ประวัติศาสตร์ย่อของการ “แคมปิ้ง” จากการตั้งแคมป์เพื่อไปรบของทหารสู่การพักผ่อนของชนชั้นกลาง
ตั้งแต่เกิดโควิด-19 เป็นต้นมา การพักผ่อนอย่างหนึ่งที่ชนชั้นกลางไทยหันมานิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือการ “ไปตั้งแคมป์”
เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะช่วงนี้คนที่เคยไปเที่ยวต่างประเทศประจำก็ไปไหนไม่ได้ ดังนั้นเลยต้องเที่ยวในประเทศแทน
แต่ครั้นจะเที่ยวในประเทศที่ฮิตๆ คนก็ไปกันอย่างแออัด และหลายคนก็คงจะกลัวติดโรค ก็เลยพยายามจะหาการพักผ่อนหย่อนใจใหม่ในพื้นที่ไม่แออัด มีอากาศถ่ายเท ไม่จำเจ
และหวยก็มาออกกับ “การตั้งแคมป์”
คนอเมริกันบ้าแคมปิ้ง
สิ่งที่คนบ้านเราทำก็เป็นการเดินตามรอยการตั้งแคมป์ของคนในประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมาก เรียกได้ว่าเขาตั้งแคมป์กันมานานนมแล้ว บ้านเราเพิ่งมาทำ
ตรงนี้บางคนอาจสงสัยว่า แล้วมนุษย์นั้นเริ่ม “ตั้งแคมป์” หรือให้ตรงกว่านั้นคือมนุษย์เริ่ม “ไปแคมปิ้ง” ในฐานะการพักผ่อนหย่อนใจได้อย่างไร?
นี่น่าจะเป็นคำถามใหญ่ และจะพูดรวมๆ ก็คงจะยาก เพราะพลวัตในแต่ละประเทศก็ต่างกัน
แต่ในที่นี้ LOCALRY อยากจะเล่าประวัติ “การแคมปิ้ง” ในอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่เรียกได้ว่า “บ้าแคมปิ้ง” เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ระดับที่มันกลายเป็น “งานอดิเรกประจำชาติ”
และถ้าถามว่าบ้าแค่ไหน ประชากรอเมริกันราวๆ 1 ใน 6 ตั้งต้องออกไปตั้งแคมป์อย่างน้อยปีละครั้ง ซึ่งการเข้าใจความเป็นมาของแคมปิ้งในอเมริกาก็จะทำให้เราเข้าใจแพตเทิร์นไล่เลี่ยกันที่เกิดในประเทศอื่นๆ
รากของการตั้งแคมป์
จริงๆ คำว่า Camp มีรากมาจากศัพท์ทางการทหารคำว่า Campaign ซึ่งในภาษาทางการทหารหมายถึงแผนระยะยาวขนาดใหญ่ในการรบ และคำนี้มาจากชื่อทุ่ง ‘Campania’ ซึ่งเป็นสนามรบของโรมันโบราณ
ในอารยธรรมโบราณ การออกไปรบแทบจะเป็นเหตุผลเดียวที่มนุษย์จะไป “ตั้งแคมป์” หรือไปนอนกลางดินกินกลางทราย เพราะอยู่ดีๆ คงไม่มีใครไปกางเต็นท์กัน
ซึ่งถ้าจะพูดให้เคร่งครัดกว่านั้น นอกจากการรบแล้ว เหตุผลที่คนจะไปกางเต็นท์นอนนอกบ้าน ส่วนหนึ่งก็มาจากการเดินทางในระยะไกล ไม่ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการขนสินค้าไปขาย การแสวงบุญ ไปจนถึงการออกล่าสัตว์ และกิจกรรมพวกนี้ไม่ได้สนุก ลำบากไม่พอ เสี่ยงชีวิตด้วย
ถ้าเราไปถามคนเมื่อพันปีก่อน เขาก็คงจะไม่เข้าใจว่าทำไมคนยุคหลังถึงต้องไปกางเต็นท์นอนในป่า ทำให้ชีวิตตัวเองลำบากด้วย
ดังนั้นในแง่นี้ “แคมปิ้ง” จึงเป็นปรากฏการณ์ที่ใหม่มาก เรียกได้ว่าเกิดมาไม่ถึง 200 ปี
จุดเริ่มการตั้งแคมป์เพื่อพักผ่อน
ถ้าจะพูดในเชิงแนวคิด การที่คนอยากไป “แคมปิ้ง” นั้นเกิดจากการเบื่อ “สังคมเมืองสมัยใหม่”
ถ้าใครพอรู้ประวัติศาสตร์ ก็คงจะรู้ว่า “สังคมเมือง” ที่ว่านี้คือปรากฏการณ์ในสังคมตะวันตกในศตวรรษที่ 19 ซึ่งมีความต่างจาก “เมือง” ในยุคโบราณ
