The Gray Man Mission: Impossi…บ้า

2 Min
1058 Views
02 Aug 2022

ในช่วงเวลาที่คนดูหนังตั้งคำถามกับการมาของหนังซูเปอร์ฮีโร่ ว่าจะทำลาย หรือกลืนกินสุนทรียะในการชมภาพยนตร์ดั้งเดิมแค่ไหน จะเป็นเพียงสวนสนุกโลดโผนที่ดูจบแล้วก็จบไปดังเช่นผู้กำกับรุ่นใหญ่อย่าง มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) ได้ปรามาสเอาไว้หรือไม่ ดูเหมือนว่า หนัง The Gray Man ผลงานการกำกับเรื่องล่าสุดของ แอนโธนี และ โจ รุสโซ (Anthony and Joseph Russo) จะให้คำตอบเอาไว้อย่างชัดเจนไม่ใช่น้อย ถึงแม้ว่าหนังเรื่องนี้จะไม่ใช่หนังซูเปอร์ฮีโร่ก็ตาม

The Gray Man เล่าถึง นักฆ่าหมายเลข 6 ที่หนีการตามล่าสุดขอบโลก หลังจากภารกิจที่เขาได้รับนั้นกลับเต็มไปด้วยความเคลือบแคลงสงสัยจนนำไปสู่ตามล่าขององค์กรที่ตั้งใจจะฆ่าเขาเพื่อปกปิดอะไรบางอย่าง

ด้วยพล็อตหนังแนวสายลับที่ไม่มีอะไรแปลกใหม่เหนือการคาดเดา พี่น้องรุสโซจึงพยายามหาแนวทางใหม่ด้วยเสริมด้วยภาพการไล่ล่าสุดวินาศสันตะโร, โลเคชั่นที่เสมือนการท่องโลกไปได้ในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง และการเสริมส่งด้วยพลังดาราเพื่อหวังให้คนดูหนังได้อิ่มเอมไปกับจุดขายระดับพรีเมียมที่แม้จะรับชมผ่านสตรีมมิ่งอย่าง Netflix แต่มูลค่าของหนังกลับดูแพงกว่าหนังโรงทั่วๆ ไปอีกหลายเท่า

หากแต่ผลลัพธ์ของความมากจนล้นนี้ กลับไม่ต่างกับสิ่งที่ปู่มาร์ตินได้กล่าวเอาไว้ นั่นคือระหว่างดูให้ความรู้สึกดุจนั่งรถไฟเหาะที่สุดหวาดเสียว แต่เมื่อรถไฟถึงปลายทาง สิ้นสุดซึ่งเสียงหวีดร้อง เรากลับจำอะไรไม่ได้เลย

การให้ตัวละครอย่าง ‘นักฆ่าหมายเลข 6’ ไรอัน กอสลิง (Ryan Gosling) เป็นนักฆ่าที่ชาญฉลาด เจ็บไม่ได้ตายไม่เป็น โดยพยายามเล่าแบ็คกราวด์ชีวิตเพียงน้อยนิด แต่เอาเวลาทั้งหมดไปลงกับเทคนิคการต่อสู้ และการพยายามหาวิสัยทัศน์ใหม่ของหนังแอ็คชั่นที่ไม่ต้องการความสมจริงแต่มุ่งหวังเพียงความสนุกกับการได้เห็นภาพการตายของเหล่าลูกสมุนวายร้าย หรือภาพความเสียหายของซากปรักหักพังของสถานที่และยานพาหนะบนจุดสำคัญในแหล่งต่างๆ ของโลกเป็นการทดแทนนั้น บทสรุปของมันอาจจะไม่ได้จบลงที่ความสนุกเพียงอย่างเดียว

ขณะที่หนังแนวสายลับระดับขึ้นหิ้ง อย่างแฟรนไชส์ของ Mission: Impossible หรือ The Bourne กลับน่าสนใจทั้งในส่วนของแอ็คชั่น และเส้นเรื่องที่ชวนติดตาม หรือกระทั่ง John Wick เองที่แม้จะให้ภาพแอ็คชั่นดูใหม่แต่อย่างไร ตัวเนื้อเรื่องก็ยังคงเป็นที่จดจำและน่าติดตามอยู่ดี

แต่ The Gray Man กลับให้ความรู้สึกเสมือนดูหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่ไม่สวมชุดหรือสวมหน้ากาก ทุกอย่างในหนังล้วนแปลกปลอมด้วยสเปเชียลเอฟเฟ็คต์อันแสนเหลือเชื่อมากกว่าความสมจริงใดๆ

เราอาจจะตั้งข้อสงสัยได้ว่า ทั้งมาร์เวลและดีซีเอง ต่างพยายามหาผู้กำกับหนังที่มีรูปแบบแตกต่าง เพื่อสร้างวิสัยทัศน์ใหม่ๆ ให้กับหนังซูเปอร์ฮีโร่ แต่ตัวผู้กำกับที่แจ้งเกิดจากหนังซูเปอร์ฮีโร่เองล่ะ จะทำอย่างไรเมื่อต้องทำหนังธรรมดาของคนที่ไม่มีพลังวิเศษใดๆ 

สำหรับพี่น้องรุสโซที่มีงานระดับมาสเตอร์พีซอย่าง Captain America: The Winter Soldier (2014) ที่นิยามหนังซูเปอร์ฮีโร่ในแบบสายลับสงครามเย็นได้อย่างยอดเยี่ยม หรืองานกำกับ The Avengers: Infinity War (2018) และ The Avengers: Endgame (2019) จนกลายเป็นจุดสูงสุดของหนังมาร์เวลที่ยังไม่มีเรื่องไหนโค่นได้ลงแล้วนั้น ผลงานหลังจากนั้นยังเป็นข้อกังขาสำหรับพวกเขาอยู่เช่นเดิม

The Gray Man จึงเป็นผลงานที่เฉียบคมในแง่งานสร้างและการดีไซน์ฉากต่อสู้ที่แสนยิ่งใหญ่และถึงใจ แต่กลับแห้งแล้งด้วยเนื้อเรื่องที่ชวนติดตาม คาแรคเตอร์ที่แทบไม่ต่างกับหุ่นยนต์ ความฉลาดหลักแหลมของตัวนักแสดงนำกลับไม่ช่วยให้คนดูได้ตามลุ้นเท่าไหร่ และการเดินทางไปสร้างความโกลาหลยังแลนด์มาร์คต่างๆ ทั่วโลก ก็ไม่นำพาหรือดึงเสน่ห์ให้กับหนังได้เลย นอกเสียจากความรู้สึกของตัวทีมงานที่ต้องการไปพักร้อนเพียงเท่านั้น

โดยเฉพาะการใช้โลเคชั่นอย่างกรุงเทพฯ ที่ดูไม่เป็นกรุงเทพฯ และความเคลือบแคลงสงสัยของคนดูชาวไทย ว่าทำไมนักฆ่าหมายเลข 6 ถึงเลือกขับรถตุ๊กตุ๊กตียาวข้ามคืนจากกรุงเทพฯ มาเชียงใหม่ในคืนเคาท์ดาวน์ เราอาจจะผิดที่จับผิดหนังจนเกินไป แต่มั่นใจว่าต่อให้กัปตันอเมริกาก็ไม่เลือกเดินทางแบบนี้อย่างแน่นอน