10 Min

เพราะเป็นพระราชินีจึง ‘ไม่มี’ เรื่องส่วนตัว ส่องเรื่องส่วนพระองค์ที่มีผลกับการเมือง-สังคม จาก The Crown

10 Min
185 Views
17 Nov 2023

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วนของซีรีส์ ‘The Crown’ ซีซัน 1-5 และเจตนาเลือกใช้ราชาศัพท์เท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อความเข้าใจง่าย

‘The Crown’ ซีรีส์ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ได้ดำเนินมาถึงปัจฉิมบทในซีซันที่ 6 แล้ว และเริ่มออกอากาศพาร์ตแรกไปแล้วเมื่อวานนี้ (16 พฤศจิกายน 2023) ส่วนพาร์ตที่ 2 มีกำหนดออกอากาศในวันที่ 14 ธันวาคม 2023

The Crown ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2016 เป็นซีรีส์ที่นำเสนอชีวประวัติของ ‘สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2’ หรือที่ทั่วทั้งโลกต่างขนานพระนามว่า ‘ควีนเอลิซาเบธที่ 2’ (Queen Elizabeth II) โดยผสานเรื่องจริงและเรื่องแต่งด้วยฝีมือการสร้างและเขียนบทของ ปีเตอร์ มอร์แกน (Peter Morgan) นักเขียนบทภาพยนตร์และละคร ชาวอังกฤษ ผู้ได้รับเสียงชื่นชมจากการเขียนบทละคร บทภาพยนตร์ และบทโทรทัศน์ และผ่านประสบการณ์อันโชกโชนในการหยิบจับเรื่องราวเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์หรือบุคคลสำคัญ มาแต้มแต่งสีสันด้วยมนตร์วิเศษจากปลายปากกาของชายผู้นี้ที่เติมเต็มอรรถรสให้กับผู้ชม และได้ 3 นักแสดงหญิงมากความสามารถ ได้แก่ แคลร์ ​ฟอย (Claire Foy), โอลิเวีย โคลแมน (Olivia Colman) และ อิเมลดา สตอนตัน (Imelda Staunton) มาสวมบทบาทพระราชินีผู้แบกรับ ‘มงกุฎ’ และ ‘ภาระ’ อันหนักอึ้งของอังกฤษ ในช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้น-รุ่งเรือง-ร่วงโรย

ซีรีส์เรื่องนี้ได้รับเสียงตอบรับจากผู้ชมทั่วโลกอย่างล้นหลาม โดยได้รับคะแนนชื่นชอบจากผู้ใช้บริการบนแพลตฟอร์มสตรีมมิงอย่างเน็ตฟลิกซ์สูงถึง 93 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกวาดรางวัลไปครองจากหลายเวทีในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น รางวัลลูกโลกทองคำ (Golden Globe Award), รางวัลไพรม์ไทม์ เอ็มมี อวอร์ด (Primetime Emmy Award), รางวัลภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ยอดเยี่ยม (Critics’ Choice Television Award), รางวัลบริติช อคาเดมี เทเลวิชัน คราฟต์ อวอร์ด (British Academy Television Craft Award) จากสถาบันศิลปะภาพยนตร์และโทรทัศน์บริติช หรือ แบฟตา (BAFTA: British Academy of Film and Television Arts), รางวัลกลุ่มนักแสดงจากละครโทรทัศน์แนวชีวิตยอดเยี่ยม (Screen Actors Guild Award) ฯลฯ

นอกจากนี้ The Crown ยังใช้ทุนสร้างมหาศาล โดยซีซันแรก ซีรีส์เรื่องนี้ได้ทุ่มเงินสูงถึง 150 ล้านดอลลาร์ นับเป็นจำนวนเงินทุนที่สูงเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับรายได้ของสมาชิกทุกพระองค์ในราชวงศ์วินเซอร์ที่ต้องจ่ายภาษีให้กับแผ่นดิน

แน่นอนว่าความนิยมย่อมมาคู่กับคำวิจารณ์รวมถึงกระแสตอบโต้ที่ดุเดือด ทั้งนี้รัฐบาลสหราชอาณาจักรเคยเรียกร้องให้เน็ตฟลิกซ์เพิ่มคำอธิบายว่า The Crown เป็นเพียง ‘เรื่องที่แต่งขึ้น’ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมด โดยเบื้องต้นทางเน็ตฟลิกซ์เองก็ยังไม่ได้ดำเนินการตามคำร้องขอแต่อย่างใด