เพราะ “เมือง” ยุคใหม่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่คนแห่แหนกันมาทำงานจนเกิดชุมชนแออัดเต็มไปหมด ถนนหนทางเต็มไปด้วยขยะและสิ่งปฏิกูล อากาศเต็มไปด้วยมลพิษ กลางคืนก็มืดมิด อาชญากรรมมีอยู่ทุกหนแห่ง
พูดอีกแบบก็คือเมืองในประเทศตะวันตกสมัยนั้นก็คือ “เมือง” ในแบบปัจจุบันนี่แหละ แค่เมืองยุคนั้น “ดาร์ก” กว่ามาก สกปรกกว่าเยอะ กลิ่นตลบอบอวล และคนที่อยู่ก็อยากจะหนีไปให้พ้นๆ
ในประเทศตะวันตกแต่ละประเทศ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นไม่พร้อมกัน ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละประเทศเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมเมื่อไร แต่ในภาพรวมเกิดขึ้นราวศตวรรษที่ 19
ในอเมริกา การขยายตัวของสังคมอุตสาหกรรมและเมืองใหญ่ๆ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดภายหลังสงครามกลางเมืองอเมริกา เมื่ออเมริกาสถาปนาทิศทางใหม่ของประเทศว่าจะเอาดีทางอุตสาหกรรมและไม่เน้นกสิกรรมอีกต่อไป
แน่นอน “คนรวยๆ” ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นคนรวยล้นฟ้า หรือชนชั้นกลางระดับสูงก็อยู่ในเมืองทั้งสิ้น และคนกลุ่มนี้ก็ต้องอยู่ร่วมสังคมอันสกปรกกับ “พวกบ้านนอกเข้ากรุง” ที่ทำให้เมืองแออัดและไม่น่าอยู่ขึ้นเรื่อยๆ
คนรวยทั้งหลายก็เลยมีความรู้สึก “โหยหาธรรมชาติ” และก็มีคนหัวใสออกไป “ตั้งแคมป์” ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า “เบื่อเมือง”
คนจะไปตั้งแคมป์ยุคนั้นก็เรียกได้ว่า “ไม่ธรรมดา” และไม่ใช่คนหาเช้ากินค่ำแน่ๆ เพราะยุคนั้นสิ่งที่เรียกว่า “ลาพักร้อน” ยังไม่เกิดขึ้นในโลก คนไปต้องรวยจริงๆ อีกทั้งสมัยนั้นยังไม่มีรถยนต์ และการขนสัมภาระขึ้นรถม้าหรือรถไฟเพื่อจะไปกางเต็นท์กลางป่านี่เป็นอะไรที่ต้องซีเรียสจริงๆ ถึงจะทำได้
ซึ่ง “คนรวย” กลุ่มแรกที่ไปตั้งแคมป์ก็เป็น “คนเมือง” โดยกำเนิด เรียกได้ว่าเบื่อเมืองก็จริง แต่จะดุ่มๆ ไปกลางป่าเพื่อ “ตั้งแคมป์” ก็ทำไม่เป็น ลองนึกภาพตามว่าคนในยุคนั้นไม่มี “ภาพของการตั้งแคมป์” ที่เห็นตามซีรีส์หรือทีวีแบบยุคเรา เพราะยุคนั้นไม่ใช่แค่ไม่มีทีวี ไม่มีการถ่ายภาพพร่ำเพรื่อ แต่แทบไม่มีใครตั้งแคมป์ด้วยซ้ำ มันเป็นกิจกรรมของคนที่รวยจัดๆ ที่เบื่อชีวิตในเมืองเต็มทนจนอยากออกจากเมืองเข้าป่าเพื่อพักผ่อน
แต่ก็แน่นอน คนพวกนี้มีเงินก็จริง แต่อยู่ในเมืองมาทั้งชีวิต จะเข้าป่าไปตั้งแคมป์ก็ไปไม่เป็น
เวลานั้นชายที่มีนามว่า William Henry Harrison Murray ผู้นำทางศาสนาที่ชื่นชอบการตั้งแคมป์ ได้ไปบรรยายให้คนชั้นสูงในอเมริกันฟังว่า การตั้งแคมป์ทำยังไง คนสนใจมาก เขาเลยถอดบทบรรยายมาเป็นหนังสือชื่อ Adventures in the Wilderness; or, Camp-Life in the Adirondacks ที่ตีพิมพ์ในปี 1868
หนังสือเล่มนี้ก็ว่าด้วยการไปตั้งแคมป์ในเทือกเขาอดิรอนแดคส์ใกล้ๆ กับนิวยอร์ก แต่เขียนแบบ “ฮาวทู” ให้คนที่ไม่เคยไปตั้งแคมป์เข้าใจว่าต้องทำอะไรยังไง
