Select Paragraph To Read
- ทำไมซิทคอมถึง “ตาย” ?
- ซิทคอม สิ่งที่คนในยุคสตรีมมิ่งไม่ต้องการ
- ซิทคอมตาย ช่องว่างระหว่างวัยที่ห่างขึ้น
ชอบดู “ซิทคอม” ไหมครับ?
คน Gen Y ขึ้นไปน่าจะโตมากับรายการทีวีจำพวก “ซิทคอม” หรือ Situational Comedy ไม่มากก็น้อย
รายการพวกนี้คือรายการตลกที่เรื่องราววนเวียนอยู่รอบๆ ตัวละครชุดหนึ่ง และเรื่องราวก็มักจะไม่พัฒนาไปไหน แต่ละตอนจะมีเรื่องราวให้เกิดความตลกเป็นตอนๆ ก่อนจะปิดท้ายด้วยการที่สถานการณ์กลับไปที่เดิม และเตรียมเริ่มตลกในตอนใหม่
ละครโทรทัศน์แนวนี้มักจะสั้นๆ ความยาวราวตอนละครึ่งชั่วโมงเท่านั้น และจะถ่ายทำในฉากเดิมๆ มุมกล้องเดิมๆ เวลาตัวละครปล่อยมุกก็จะมีแทร็กเสียงหัวเราะให้คนดูรู้ว่าควรจะ “ขำ” ตอนไหน
อธิบายแบบนี้ ซิทคอมอาจดูน่าเบื่อ แต่อยากให้ย้อนกลับไปปี 1995 ที่เป็น “ยุคทอง” ของรายการประเภทนี้ในอเมริกา ยุคนั้นรายการทีวี 38 รายการจาก 50 รายการที่คนดูมากที่สุดเป็น “ซิทคอม”
พอผ่านมาปี 2014 รายการยอดฮิตนั้นเป็นซิทคอมแค่ 9 รายการเท่านั้น
และมาปัจจุบัน ลองนึกดูสิว่า “ซิทคอม” เรื่องไหนที่ดังเรื่องล่าสุด คือเราแทบจะนึกไม่ออกแล้ว ซิทคอมกลายเป็นรูปแบบของรายการทีวีที่ “ตาย” ไปแล้วอย่างสิ้นเชิง
และถ้าเอาซิทคอมให้คน Gen Z ดูก็คงจะรู้สึกงงๆ ว่ามันตลกยังไง
ทำไมซิทคอมถึง “ตาย” ?
อาจพูดยากว่า “ซิทคอม” นั้นตายตอนไหน แต่หลักๆ ซิทคอมที่ยิ่งใหญ่สองเรื่องสุดท้ายก็คือ The Big Bang Theory ที่มี 12 ซีซั่น (ฉายเริ่มปี 2007 มาจบปี 2019) และ Modern Family ที่มี 11 ซีซั่น (เริ่มฉายปี 2009 มาจบปี 2020)
หรือพูดง่ายๆ ซิทคอมเพิ่งตายปี 2020 นี่เอง และความตายของมันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับโควิดเลย เพราะซิทคอมรุ่นหลังพวกนี้ไม่ได้ “ดัง” และมีชื่อเสียงแบบแทรกซึมไปในป๊อปคัลเจอร์ในระดับที่เทียบกันได้เลย (ซิทคอมรุ่นหลังจากนี้ ดังสุดน่าจะเป็น Brooklyn Nine-Nine ที่จะจบในปี 2021 ในซีซั่นที่ 8 แต่ “ความดัง” เทียบกับรุ่นก่อนๆ ไม่ได้เลย)
คำถามคือเกิดอะไรขึ้นกับซิทคอม?
คำอธิบายหลากหลายมาก แต่คำอธิบาย “พื้นฐาน” ที่สุดก็คือเรื่องของ “พฤติกรรมการดูซีรีส์” ของคนที่เปลี่ยนไป
ซิทคอมเป็นรูปแบบละครทีวีที่อยู่ในโลกมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เรียกได้ว่าพอคนอเมริกันเริ่มมี “ทีวี” ดูกันแพร่หลายในทศวรรษที่ 1950’ s ซิทคอมก็ถือกำเนิดมาแล้ว (ตอนแรกเริ่มมาจากละครวิทยุ แต่ขอไม่เล่าไปถึงตรงนั้น) หรือพูดอีกแบบมันเป็น “รูปแบบรายการ” ที่เกิดมากับทีวีนี่เอง และก็อยู่คู่โลกมาตลอดศตวรรษที่ 20 ก่อนจะค่อยๆ ลดลงในศตวรรษที่ 21 อย่างที่เล่า
ซิทคอมเกิดมาในฐานะของละครโทรทัศน์ที่ดูสบายๆ ไม่ต้องติดตามดูทุกตอนก็รู้เรื่อง เอาไว้ดูชิลๆ ตอนค่ำๆ หลังครอบครัวกินข้าวเย็นแล้วนั่งล้อมวงดูทีวีกัน ซึ่งในแง่นี้ “เรื่องราวที่ไม่ไปไหน” ได้กลายมาเป็น “จุดแข็ง” เพราะคนไม่ได้ต้องการให้มันไปไหน ต้องการให้เรื่องราววนๆ ไปเรื่อยๆ ปล่อยมุกขำๆ แล้วก็จบตอนไป พลาดตอนอาทิตย์นี้ ดูต่ออาทิตย์หน้า ก็ไม่ได้รู้สึกขาดอะไรไป
ซึ่งอะไรพวกนี้ “จำเป็น” พอสมควรสำหรับครอบครัวจำนวนมาก ที่จะมานั่งดูทีวีร่วมกันหลังกินข้าว คือมันไม่ต้องการอะไรเครียดๆ ต้องการสิ่งที่เด็กดูได้ด้วย
และซิทคอมก็ตอบโจทย์ “ครอบครัว” มาตลอด อย่างน้อยๆ ก็ครอบครัวในแบบอเมริกัน ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่เรตติ้งซิทคอมทั้งหลายจะโคตรดีและดีที่สุดในบรรดารายการทีวี
ถ้าจะพูดอีกแบบ ซิทคอมมัน “มากับทีวี” และก็ไม่แปลกที่มันจะ “ไปกับทีวี” เช่นกัน
ซิทคอม สิ่งที่คนในยุคสตรีมมิ่งไม่ต้องการ
ตัดภาพมาทุกวันนี้ คงไม่ใช่ยุคที่ต้องเถียงกันแล้วว่า คนดูทีวีน้อยลงหรือไม่ หรือสตรีมมิ่งนั้นเป็นแค่ “กระแสที่มาแล้วก็จะไป”
เพราะมันชัดแล้วว่าคนดูทีวีน้อยลงและดูสตรีมมิ่งมากขึ้น และนั่นมากับ “พฤติกรรมการดูที่ต่างออกไป” และนำมาสู่ “ความตายของซิตคอม” ในที่สุด
ในยุคของสตรีมมิ่ง อาจพูดได้ว่าซีรีส์ที่เนื้อหาซ้ำๆ ซากๆ นั้นไม่มีที่ยืน ซีรีส์ที่คนจะดูคือซีรีส์ที่ชวนติดตามทุกตอน เรื่องพลิกไปมาให้ลุ้น และคนก็จะดูยาวๆ รวดเดียวจบ ฟิตๆ หน่อยก็ดูวันเดียว หรือปกติหน่อยก็ทยอยดูให้จบในสุดสัปดาห์ และโดยทั่วๆ ไปซีรีส์แบบนี้หนึ่งซีซั่นจะไม่ยาวเท่าไร เรียกได้ว่าเกิน 8 ตอน คนก็บ่นว่ายาวแล้ว
ตัดภาพกลับไปซิทคอม ในยุคคลาสสิค หนึ่งซีซั่นจะมีราว 24 ตอน ฉายอาทิตย์ละครั้ง คือฉายกันทียาวๆ เลยครึ่งปี คนก็ตามดูกันไปยาวๆ
อะไรแบบนี้ดูจะเป็นไปไม่ได้ในยุคสตรีมมิ่ง เพราะคนจะดูเมื่ออยากดู จะดูต่อเมื่อมันมี “เรื่องราวน่าติดตาม” และนี่เป็นอะไรที่ตรงข้ามกับซิทคอมโดยสิ้นเชิง
ซิทคอมตาย ช่องว่างระหว่างวัยที่ห่างขึ้น
คำถามต่อมา เมื่อซิทคอม “ตาย” แล้ว ทำให้เกิดอะไรขึ้น?
คำตอบคือ “มุกตลกแบบยุคก่อน” ก็ตายไปพร้อมกัน ซึ่งตรงนี้ก็ต้องยอมรับว่า ด้วยความฮิตและแพร่หลายของซิทคอม มันก็ทำให้ “อารมณ์ขัน” ของคน Gen Y, Gen X ไปจนถึงก่อนหน้านั้นมีลักษณะร่วมกันอยู่พอสมควร
แต่พอมา Gen Z สิ่งที่เคยตลกมันไม่ตลกอีกต่อไป ซึ่งมันไม่ได้เปลี่ยนเพราะบรรยากาศทางสังคมเปลี่ยน เท่ากับการที่คนรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้ “รับการสืบทอดอารมณ์ขัน” ผ่านซิทคอมอีกแล้ว
แต่ในทางกลับกัน “คนรุ่นเก่า” ก็งงกับ “อารมณ์ขันสไตล์ 9gag” และ “การเล่นมีม” ของ “คนรุ่นใหม่” เหมือนกัน
และทั้งหมดนี้แม้ว่าดูเผินๆ จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในความเป็นจริงนี่เป็น “รอยแยกทางวัฒนธรรม” ที่ใหญ่มากๆ ในสังคม เพราะมันหมายความว่าในภาพใหญ่ คนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ไม่สามารถกระทั่ง “หัวเราะไปพร้อมกัน” ได้อีกต่อไป
ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะทุกวันนี้ภาวะที่คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ขัดแย้งกันระดับ “มองหน้ากันไม่ติด” จะเกิดขึ้นทั่วโลก
อ้างอิง
- USA Today. Why we can’t expect more big sitcoms that bond us in a post-‘Modern Family’ world. https://bit.ly/3gnXgK9
- The Washington Post. ‘Kimmy Schmidt’ proves the network sitcom is dead. https://wapo.st/3zibIMm
- QZ. Is 2016 the year the network sitcom died? . https://bit.ly/3cRM8nZ
- ComicBook. Network Sitcoms May Be a Thing of the Past. https://bit.ly/3izrEUG
- Medium. How Streaming Doomed Comedy. https://bit.ly/3izaXIY