3 Min

แคนาดาขาดคนล้างจาน ประกาศรับสมัครพนักงาน เงินเดือน 1 แสนบาท

3 Min
2415 Views
19 Nov 2021

Select Paragraph To Read

  • คำถามคือทำไม?
  • อันนี้ต้องเข้าใจเงื่อนไขเฉพาะของแคนาดา

โควิดสร้างความเปลี่ยนแปลงหลายต่อหลายอย่างในโลก และปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดชัดๆ ในตลาดแรงงานประเทศโลกที่ 1 ก็คือการที่หลังจากปลดล็อกดาวน์ คนทำ ‘งานบริการ’ ไม่ยอมกลับมาทำงานอีกแล้ว และทำให้ขาดแคลนแรงงานกันสุดๆ โดยปรากฏการณ์นี้เรียกว่า ‘The Great Resignation’ ซึ่งก็แปลไทยว่า การลาออกครั้งใหญ่

เราอาจได้ยินข่าวนี้บ่อยๆ จากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แต่จริงๆ ประเทศที่ประสบปัญหาหนักไม่ใช่แค่นี้ เพราะแคนาดาก็ประสบปัญหาใหญ่ด้วย โดยล่าสุด ณ ไตรมาสที่ 4 ปี 2021 ร้านอาหารในมหานครของรัฐบริติชโคลัมเบียอย่างแวนคูเวอร์ มีประกาศรับสมัครพนักงานล้างจานโดยให้เงินเดือนประมาณ 1 แสนบาท และแน่นอน นี่คืองานที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานปกติ คือทำไม่เกินอาทิตย์ละ 40 ชั่วโมงและมีสวัสดิการ

ซึ่งถ้าสงสัยว่าตัวเลขมายังไง ปกติฝรั่งจะประกาศงานเป็น ‘เงินปี’ หรือเอารายได้ทั้งปีมาคิด งานนี้ประกาศว่ารายได้ 5 หมื่นดอลลาร์แคนาดาต่อปี อันนี้คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.3 ล้านบาท ซึ่งพอหารเป็นเดือนก็ตกเดือนละแสนกว่าบาท และถ้าอยากลงละเอียดกว่านั้น ถ้าจะคิดเป็นชั่วโมง มันจะล้างจานได้ตกชั่วโมงละ 24 ดอลลาร์แคนาดา หรือ 630 บาท

แน่นอนตัวเลขนี้โหดใช่เล่น เพราะแม้ว่าแคนาดาค่าครองชีพจะสูงกว่าบ้านเราเอาเรื่องอยู่ เพราะถ้าคิดเทียบค่าครองชีพง่ายๆ จากเว็บเทียบค่าครองชีพมาตรฐานอย่าง Numbeo ก็คือราคาสินค้าและบริการรวมๆ ในแวนคูเวอร์จะคิดเป็น 3 เท่าของราคาใน กทม. ครับ (แต่ถ้าเอาละเอียด จริงๆ แล้วแต่หมวด พวกค่าเช่าจะคิดเป็นราว 3 เท่าของบ้านเรา แต่พวกของสด ค่ารถโดยสาร รวมๆ คือคิดเป็นราว 2 เท่าของบ้านเรา)

แต่การให้ค่าแรง 630 บาทต่อชั่วโมงกับคนล้างจานก็เป็นเรื่องที่คนแคนาดาเองก็อึ้งอยู่ (ไม่งั้นคงไม่เป็นข่าว)

เพราะในความเป็นจริงค่าแรงขั้นต่ำที่แวนคูเวอร์มันตกชั่วโมงละ 15 เหรียญแคนาดา หรือราว 400 บาท และจริงๆ ค่าแรงล้างจานทั่วๆ ไปก่อนโควิดมันก็ 20 ดอลลาร์แคนาดา หรือประมาณ 520 บาทอยู่แล้ว ดังนั้นมันไม่ได้น้อย แต่ที่เขาอึ้งกันก็คือ นี่มันยังขึ้นไปได้อีก

คำถามคือทำไม?