หนังสือเล่มนี้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เรียกได้ว่าสร้างรายได้ให้กับ Murray ระดับที่คนอเมริกันในยุคนั้นทำงานเกิน 100 ปีเลยทีเดียว เพราะยุคนั้นรายได้ต่อหัวต่อปีของคนอเมริกันนั้นไม่ถึง 200 เหรียญ แต่ Murray มีรายได้จากหนังสือเล่มนี้ในปีแรกปีเดียวถึง 25,000 เหรียญ เรียกได้ว่าเป็นเศรษฐีไปเลย

William Henry Harrison Murray | Wikipedia
และก็ไม่ได้แค่ขายดีเท่านั้น แต่หนังสือเล่านี้ได้ “ปฏิวัติ” งานอดิเรกของคนรวยอเมริกัน เพราะหลังจากหนังสือตีพิมพ์ คนที่ไปตั้งแคมป์ที่เคยมีแค่หลักร้อย ก็เพิ่มเป็นหลักหลายพันคนหรือมากกว่าเดิมเกิน 10 เท่าตัว และเวลาต่อมา หนังสือเล่มนี้ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “งานอดิเรกประจำชาติ” ของคนอเมริกัน
แม้ว่าทุกวันนี้ คนจะไม่ค่อยอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว แต่มรดกสำคัญที่หนังสือเล่มนี้ทิ้งไว้คือการทำให้การก่อ “กองไฟ” (campfire) กลายมาเป็น “พิธีกรรม” ของการตั้งแคมป์ทั่วโลก เพราะไม่ว่าการตั้งแคมป์จะเปลี่ยนไปแค่ไหน ก็ยังต้องมีการทำกองไฟและมีกิจกรรมรอบกองไฟ
คงไม่ต้องพูดว่านี่เป็นสิ่งที่เกิดก่อน “ลูกเสือ” เกือบครึ่งศตวรรษ (เพราะลูกเสือเกิดอย่างเป็นทางการที่อังกฤษในต้นศตวรรษที่ 20)
รถยนต์กับการปฏิวัติการตั้งแคมป์
ถึงการตั้งแคมป์แบบพักผ่อนหย่อนใจจะมีมาตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 แต่ในความเป็นจริงนี่เป็นเรื่องของ “คนรวย” เท่านั้น เพราะระดับชนชั้นกลางไม่สามารถเดินทางไปไกลๆ เพื่อพักผ่อนได้
อย่างไรก็ดี จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้การแคมปิ้งเป็นเรื่องของมวลชนก็คือ “รถยนต์”
สำหรับอเมริกัน “รถยนต์” เป็นอะไรที่ “อเมริกัน” มากๆ เพราะเป็นทั้งสินค้าส่งออกหลักของประเทศมาช้านาน แต่ที่สำคัญกว่านั้น มันคือส่วนสำคัญของอัตลักษณ์ของคนอเมริกัน เป็นส่วนหนึ่งของ “อเมริกันดรีม” เป็นสิ่งที่ทุกบ้านต้องมี และนี่ก็สะท้อนมาในสังคมอเมริกันที่ถูกสร้างมาให้ยังไงคุณก็ต้อง “ขับรถ” เพื่อจะมีชีวิตปกติ เพราะโครงสร้างเมืองมันออกแบบมาให้คนต้องขับรถเพื่อที่จะมีชีวิต และทำให้คนไม่ขับรถ ไปไหนไม่ได้
จุดเริ่มต้นของรถยนต์ในอเมริกาก็คงจะหนีไม่พ้นการเกิดขึ้นของบริษัท Ford และการสร้างรถยนต์จำนวนมากในราคาย่อมเยา และพอมาบรรจบกับช่วงที่เศรษฐกิจอเมริกันบูมสุดๆ ในช่วง 1920’s จนคนอเมริกันมีเงินซื้อรถยนต์มากมาย ส่งผลให้อเมริกาเป็นประเทศแรกในโลกที่คนขับรถยนต์กันแพร่หลาย
แน่นอน หลายอย่างในสังคมเกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนอง “สังคมขับรถ” โดยเฉพาะ แต่ในที่นี้ เราอยากเน้นว่าการมาถึงของรถยนต์ทำให้การไปแคมปิ้งเปลี่ยนไป
หลังจากชนชั้นกลางมีรถยนต์ ต้นทุนในการเดินทางไกลที่เคยแพงระยับก็ถูกลง และนั่นก็ทำให้ “การใช้เวลาว่าง” ของชนชั้นกลางอเมริกาเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เพราะมันช่วยให้การตั้งแคมป์กลายเป็นกิจกรรมยามว่างอย่างหนึ่งของชนชั้นกลางที่มีรถยนต์ต้องทำ ซึ่งชนชั้นกลางทุกคนก็ควรจะมีรถยนต์และนั่นก็คือ การใช้เวลาว่างไปตั้งแคมป์ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนอเมริกันในอุดมคตินั่นเอง

การนั่งรถไปตั้งแคมป์ของคนชั้นกลางอเมริกันช่วง 1920’s | Mobile Home Living
สู่แคมปิ้งยุคปัจจุบัน
การตั้งแคมป์ของคนอเมริกันในยุค 1920’s ขยายตัวขึ้นมากและขยายไม่หยุด ตามการขยายตัวของการถือครองรถยนต์
เรียกได้ว่า “ขยาย” มากในระดับที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหาย เนื่องจากคนมักจะไปกระจุกตัวตั้งแคมป์ใกล้ๆ กัน เช่น ริมแม่น้ำทำให้พืชแถวนั้นตายเหี้ยน เรื่องนี้ทำให้พวกเจ้าหน้าที่อุทยานปวดหัวมาก จนเหล่าเจ้าหน้าที่ต้องไปปรึกษา Emilio Pepe Menecke ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ว่าจะทำยังไงดีไม่ให้ต้นไม้ตาย
สิ่งที่ Menecke เสนอทางแก้มา ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับต้นไม้เลย แต่เขาออกแบบแปลนของ “พื้นที่ตั้งแคมป์” มาเป็นครั้งแรก และทุกวันนี้ทั่วโลกก็ได้ใช้ไอเดียของเขา

พื้นที่ตั้งแคมป์ตามแปลนของ Emilio Pepe Menecke | IdeAs – Idées d’Amériques
จริงๆ ไอเดียมันไม่มีอะไรเลย คนสมัยก่อน เวลาตั้งแคมป์ก็ “เข้าป่า” ไปหา “พื้นที่สะดวกที่สุด” เพื่อที่จะตั้งแคมป์ คนจึงไปกระจุกตัวกันแถวริมน้ำ
ไอเดียของ Menecke คือ งั้นก็จัด “พื้นที่สะดวก” ให้คนสิ! จะได้คุมว่าคนอยู่ตรงไหน จัดสรรที่จอดรถให้เหมาะสม เอาหินไปวางเป็นฐานให้คนจุดไฟ เอาม้านั่งไปวางเผื่อคนเมื่อย ทำห้องอาบน้ำให้คนอาบน้ำและใช้น้ำประปาได้ และแน่นอนต้องมีลานโล่งๆ ไว้กางเต็นท์
แน่นอนที่ว่ามาทั้งหมดไม่มีอะไร “ธรรมชาติ” เลย และนักแคมปิ้งสายฮาร์ดคอร์ก็ไม่ชอบสิ่งนี้ อย่างไรก็ดี ไอเดียเรื่องพื้นที่ตั้งแคมป์แบบนี้กลับไปถูกใจเหล่าชนชั้นกลางที่ต้องการหลบหนีจากเมือง แต่ก็ไม่ต้องการจะลำบากจนเกินไป ตั้งแต่ยุค 1930’s เป็นต้นมา ไอเดียการแคมปิ้งของ Menecke ก็ฮิตสุดๆ เรียกได้ว่าพื้นที่ตั้งแคมป์ตามอุทยานในอเมริกาเป็นผลผลิตจากไอเดียของเขาทั้งนั้น
และก็คงไม่ต้องบอกว่าไอเดียแบบนี้ก็กระจายไปหลายต่อหลายประเทศ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า มันเวิร์ค การสร้างพื้นที่ความสะดวกแบบนี้ ผู้คนต่างยินดีมากระจุกตัวตั้งแคมป์ตามที่ทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้ต้องการ และทำให้การดูแลเหล่านักท่องเที่ยว รวมไปถึงการคุมความเสียหายต่อธรรมชาติสะดวกขึ้น
เรียกได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงช่วงหลังสงครามโลกที่คนอเมริกันรวยขึ้นแบบก้าวกระโดด มีรถกันทั้งบ้านทั้งเมือง ตั้งแคมป์กันเต็มไปหมด จนกระทั่งถึงวันนี้ คือผลผลิตของวัฒนธรรมการตั้งแคมป์ที่เกิดขึ้นในช่วง 1930’s ภายใต้แบบแปลนของ Menecke นั่นเอง
อ้างอิง:
Art of Manliness. Podcast #327: Heading Out — The History of Camping. http://bit.ly/3c0anzY
Matador Network. How camping became the quintessential American pastime. http://bit.ly/2OReohr
Terence Young. E.P. Meinecke and the Development of the Modern Auto Campground. http://bit.ly/3cLhRpY