จนกระทั่ง เซอร์ จอห์น เมเจอร์ (Sir John Major) อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ และเป็นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญที่ปรากฏตัวใน The Crown ซีซัน 5 พร้อมด้วย จูดี เดนช์ (Judi Dench) นักแสดงอาวุโสผู้มีชื่อโด่งดังของอังกฤษ และเป็นบุคคลใกล้ชิดของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 (King Charles III) และพระราชินีคามิลลา (Queen Camilla) ต่างออกมาตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ถึงความถูกต้องของเนื้อหาในซีรีส์ จนท้ายที่สุดเน็ตฟลิกซ์จึงยอมเติมข้อความ ‘ได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ในชีวิตจริง’ (Inspired by real events, this fictional dramatisation tells the story of Queen Elizabeth II and the political and personal events that shaped her reign.) สำหรับใช้เพื่อโฆษณา The Crown ซีซัน 5 พร้อมขึ้นคำเตือนลักษณะเดียวกันกับทั้ง 4 ซีซันที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน

แม้ซีรีส์จะถูกเสริมเติมแต่งเพื่ออรรถรสสำหรับการรับชม แต่คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า The Crown ก็ยังสามารถทำหน้าที่ย่อยประวัติศาสตร์และกระชับความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทและความสำคัญของประมุขของสถาบันกษัตริย์ รวมไปถึงสมาชิกในราชวงศ์อังกฤษ ที่มีบทบาทสำคัญต่อประเทศและเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ของโลก ผ่านเสียงเล่า สำนึกคิด รวมถึงการกระทำต่างๆ ของตัวละครในซีรีส์ ที่เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า เราทุกคนต่างเคยรู้สึก ตัดสินใจ และลงมือทำสิ่งที่ถูกต้องหรือผิดพลาดได้ไม่ต่างกัน

(1) ‘มงกุฎ’ เป็นสัญลักษณ์ของความคงทนถาวร มันคือสิ่งที่เราเป็น มิใช่สิ่งที่เราทำ

The Crown is a symbol of permanence. It’s something you are, not what you do.

หลังจากที่ สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 (King Edward VIII) สละราชบัลลังก์เมื่อปลายปี 1936 มงกุฎถูกส่งต่อไปอยู่บนศีรษะของ ‘เบอร์ตี้’ ผู้เป็นน้องชาย และกลายเป็น ‘สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6’ (King George VI) จากนั้น 15 ปีต่อมา มงกุฎเดิมถูกส่งต่ออีกครั้งให้กับ ‘ลิลิเบ็ต’ หรือ เจ้าหญิงเอลิซาเบธ อเล็กซานดรา แมรี วินด์เซอร์ วัย 25 ปี ลูกสาวคนโตของอดีตกษัตริย์ จึงได้เปลี่ยนสถานะจากดัชเชสแห่งเอดินบะระเป็นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2  ในปี 1952 โดยเลือกใช้ชื่อในการครองราชย์ ‘เหมือน’ ชื่อเดิมของตนเอง

แต่ปัญหาใหญ่ในครอบครัวของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ต้องเผชิญหน้าอย่างเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ ‘ลูกๆ’ ของเธอจะใช้นามสกุลอะไร

ย้อนกลับไปในปี 1917 ราชสำนักอังกฤษใต้ร่มเงาของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 (King George V) ผู้เป็นปู่ของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ประกาศชื่อราชวงศ์ใหม่ว่า ‘วินด์เซอร์’ (The House of Windsor) โดยเปลี่ยนจากชื่อเดิม คือ ราชวงศ์ซักเซิน-โคบวร์กและโกทา และต่อมาในปี 1931 ได้ประกาศใช้ ‘ธรรมนูญเวสต์มินสเตอร์’ (Statute of Westminster) เป็นพระราชบัญญัติแห่งสหราชอาณาจักรที่กำหนดหลักการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรเครือจักรภพกับกษัตริย์ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการเปลี่ยนผ่านจากความเป็นประเทศในเครือจักรภพไปสู่รัฐเอกราชโดยสมบูรณ์ นอกจากนี้ในบทนำของธรรมนูญแห่งเวสต์มินสเตอร์ยังได้กำหนดถึงขนบประเพณีที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนกฎการสืบราชสันตติวงศ์อังกฤษไว้ด้วยเช่นกัน

เรื่องซุบซิบเกี่ยวกับการ ‘เปลี่ยนชื่อราชวงศ์’ จากบอร์ดแลนด์ส (Broadlands) แล่นมากระซิบถึงหู ‘สมเด็จพระราชินีแมรี’ (Queen Mary) ผู้เป็นย่าและภรรยาของผู้เริ่มใช้ชื่อราชวงศ์วินด์เซอร์ ที่ปรากฏอยู่ใน The Crown ซีซัน 1 ตอนที่ 3: Windsor เพราะชื่อสกุลวินด์เซอร์จะสืบทอดเฉพาะทายาทชาย ส่วนทายาทหญิงต้องใช้สกุลสามี

สถานการณ์ล่อแหลมที่ ‘เสี่ยงต่อความมั่นคง’ เช่นนี้ ทำให้รัฐสภาต้องออกหน้าเจรจากับพระราชินี จนท้ายที่สุด ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ประกาศความตั้งใจที่จะให้ตนเองและลูกๆ รู้จักในฐานะ ‘ครอบครัวแห่งราชวงศ์วินด์เซอร์’ พร้อมระบุชัดเจนว่าทายาทของตนเอง รวมไปถึงทายาทของลูกๆ ยกเว้นทายาทหญิงที่แต่งงาน จะ ‘ต้อง’ ใช้นามสกุลวินด์เซอร์เช่นกัน

เหตุการณ์นี้ทำให้ ฟิลิป เมาต์แบตเทน (Philip Mountbatten) สามีของพระราชินี กลายเป็น ‘ผู้ชายคนเดียวในประเทศ’ ที่เมียกับลูกไม่ได้ใช้นามสกุลของตัวเอง นอกจากนี้ครอบครัวของพระราชินียังต้องย้ายไปอยู่ที่พระราชวังบักกิงแฮม ทั้งที่เคยยืนยันเสียงแข็งว่าที่นั่นเป็นที่ทำงาน ส่วน ‘บ้าน’ คือแคลเรนซ์เฮาส์ (Clarence House)

(2) ตัวตนตามธรรมชาติบางส่วนของเรามักจะต้องสูญหายไปเสมอ เราทุกคนล้วนต้องเสียสละ สิ่งนี้เลือกไม่ได้ แต่เป็นหน้าที่

Some portion about our natural selves is always lost. We have all made sacrifices. It is not a choice. It is a duty.

ย้อนกลับไปใน The Crown ซีซัน 1 ตอนที่ 2: Hyde Park Corner เนื้อหาในจดหมายส่วนตัวที่ สมเด็จพระราชินีแมรีส่งมาถึงหลานสาววัย 25 ปี ที่กำลังจะกลายเป็น ‘สมมติเทพ’ ตอกย้ำถึงความขัดแย้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ‘ภายใน’ ตัวตนทั้งสองที่อยู่ในเนื้อหนังร่างกายและจิตใจของเอลิซาเบธ โดยมีใจความบางส่วนว่า

“…ขณะที่หลานไว้อาลัยให้พ่อ (สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6) หลานต้องไว้อาลัยให้อีกคนด้วย

เอลิซาเบธ เมาต์แบตเทน เธอจะต้องถูกอีกคนเข้ามาแทนที่ ‘เอลิซาเบธ รีไจนา’ (Elizabeth Regina)

เอลิซาเบธทั้งสอง จะต้องขัดแย้งกันเองอยู่บ่อยครั้ง

ความจริงก็คือกษัตริย์ต้องมาก่อน
ต้องมาก่อนสิ่งใด”

ข้อความในจดหมายนี้เป็นสิ่งสะท้อน ‘หลักการ’ ที่สมาชิกราชวงศ์วินด์เซอร์ต้องยึดถือและปฏิบัติ แต่เมื่อมีเรื่องความรักหรือความรู้สึกส่วนตัวที่ไม่ไปกับ ‘หน้าที่’ มักลงเอยด้วยการคัดค้านจากทั้งสมาชิกราชวงศ์ด้วยกันเองและ/หรือผู้ที่ยึดมั่นในกฎเกณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรักอันไร้หวังของ ‘เจ้าหญิงมาร์กาเรต’ (Princess Margaret) น้องสาวเพียงคนเดียวของ ควีนเอลิซาเบธที่ 2 กับ ปีเตอร์ ทาวน์เซนด์ (Peter Townsend) ทหารคนสนิท หรือแม้แต่การถูกทอดทิ้งและผลักไสให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ไปอยู่ต่างแดนหลังจากที่เลือกใช้ชีวิตคู่กับ วอลลิส ซิมป์สัน (Wallis Simpson) หญิงหม้ายอเมริกัน และเป็นเหตุผลให้อดีตกษัตริย์จำเป็นต้องสละราชบัลลังก์ แล้วใช้บรรดาศักดิ์เป็น ‘ดยุกแห่งวินด์เซอร์’ (Duke of Windsor) ฯลฯ ทุกสิ่งนั้นล้วนเพื่อธำรงไว้ซึ่ง ‘ความทรงเกียรติ’ ของสถาบันกษัตริย์

สถานะประมุขของประเทศและสถานะอื่นของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ที่เป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ลูกสาว, พี่สาว, ภรรยา, แม่ ฯลฯ ต่างสร้างความขัดแย้งในความสัมพันธ์ส่วนตัวอยู่เสมอ แม้ในซีรีส์จะเน้นความสำคัญว่าการเป็นสมาชิกราชวงศ์วินด์เซอร์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกคนต่างติดอยู่ใน ‘ระบบ’ ที่ไม่หมุนไปตามเข็มนาฬิกา รวมถึงศูนย์กลางและหัวใจหลักของทุกชีวิตในครอบครัวนี้ คือ ‘พระราชินี’ 

แม้การแสดงออกต่อสาธารณชนของควีนเอลิซาเบธที่ 2 จะมีท่าทีวางเฉยและไม่เปิดเผยความรู้สึกให้ใครได้เห็น แต่ก็ไม่อาจเลี่ยง ‘อคติ’ หรือ ‘ฉันทาคติ’ ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ได้ ใน The Crown ซีซัน 4 ตอนที่ 4: Favourite เล่าเรื่องเปรียบเทียบ ‘ลูกคนโปรด’ ของผู้นำหญิงทั้งสองสถาบัน ด้วยเหตุการณ์ที่ มาร์ก แธตเชอร์ (Mark Thatcher) ลูกชายของ มาร์กาเรต แธตเชอร์ (Margaret Thatcher) นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอังกฤษ หลงทางและหายตัวไปในทะเลทราย นายกฯ แธตเชอร์ไม่เก็บงำท่าทีที่ห่วงใยลูกชายมากเป็นพิเศษและยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าเขาคือลูกคนโปรด มากกว่าลูกสาวฝาแฝดอีกคน นั่นคือ แครอล แธตเชอร์ (Carol Thatcher) จนทำให้พระราชินีตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘ใคร’ คือลูกคนโปรดของตนเอง

หลังจากที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ได้ ‘นัดรับประทานมื้อเที่ยงแบบลับๆ’ ที่ทราบกันทั้งราชสำนักอังกฤษ กับลูกทั้งสี่ ได้แก่ เจ้าชายชาร์ลส์, เจ้าหญิงแอนน์, เจ้าชายแอนดรูว์ และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด จนทำให้รู้ว่า ลูกๆ ต่าง ‘หลงทาง’ ในทะเลทรายของตัวเองเช่นกัน ปัญหาแสนสาหัสของทายาทบัลลังก์อังกฤษทำให้ผู้เป็นแม่ทุกข์ใจและโทษตัวเองเป็นอย่างยิ่ง ที่อาจทำหน้าที่แม่ได้ไม่ดีพอ อย่างไรก็ตาม ‘ควีนมัม’ หรือ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี (Queen Elizabeth, The Queen Mother) ก็ปลอบใจลูกสาวให้เลิกโทษตัวเอง เพราะเธอเป็น ‘แม่ของประเทศอังกฤษ’ แล้ว

(3) แล้วชีวิตที่เรายอมทิ้งไปล่ะ? สตรีที่เรายอมทิ้งไป

But what about the life I put aside? The woman I put aside

เมื่อ The Crown นำผู้ชมเดินทางไปสำรวจชีวิตของควีนเอลิซาเบธที่ 2 มาจนถึงซีซัน 5 นับเป็นช่วงเวลาที่ราชวงศ์วินด์เซอร์ต่างต้องเผชิญ ‘วิกฤตแห่งศรัทธา’ อย่างรุนแรง เริ่มตั้งแต่ ตอนที่ 1: Queen Victoria Syndrome ด้วยการนำเสนอผลสำรวจคะแนนนิยมของพระราชินีที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ซันเดย์ไทม์ส (Sunday Times) ที่เห็นชัดเจนว่าความป๊อปปูลาร์ของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ตกลงอย่างเห็นได้ชัดเจน และความคิดเห็นเกือบครึ่งจากโพลนี้มองเห็นว่า ประมุขของประเทศล้าหลัง ไม่สำคัญ ตกยุค ไม่เชื่อมโยงกับช่วงเวลาปัจจุบัน หรูหราฟุ่มเฟือย หรือแม้กระทั่ง ‘แก่เกินไป’ และถึงเวลาที่จะต้องสละราชบัลลังก์แล้ว ตรงข้ามกับ ‘เจ้าชายชาร์ลส์’ (Prince Charles, The Prince of Wales)

รวมไปถึงเหตุการณ์สำคัญ ใน The Crown ซีซัน 5 ตอนที่ 4: Annus Horribilis ที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 เลือกใช้คำว่า ‘แอนนัส ฮอริบิลิส’ (Annus Horribilis) เป็นภาษาละตินที่มีความหมายว่า ‘ปีแห่งหายนะ’ ในโอกาสงานพิธีเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 40 ปี (Ruby Jubilee) ณ ห้องแสดงงานศิลปะกิลด์ฮอลล์ (Guildhall Art Gallery) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

การ ‘เลือก’ ใช้คำศัพท์นี้สร้างความประหลาดใจให้สื่อมวลชนทั่วโลกเป็นอย่างมาก เพราะนับเป็นครั้งแรกๆ ในรอบศตวรรษที่ราชวงศ์อังกฤษเปิดเผยความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา และยอมรับว่าสถาบันกษัตริย์กำลัง ‘อ่อนแอ’ หลังจากถูกสั่นคลอนอย่างไม่หยุดหย่อนด้วยเรื่องอื้อฉาวของสมาชิกราชวงศ์ตลอดกว่า 50 สัปดาห์อันโหดร้ายของปี 1992

เริ่มตั้งแต่ช่วงต้นปี 1992 เค้าลางความหายนะเริ่มปกคลุมพระราชวังบักกิงแฮม หลังจากเพิ่งผ่านพ้นวันแห่งความรักได้เพียงหนึ่งเดือน เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก (Prince Andrew, Duke of York) ตัดสินใจหย่าร้างกับ ซาราห์ เฟอร์กูสัน ดัชเชสแห่งยอร์ก (Sarah Ferguson, Duchess of York) อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 1992 นับเป็นการฉีกหน้าคริสตจักรอังกฤษครั้งสำคัญในยุคที่การหย่าร้างของสมาชิกราชวงศ์ยังเป็นเรื่องต้องห้าม แต่ข่าวฉาวไม่ได้จบลงไปพร้อมสถานะสมรสของทั้งคู่ เพราะตัวเจ้าชายและอดีตภรรยาต่าง ‘สร้างเรื่อง’ ไม่หยุดหย่อน

ห่างกันเพียงเดือนเดียว ในวันที่ 24 เมษายน 1992 พระราชวังบักกิงแฮมออกแถลงการณ์อีกครั้ง เกี่ยวกับการหย่าร้างอย่างเป็นทางการของ เจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารี (Princess Anne) และ มาร์ก ฟิลลิปส์ (Mark Phillips) พร้อมเปิดเผยรายละเอียดว่าทั้งคู่แยกกันอยู่สักพักแล้ว ก่อนที่เจ้าหญิงแอนน์จะแต่งงานใหม่ในวันที่ 12 ธันวาคม ปีเดียวกัน ทั้งที่อดีตสามียังมีชีวิตอยู่ แม้เรื่องราวของเจ้าหญิงแอนน์จะไม่อื้อฉาวเท่าดยุกแห่งยอร์ก แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่านี่คือ ‘ความล้มเหลวของชีวิตคู่’ ที่เกิดขึ้นกับทายาทของควีนเอลิซาเบธที่ 2

เรื่องอื้อฉาวได้เกิดขึ้น ‘ซ้ำ’ อีกครั้งในรั้วพระราชวังบักกิงแฮม เมื่อหนังสือ ‘Diana and Her True Story’ โดยนักเขียน แอนดรูว์ มอร์ตัน (Andrew Morton) วางจำหน่ายทั่วสหราชอาณาจักรในวันที่ 8 มิถุนายน 1992 และขึ้นแท่น ‘หนังสือสุดอื้อฉาว’ ที่ทำให้ชาวอังกฤษและคนทั่วโลกมองราชวงศ์วินด์เซอร์ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ในหนังสือ Diana and Her True Story เล่าเรื่องราวความขมขื่นของชีวิตคู่และชีวิตส่วนตัวของ ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (Diana, The Princess of Wales) ท่ามกลางสถานการณ์แสนอึดอัด อบอวลไปด้วยความเศร้าโศกและความทุกข์ทรมานยากเกินจะบรรยาย หลังจากเข้าพิธีเสกสมรสกับเจ้าชายชาร์ลส์ และการปฏิบัติตัวของสมาชิกราชวงศ์คนอื่นๆ ที่กำลัง ‘ฆ่า’ เธอให้ตายอย่างช้าๆ

ท้ายที่สุด พระราชวังบักกิงแฮมตัดสินใจออกแถลงการณ์ ประกาศสถานะ ‘แยกกันอยู่’ ของเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน แต่เรื่องอื้อฉาวไม่ได้จบลงเพียงเท่านั้น ยังมีประเด็นการคบชู้ระหว่างเจ้าชายชาร์ลส์กับคามิลลา พาร์เกอร์ โบลส์ (Camilla Parker Bowles) ที่ถูกกล่าวถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ระเบิดลูกสุดท้ายที่ไดอานาตัดสินใจโยนใส่พระราชวังบักกิงแฮม คือการไปออกรายการ Panorama พร้อมเปิดอกเล่าทุกเรื่องลับหลังรั้ววัง เมื่อปี 1995 นั่นก็คือ ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับเจ้าชายชาร์ลส์สิ้นสุดลง ต่อมาในเดือนสิงหาคม 1996 กระบวนการหย่าร้างของทั้งคู่จึงได้สิ้นสุดลง สร้างความอื้อฉาวอีกครั้งให้กับราชวงศ์วินด์เซอร์ เป็นประเด็นที่ทั่วทั้งโลกต่างให้ความสนใจตั้งแต่เริ่มจนจบ และเรื่องส่วนตัวของไดอานาก็ยังอยู่ท่ามกลางสปอตไลต์ตราบจนลมหายใจสุดท้ายของเธอ

จากเหตุการณ์ชีวิตสมรสของเหล่าลูกๆ ของควีนเอลิซาเบธที่ 2 พังไม่เป็นท่าตามๆ กันในช่วงเวลาไม่ถึงปี จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประมุขผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งมายาวนานตลอด 40 ปี ต้องยอมรับว่าในปี 1992 ไม่ใช่ปีที่จะมองย้อนกลับไปด้วยความยินดีอย่างหมดจด

นอกจากนี้ ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ยังกล่าวต่อว่า ไม่มีสถาบันใดสูงเกินคำตำหนิและในฐานะ ‘ผู้นำราชวงศ์’ ต้องยอมรับความผิดพลาดในอดีตที่สมาชิกในราชวงศ์ไม่สามารถอยู่ใน ‘มาตรฐานระดับสูง’ ได้ รวมถึงใช้โอกาสนี้กล่าวนับถือและขอบคุณคนในครอบครัววินด์เซอร์ที่เปรียบเป็น ‘ดวงอาทิตย์’ และ ‘น้ำ’ ให้เธอมาตลอด 4 ทศวรรษที่แบกรับน้ำหนักของมงกุฎนี้

อ้างอิง