ยุคแห่งคนเหงาถูกหลอกให้รัก!Romantic Scammer ลวงคนอเมริกันสูญเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์
อาชญากรรมที่ต้องรู้จัก Romantic Scammer
Romance Scammer คืออาชญากรรมออนไลน์ชนิดหนึ่ง ที่เน้นหลอกล่อให้เหยื่อไว้เนื้อเชื่อใจ ผ่านโปรไฟล์ปลอมซึ่งดูน่าดึงดูด คุณจะเรียก Romantic Scammer ว่าเป็นโจรขโมยหัวใจ (และทรัพย์สิน) ก็ไม่ผิดนัก
Federal Trade Commission (FTC) หรือ คณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหพันธรัฐของสหรัฐอเมริกา รายงานข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากรรมการหลอกลวงและการขโมยตัวตนว่ามูลค่าความเสียหายที่เกิดจาก romantic scammer พุ่งทะยานเป็น 547 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 ที่ผ่านมา จากเดิมในปี 2020 ที่เสียหายไป 307 ล้านดอลลาร์ และจาก 202 ล้านดอลลาร์ในปี 2019
กลุ่มคนที่ตกเป็นเหยื่อมีทุกช่วงวัย แต่ช่วงวัยที่โดนหลอกเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือกลุ่มคนอายุระหว่าง 18-29 ปี แต่คนกลุ่มนี้สูญเงินไปไม่เยอะ เมื่อเทียบกับคนกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไปที่โดนหลอกเอาเงินไปเยอะสุด
พวกโจรขโมยหัวใจพวกนี้มักจะแฝงอยู่ตาม ‘แอปหาคู่’ มากที่สุด นอกจากนั้น ก็จะเป็นการเข้าหาผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก หรือ อินสตาแกรม
สถิติจากทินเดอร์บ่งชี้ว่าคนเราเหงาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เทียบกับปี 2020 ในปี 2021 ผู้ใช้ทินเดอร์ส่งข้อความหาคู่แมตช์มากขึ้นกว่า 19 เปอร์เซ็นต์ต่อวัน รวมทั้งบทสนทนาก็ยืดยาวขึ้นถึง 32 เปอร์เซ็นต์
และลักษณะอาชญากรรมเช่นนี้พุ่งสูงขึ้นสอดคล้องกับความเหงาโดดเดี่ยวของผู้คนที่มากขึ้นหลังเกิดการระบาดของโรคโควิด-19
ตำนานแห่งการโดนหลอกให้รัก
กรณีโด่งดังของโจรขโมยหัวใจ เช่น คดีของนักฟิสิกส์ ‘พอล แฟรมป์ตัน’ ปี 2012 กับตำแหน่งที่ใครๆ ก็คิดว่าฉลาด ก็ยังเคยเพลี่ยงพล้ำต่อ romantic scammer มาแล้ว
อาจารย์ขี้เหงาสูงอายุคนนี้ถูกหลอกให้เชื่อว่าตัวเองหลงรักกับนางแบบบิกินีสุดเซ็กซี่ เขาพบเธอใน ‘เว็บหาคู่’ คุยกับเธอผ่านทางแชตจนพัฒนาความสัมพันธ์ เธอมักบอกรักเขาอย่างไม่ขาด แต่ที่ ‘แปลก’ ก็คือ…ถึงแม้เธอจะใส่ใจและพร่ำพรรณนาความรักที่มีต่ออาจารย์วัยกลางคนที่เพิ่งหย่ากับเมียคนนี้มากแค่ไหน แต่เธอก็ไม่เคยยอมคุยโทรศัพท์กับเขาเลยสักครั้ง พวกเขาเพียงแค่ส่งข้อความหากัน
ท้ายที่สุด พวกเขาก็ตกลงปลงใจจะเจอกัน แต่แทนที่จะได้เจอตัวจริงตามสัญญา อาจารย์คนนี้โดนหลอกให้ขนกระเป๋าที่มีโคเคนซุกซ่อนอยู่อย่างแนบเนียนกว่า 2 กิโลกรัมเข้าสนามบินเมืองบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา และต้องติดคุกถึง 4 ปี 8 เดือน
วิธีหลอกเอาหัวใจ (และเงิน) ของคุณ
กลวิธีหลอกเอาหัวใจรวมถึงเงินของเหยื่อ จะเริ่มจากการสร้างโปรไฟล์ปลอมขึ้นมาในทินเดอร์ (หรือในแอปหาคู่และโซเชียลมีเดียอื่นๆ) ส่วนใหญ่มักใช้รูปที่ขโมยมาจากคนอื่นในอินเทอร์เน็ต และสร้างตัวตนที่สามารถหาข้ออ้างไม่ต้องไปเจอตัวจริงกับคู่แมตช์ เช่น โกหกว่าอยู่ในค่ายทหาร หลังจากนักต้มตุ๋นเหล่านี้ได้รับความไว้วางใจจากเหยื่อหรือเริ่มสนิทกัน ก็จะเริ่มทำเป็นเดือดร้อนแล้วขอความช่วยเหลือทางการเงิน เช่น หลอกว่าต้องหาเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล ลูกป่วยต้องใช้เงิน ไม่ก็บอกว่าต้องรีบหาเงินใช้หนี้เงินกู้ไม่งั้นตัวเองจะตกอยู่ในอันตราย
การป้องกันตัวเอง สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) แนะนำว่า ใครที่อยากมีความสัมพันธ์กับคนในโลกออนไลน์ก็ควรเป็นไปอย่างช้าๆ ก่อน ถามคำถามให้เยอะเข้าไว้ ลองเอารูปของคนๆ นั้นไปค้นต่อว่าเป็นรูปที่มีคนใช้ซ้ำหรือเปล่า และตัดไฟแต่ต้นลม หลีกเลี่ยงไม่ส่งเงิน เหรียญคริปโท หรือการ์ดของขวัญใดๆ ทั้งสิ้นก่อนจะได้พบตัวจริง
อย่างที่เคยกล่าวไปว่าอาชญากรรมพวกนี้มักหากินกับความโดดเดี่ยว ความเหงาของมนุษย์ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในยุคแห่งเทคโนโลยี ดังนั้น จงตั้งสติก่อนรักใครในโลกออนไลน์ เพราะอาชญากรรมเช่นนี้มันจะไม่ทำให้คุณเพียงแค่ ‘อกหัก’ แต่ยังทำให้คุณ ‘สิ้นเนื้อประดาตัว’ อีกต่างหาก
จงระวังสาวสวย หนุ่มหล่อ และมิตรภาพไม่รู้หน้ารู้ใจในโลกออนไลน์ไว้ให้ดีๆ
อ้างอิง
- Forbes. Americans Lost $1 Billion To Romance Scammers Last Year, FBI Says. https://bit.ly/3rV4Na1
- The New York Times Magazine. The Professor, the Bikini Model and the Suitcase Full of Trouble. https://nyti.ms/3BsZ3HI