อย่างแรกเลย คนล้างจานนี่เอาจริงๆ เป็นแรงงานที่อาจค่าตอบแทนน่าจะต่ำสุดในอุตสาหกรรมร้านอาหารแล้ว คือมันต่างจาก ‘เด็กเสิร์ฟ’ เพราะเขาล้างจานในครัว ไม่ได้ทิปอะไรเลย ดังนั้นได้เท่าไรก็เท่านั้นเลย

ซึ่งงานแบบนี้ มันถือว่าเป็นงานค่าตอบแทนต่ำสุดๆ แล้ว โดยทั่วไปคนก็พอรับได้อยู่หรอก แต่เจอโควิดเข้าไป คนพวกนี้โดนเลิกจ้างกลางอากาศ มันทำให้พวกเขาตระหนักว่า งานของเขานอกจากจะได้ค่าตอบแทนต่ำแล้ว ยังไม่มีความมั่นคงสุดๆ อีก

และงานแบบนี้ถ้า ‘มีทางเลือก’ ใครมันจะไปทำล่ะครับ ไม่ว่าจะที่ไหน ดังนั้นวิธีแก้ง่ายที่สุดของอุตสาหกรรมร้านอาหารที่จะจูงใจให้คนมาทำงานนี้ ก็คือต้องขึ้นเงินเดือนให้

แต่เราจะเห็นว่าในประเทศอื่นที่มีปัญหาแบบเดียวกัน เราจะไม่เห็นการขึ้นค่าแรงแบบเดียวกันเลย เราไม่ได้ข่าวว่าคนล้างจานในอเมริกา อังกฤษ หรือประเทศไหนๆ ได้ขึ้นค่าแรง แล้วทำไมในแคนาดาขึ้น

อันนี้ต้องเข้าใจเงื่อนไขเฉพาะของแคนาดา

เราอาจเคยได้ยินเรื่องแคนาดาเป็นประเทศที่รับผู้อพยพเยอะมานาน แต่ในความเป็นจริง ลักษณะพิเศษของแคนาดามาช้านาน คือเขาจะเอาแต่ผู้อพยพที่เป็น ‘แรงงานทักษะสูง’ เท่านั้น และเขาทำแบบนั้นได้ เพราะประเทศเขาไม่ได้เข้าง่ายๆ มันต้องบินไปเท่านั้น พูดง่ายๆ คือใครจะเข้าประเทศนี้ต้องบินเข้าเท่านั้น และด่านตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินก็เช็กละเอียด การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายทำได้ยาก ซึ่งต่างจากอเมริกา เดินดุ่มๆ เข้าทางใต้ทางพรมแดนเม็กซิโก หรือว่ายน้ำเข้าไปแถวแคลิฟอร์เนียหรือฟลอริดาก็ได้

พูดอีกแบบ อเมริกาไม่เคยขาดผู้อพยพที่เป็นแรงงานทักษะต่ำ ที่พร้อมจะทำงานที่คนอเมริกันไม่อยากทำ ดังนั้นจนแล้วจนรอด อเมริกาก็ไม่ขึ้นค่าแรงให้งานระดับต่ำ เพราะมีคนทำตลอด (อย่างน้อยๆ คนบ้านเราไม่น้อยก็ยังคิดว่า ‘ไปล้างจานอยู่อเมริกา’ ก็ยังดีกว่าทำบางงานอยู่บ้านเรา มันเป็นเช่นนั้นเอง)

แต่แคนาดาไม่ใช่ ประเทศเขาไม่ได้รับแรงงานแบบนี้เข้าประเทศเลย และไม่มีนโยบายจะรับด้วย (จริงๆ นี่คือเหตุผลหนึ่งที่แคนาดาไม่มี ‘ปัญหาผู้อพยพ’ เพราะหลักๆ นโยบายเขาคือให้มีการ ‘สมองไหล’ จากประเทศอื่นมาประเทศเขา คือเอาคนหัวกะทิเข้าไปทำเศรษฐกิจเจริญ ใครมันจะโวยกันเล่า) ดังนั้นพวกแรงงานระดับล่างก็ต้องหาเอาในท้องถิ่นเท่านั้น และพอเกิดโควิดอย่างที่ว่า คนไม่อยากทำ มันก็มีทางเดียวในระยะสั้นที่จะหาคนมาทำงานให้ได้คือขึ้นเงินเดือนให้

และนี่เองคือของเหตุผลเบื้องหลังของงานล้างจานที่ได้เงินเดือนกว่า 1 แสนบาทในแวนคูเวอร์

อ้างอิง: