1 Min

ทำไมถึงเกิด ‘การลาออกครั้งใหญ่’ หลังปลดล็อกดาวน์? เงินเดือนน้อย? ไม่อยากกลับไปออฟฟิศ? หรือเรื่องอื่น?

1 Min
245 Views
26 Oct 2021

ณ ไตรมาสที่ 4 ปี 2021 ปรากฏการณ์ The Great Resignation หรือ ‘การลาออกครั้งใหญ่’ น่าจะเป็น ‘ความเป็นจริง’ ของประเทศที่ปลดล็อกดาวน์โดยสมบูรณ์หลายประเทศ เพราะอย่างน้อยๆ ทั้งอเมริกาและอังกฤษก็รายงานตรงกันว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจริงๆ ในช่วงกลางปี กล่าวคือมีคนลาออกจากงานเยอะอย่างมีนัยสำคัญ

หลายๆ บริษัทลูกจ้างลาออกไป 30-40% และส่งผลกระทบกับงานและการพยายาม ‘กลับสู่ภาวะปกติ’ หลังโควิดแน่นอน

ดังนั้นคำถามในตอนนี้ก็คือ ทำไมมันเกิดขึ้น? และจะป้องกันมันอย่างไร?

สัญชาตญาณแรกของนายจ้างก็คือ ลูกจ้างน่าจะได้เงินเดือนน้อยไป และก็พยายามจะแก้ในแนวทางนั้น คือเสนอขึ้นเงินเดือน

แต่ผลวิจัยกลับชี้ว่า เงินเดือนไม่ใช่ประเด็น หรือให้ตรงกว่าคือ การขึ้นเงินเดือนนิดๆ หน่อยๆ มันไม่ได้ช่วยยุติภาวะการแห่กันลาออกแต่อย่างใด

เพราะถ้าไปสัมภาษณ์บรรดาลูกจ้างที่ลาออก โทนของ ‘สิ่งที่ต้องการ’ เพื่อจะไม่ลาออกนั้นค่อนข้างจะตรงกันก็คือ ‘ความยืดหยุ่นในการทำงาน’

แล้วอะไรคือ ‘ความยืดหยุ่นในการทำงาน’?

ตรงนี้ นายจ้างอาจคิดตรงกันว่า การให้ Work From Home หรือ ‘ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ’ เหมือนช่วงล็อกดาวน์น่าจะเป็นคำตอบ

แต่นั่นอาจเป็นความคิดที่ ‘ผิด’

เพราะ ‘ยืดหยุ่น’ อาจไม่ได้แค่หมายความว่า ‘ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ’ แต่อาจหมายความว่าต้องมีเวลาให้ ‘จัดการชีวิตส่วนตัว’ มากขึ้นด้วย

เช่น ปัญหาของ WFH ที่เกิดขึ้นสำหรับหลายๆ คน ก็คือ มันทำให้เวลาทำงานไม่สิ้นสุด มันทำให้โดนตามงาน ‘นอกเวลางาน’ ได้ ซึ่งผลที่สุดคือมันทำให้ ‘ชีวิตส่วนตัว’ ปั่นป่วนไปหมด และนั่นหายนะกว่าการเสียเวลาไปออฟฟิศ เพราะอย่างน้อยตอนเลิกงานก็ไม่ต้อง ‘เอางานกลับมาทำที่บ้าน’

พูดอีกแบบ เหล่าลูกจ้างไม่ได้แค่ต้องการ WFH เฉยๆ แต่ต้องการระบบการ WFH ที่เคารพกับ ‘เวลาส่วนตัว’ ของพวกเขามากขึ้นด้วย

ความเข้าใจอะไรแบบนี้น่าจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ลูกจ้างไม่เผ่นออกจากงานหลัง ‘สถานการณ์ปกติ’ และจริงๆ ประเทศเราก็มีโอกาสเรียนรู้จาก ‘ข้อผิดพลาด’ ของเหล่าชาติตะวันตกในการดึงรั้งเหล่าลูกจ้างเอาไว้ ด้วยการแค่ขึ้นเงินเดือน หรือเลื่อนเวลา WFH ออกไป

อ้างอิง: