Sapiens ในราคา 40 บาท! ‘มุมไบ’ เมืองที่เด็กๆ ขายหนังสือผิดกฎหมายกลางสี่แยก

3 Min
459 Views
24 Jun 2023

เราอาจคุ้นเคยกับภาพของเด็กขายพวงมาลัยตามสี่แยก ที่เมื่อไหร่ที่รถติดไฟแดงก็มักจะเห็นภาพเด็กๆ เหล่านี้วิ่งเข้ามาขายพวงมาลัยริมกระจก แต่หากคุณไปที่มุมไบ ประเทศอินเดีย แม้ว่าคุณอาจเห็นภาพของเด็กๆ เดินขายของตามสี่แยกไม่ต่างกัน ทว่าสิ่งที่เด็กๆ เหล่านั้นถืออยู่ในมือกลับไม่ใช่พวงมาลัยดอกไม้เหมือนบ้านเรา แต่กลับเป็น ‘หนังสือ’ ต่างหาก

ซึ่งหนังสือที่เราหมายถึงก็ไม่ใช่หนังสือมือสอง หรือหนังสือโนเนมแต่อย่างใด เพราะเด็กๆ เหล่านี้เดินขายหนังสือระดับ Best Seller เช่นนวนิยายอีโรติกชื่อดังอย่าง ‘Fifty Shades of Grey’ ของ E.L. James อัตชีวประวัติของผู้ก่อตั้ง Apple อย่าง ‘Steve Jobs’ ของ Walter Isaacson ไปจนถึงวรรณกรรมคลาสสิกอย่าง ‘The Alchemist’ ของ Paulo Coelho และ non-fiction ระดับซูเปอร์ฮิตอย่าง ‘Sapiens’ ของ Yuval Noah Harari คำถามคือ ทำไมเด็กๆ ที่มุมไบจึงมาขายหนังสือเหล่านี้ล่ะ แล้วหนังสือพวกนี้มาจากไหนกัน

ก่อนอื่นเลย เราต้องบอกว่า หนังสือที่เด็กๆ เหล่านี้เดินขายไม่ใช่ ‘ของแท้’ หรือพูดให้ชัดขึ้นคือ มันเป็นหนังสือ ‘ผิดลิขสิทธิ์’ นั่นล่ะ ซึ่งหากย้อนกลับไปในอดีตนั้น มุมไบถือเป็นเมืองหนึ่งที่เป็นที่รู้จักในฐานะเมืองที่รุ่มรวยในด้านงานเขียนและวรรณกรรม เพราะที่นี่เคยเต็มไปด้วยห้องสมุดและสมาคมทางวรรณกรรมมากมาย เพียงแต่หนังสือก็ยังเป็นสิ่งที่มีราคาสูง ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงมันได้ยาก กระทั่งในช่วงปี 1970s ที่อยู่ๆ อุตสาหกรรมผลิตหนังสือเถื่อนก็เริ่มเฟื่องฟูขึ้นในเมืองแห่งนี้

ในช่วงแรกๆ นั้น หนังสือที่ถูกผลิตขึ้นมายังไม่มีคุณภาพที่ดีสักเท่าไหร่ การเย็บเข้าเล่มก็ยังไม่ค่อยจะมีคุณภาพ แถมตัวอักษรบนหน้ากระดาษบางหน้าก็ยังเลือนๆ หายๆ อย่างไรก็ดี ประเภทของหนังสือเถื่อนที่ขายดีในช่วงเวลานั้นก็มักจะเป็นนวนิยาย หนังสือสอนทำอาหารจากอเมริกา ไปจนถึงหนังสือสอนตัดเย็บเสื้อผ้า กระทั่งในช่วงยุค 90s ที่อุตสาหกรรมผลิตหนังสือเถื่อนก็เริ่มหันมาหยิบจับหนังสือเบสต์เซลเลอร์กันมากขึ้น จนกลายเป็นตลาดหนังสือผิดลิขสิทธิ์ขนาดยักษ์ ที่ราคาของหนังสือแต่ละเล่มถูกกว่าราคาบนหน้าปกของมันกว่าครึ่งเลยทีเดียว!

หรืออย่างเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คาร์ก ร็อก (Kark Rock) ยูทูเบอร์สายนักเดินทางก็ได้ปล่อยคลิป ‘Inside a Book Black Market in India’ ซึ่งเขาพาไปสำรวจตลาดหนังสือเถื่อนในมุมไบ ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า ไม่เพียงแต่ตลาดหนังสือเถื่อนที่เมืองนี้จะมีหนังสือมากมายมหาศาลเท่านั้น แต่หลายเล่มก็ยังอัปเดตทันวงการ เพราะมีหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดเพียบ แถมราคาต่อเล่มยังแค่ 1.20 ดอลลาร์ หรือประมาณ 40 บาทเท่านั้น!

อย่างไรก็ดี ร็อกก็ได้ชี้ให้เห็นคุณภาพของหนังสือที่นี่ว่า ไม่ได้มีคุณภาพสูงสักเท่าไหร่ เพราะแม้ว่าจะมีหน้าปกเหมือนกับหนังสือลิขสิทธิ์เป๊ะๆ แต่หากลองดูใกล้ๆ จะพบว่า กระดาษที่ใช้ก็ไม่ได้มีคุณภาพนัก แถมตัวอักษรก็ยังไม่คมชัดและออกจะเบลอๆ หรือหนังสือบางเล่มก็มีจำนวนหน้าไม่ครบเสียอย่างนั้น เรียกได้ว่า เป็นความเสี่ยงที่มาพร้อมกับราคาที่ถูกแสนถูกก็ย่อมได้

พูดกันถึงเรื่องของเด็กๆ ที่ขายหนังสือกันบ้าง ในบทความ ‘The Book Boys of Mumbai’ ของ The New York Times เล่าว่า แม้ว่าในมุมไบจะมีเด็กๆ ที่เดินขายของริมถนนกันเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะบรรดาเครื่องประดับเล็กๆ แต่กับเด็กๆ ที่ขายหนังสือนั้นต่างออกไป เพราะบทความนี้อธิบายว่า ไม่ใช่ใครจะมีสิทธิ์ขายหนังสือก็ได้ เพราะมันจะมีการคัดเลือกอีกที ซึ่งเด็กๆ ที่ได้รับคัดเลือกให้ขายหนังสือก็มักจะเป็นบรรดาคนที่ขายเก่งกว่าคนอื่นๆ ด้วยความที่ราคาในการผลิตหนังสือแต่ละเล่มนั้นยังสูงกว่าเครื่องประดับนั่นเอง ขณะเดียวกัน เด็กๆ เหล่านี้ก็จะถูกควบคุมโดย ‘Seth’ ซึ่งเป็นเสมือนหัวหน้าที่คอยควบคุมอยู่อีกที โดยที่เด็กผู้ชายก็มักจะถูกเลือกมากกว่า เพราะมองว่า ผู้ชายเคลื่อนที่ได้รวดเร็วกว่าและถือหนังสือได้มากเล่มกว่านั่นเอง

อย่างไรก็ดี เรื่องเศร้าที่บทความนี้ชี้ให้เห็นคือ แม้ว่าเด็กๆ เหล่านี้จะคลุกคลีอยู่กับหนังสือทุกวันก็จริง ทว่าพวกเขาจะไม่มีโอกาสได้อ่านหรือกระทั่งเข้าใจคุณค่าของมัน เพราะแม้ว่าเด็กๆ จะสามารถอ่านชื่อหนังสือ บอกเล่าเรื่องย่อ หรือกระทั่งแนะนำหนังสือให้คนที่อยากจะซื้อได้ แต่พวกเขาก็ไม่สามารถอ่านมันได้อย่างเข้าใจทั้งเล่ม ทำให้หนังสือเหล่านี้แม้ว่าจะบรรจุความรู้ต่างๆ มากมาย หากท้ายที่สุดแล้วมันก็ไม่ต่างอะไรกับสินค้าอื่นๆ

เพราะในขณะที่คนนอกอย่างเรามองว่า ภาพของการขายหนังสือกลางสี่แยกในมุมไบดูน่าตื่นเต้นเพียงใด แต่กับเด็กๆ เหล่านี้กลับไม่มีอะไรพิเศษไปกว่าการขายของธรรมดาทั่วไปเท่านั้น

อ้างอิง