการเสียดสี ความอับชื้น และแบคทีเรียที่อาจเกิดขึ้นได้ หลายคนน่าจะเคยได้ยินมาตลอดว่า ถ้าหากผู้ชายไม่สวมกางเกงในจะเป็นไส้เลื่อน เรื่องนี้ทางการแพทย์ได้ออกมาระบุแล้วว่าการใส่กางเกงใน ไม่ได้มีความเชื่อมโยงอะไรกับอาการไส้เลื่อน และผู้หญิงก็สามารถเป็นไส้เลื่อนได้เช่นกัน

แถมในผู้ชายการใส่กางเกงในยังส่งผลต่อสเปิร์มด้วย สาเหตุเดียวกันที่มนุษย์ต้องมีถุงเก็บสเปิร์ม (อัณฑะ) อยู่นอกร่างกายเป็นเพราะร่างกายเราอบอุ่นเกินไปเล็กน้อย และสเปิร์มชอบอุณหภูมิราว 34.4 องศาเซลเซียส ดังนั้นการใส่กางเกงในที่ช่วยเพิ่มความอบอุ่น ก็เพิ่มอุณหภูมิบริเวณนั้นสูงอาจเป็นเหตุให้สเปิร์มตายได้ แต่ในขณะเดียวกัน การไม่ใส่ชั้นในกับกางเกงสมัยใหม่ที่มีเนื้อแข็งก็อาจทำให้เจ็บได้เหมือนกัน

อ้างอิง: