4 Min

“นอกจากขอบคุณ ต้องพูดขอโทษให้ชินปาก” 5 ภาษาขอโทษฝ่ายตรงข้ามให้ใจอ่อนอยู่หมัด

4 Min
1509 Views
20 Nov 2021

เมื่อสังคมเกิดเหตุผิดพลาดขึ้นจากระบบ และการบริหารงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การกล่าวขอโทษกับประชาชนน่าจะเป็นสิ่งแรกที่ควรกระทำ ก่อนจะตามมาด้วยการแสดงความรับผิดชอบต่างๆ แม้ว่าการมองหาโอกาส และประดิษฐ์คำขอโทษสักประโยคหนึ่งขึ้นมา เพื่อทำให้คนรู้สึกดีขึ้นจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันก็ยังเป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างที่สุด

เพราะความรู้สึกที่เจ็บปวดจะถูกบรรเทาให้ดีขึ้นด้วยคำขอโทษจากใจจริง แต่ก็ไม่ใช่ว่าความรู้สึกเจ็บปวดจะหายไปทั้งหมดเพราะมันขึ้นอยู่กับว่าคำขอโทษของเรานั้นมีประสิทธิภาพแค่ไหน เพราะการขอโทษนั้นก็มีหลายวิธีอีกเช่นกัน

ในงานวิจัยการเจรจาต่อรองและการจัดการความขัดแย้ง ได้เสนอว่า “คำขอโทษ” ของคุณจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นต้องมี 6 องค์ประกอบนี้

  • การแสดงออกของความเสียใจ
  • คำอธิบายสิ่งที่ได้ทำผิดพลาดไป
  • รับทราบและรับผิดชอบ
  • ประกาศกลับอกกลับใจ
  • เสนอวิธีการปรับปรุงแก้ไข
  • ขอให้อภัย

แต่ทั้งนี้ทาง ดร.เจนนิเฟอร์ โธมัส ประธาน TED และนักจิตวิทยา ได้ทำการวิจัยร่วมกับ ดร.แกรี่ แชปแมน ผู้แต่ง The 5 Love Languages ความลับสู่ความรักที่คงอยู่ด้วย “5 ภาษาขอโทษ” นั่นก็คือการแสดงความเสียใจ ยอมรับความรับผิดชอบ การชดใช้ความเสียหายอย่างแท้จริง กลับใจ และขอการให้อภัย

การขอโทษจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่าเราจะนำไปใช้กับคนประเภทไหน แต่บางคนไม่รู้จริงๆ จึงมักใช้คำว่า ฉันผิดฉันขอโทษ สูงถึง 77 % แต่ส่วนที่เหลืออีก 23 % กำลังรอที่จะได้ยินสิ่งที่เหลือตามที่ได้กล่าวไป

อย่างไรก็ตามการขอโทษต้องปรับใช้ให้เข้าและเหมาะสมกับคนที่คุณขอโทษ จะมีอะไรบ้างไปดูกัน!

ขอโทษแฟนหรือคนรัก
Amy Morin นักจิตอายุรเวทกล่าวว่า ความเข้าอกเข้าใจเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ ซึ่งในบางคู่เวลาทะเลาะกันชอบไม่พูดและไม่ปรับความเข้าใจกัน สุดท้ายเรื่องก็บานปลายออกไปถึงขั้นเลิกราได้เลย ดังนั้น การแสดงออกว่าเรารู้สึกเสียใจ อยากขอโทษเพื่อให้อีกฝ่ายให้อภัยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากที่จะรักษาความสัมพันธ์เอาไว้

ซึ่งการขอโทษคนรักเมื่อเรารู้สึกผิดไปแล้ว ไม่ควรกล่าวโทษผู้อื่นหรือพูดถึงสิ่งต่างๆ เช่น แทนที่จะบอกว่า “ฉันขอโทษที่เธอรู้สึกไม่ดี” ก็โทษตัวเองอย่างจริงใจไปเลยว่า “ฉันขอโทษที่ฉันพูดไม่ดีเลยทำให้เธอเสียใจ” เป็นต้น และเพื่อให้คำขอโทษมีประสิทธิภาพมากขึ้น โธมัสยังบอกด้วยว่าคุณต้องแสดงออกให้คนรักเห็นถึงความจริงใจต่อเธอและบอกให้เธอรู้ว่าคุณคิดถึงอนาคตข้างหน้าโดยมีเขาร่วมอยู่ด้วย

ขอโทษเพื่อนร่วมงาน
เมื่อพูดถึงอนาคตในการทำงาน แน่นอนว่าเพื่อนร่วมงานของคุณมีความสำคัญอย่างมาก เพราะหากเราเกิดขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานด้วยกันเอง นั่นอาจหมายถึงชีวิตการทำงานของคุณอาจไม่แฮปปี้สักเท่าไหร่

โธมัสกล่าวว่า ความไว้วางใจมีความสำคัญอย่างมากระหว่างเพื่อนร่วมงาน เพราะงั้นคุณต้องแสดงออกให้พวกเขารู้ว่าคุณไม่ได้เป็นศัตรู แต่เมื่อพลาดทำผิดต่อกันไปแล้วก็ควรจะขอโทษ

จากการวิจัย 40% ของคนส่วนใหญ่ต้องการได้ยินเราพูดว่า “ฉันผิด” ในขณะที่อีก 40% ของคนส่วนใหญ่อยากได้ยินเราพูดว่า “ฉันขอโทษ” ซึ่งถ้ารวมกันเป็น 80% จากร้อยนี้คุณก็จะรู้แล้วว่าคุณต้องทำอย่างไร และที่สำคัญที่สุดอย่าโทษหัวหน้า และสมาชิกในทีมคนอื่น ลองปล่อยให้อารมณ์ของคุณดีขึ้นเอง และในขณะนั้นต้องไม่ทำให้งานที่รับผิดชอบเสียหาย ตอนนี้หากมีปัญหากันอยู่เดินไปหาเขาที่โต๊ะทำงานกล่าวขอโทษคงดูไม่เสียหายอะไร

ขอโทษเพื่อนรัก
การขอโทษเพื่อนนั้นไม่จำเป็นต้องปั้นแต่งหรือประดิษฐ์คำพูดสวยหรูเพื่อให้มันอภัยเรา เพราะเพื่อนเป็นคนที่รู้เรื่องเกี่ยวกับเรามากที่สุด แค่แสดงออกว่าเรารู้สึกผิดอย่างจริงใจ และพร้อมที่จะแก้ไขไม่ให้เรื่องที่ทำผิดนั้นเกิดขึ้นอีกเพียงเท่านี้เอง

แต่ถ้าเรื่องนั้นมันแก้ไม่ได้จริงๆ แล้วล่ะก็ คุณเพียงแสดงให้มันเห็นว่าคุณเห็นคุณค่าของความเป็นเพื่อนนะ และคุณสามารถลงทุนทำอะไรบางอย่างได้เพื่อให้ความสัมพันธ์นี้ดีขึ้น เพราะจริงๆ เพื่อนก็แค่อยากรู้ว่าคุณทุ่มเทได้แค่ไหนเพื่อรักษามิตรภาพของเราไว้เช่นกัน

ขอโทษคนที่เด็กกว่า
สำหรับการขอโทษเด็กๆ แล้ว พวกเขาแค่อยากได้ยินในสิ่งต่างๆ ที่ผู้ใหญ่ทำ และเราสามารถใช้เวลานี้แหละสอนเด็กๆ ได้ การขอโทษเด็กอาจจะต้องใช้แบบจำลอง เช่น เมื่อคุณรู้สึกผิดและอยากขอโทษ คุณจะให้ดาวสีทองแก่เด็กเพราะคุณทำผิดต่อเขา แต่เมื่อเขาทำผิดเขาก็ต้องให้ดาวสีทองแก่คุณ นั่นอาจจะทำให้เขาไม่อยากเสียดาวให้คุณจึงเลือกที่จะไม่ทำผิดแทน

การแสดงออกว่าเราเสียใจเป็นกุญแจสำคัญเพื่อให้คำขอโทษมีประสิทธิภาพแก่เด็ก ต้องบอกความรู้สึกของตัวเองลงไปในคำพูด อย่างเช่น “ฉันรู้สึกเศร้าจริงๆ ที่ทำให้เธอผิดหวัง” เป็นต้น แล้วจากนั้นคุณก็ต้องบอกให้ชัดเจนว่าครั้งหน้าคุณจะทำให้ดีขึ้น จะไม่ทำผิดพลาดอีกในครั้งต่อไป เด็กจะได้เรียนรู้จากวิธีที่คุณขอโทษเขา และได้นำไปใช้เป็นแบบอย่างเมื่อเขาทำให้ใครเสียใจในอนาคต

ขอโทษพ่อแม่
จากอ้างอิงการศึกษาของโธมัส คนทั่วไปมักจะแก้ตัว 3 อย่างคือ กล่าวหาคนอื่น แก้ตัวและปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ พ่อแม่ไม่ได้ต้องการให้คุณเถียงหรือแก้ตัว แต่ต้องการแค่ความยอมรับผิดและจะไม่ทำผิดอีกในครั้งต่อไป
เช่น “ขอโทษที่ไม่ได้มากินข้าวกับครอบครัวทั้งๆ ที่บอกว่าจะมา และบอกว่ารับรู้แล้วว่าการกินข้าวกับครอบครัวสำคัญแค่ไหนสำหรับคุณ จากนั้นขอให้พ่อแม่ยกโทษให้กับสิ่งที่ทำผิดพลาดที่จะไม่เกิดขึ้นอีก” และยิ่งไปกว่านั้นคุณต้องให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเองในอนาคต เพื่อแสดงให้พ่อแม่เห็นว่าคุณรู้สึกผิดอย่างมากจริงๆ และกำลังปรับตัวอยู่ขณะนี้

ขอโทษพี่น้อง
การกล่าวขอโทษพี่น้องเมื่อคุณทำผิดนั่นแสดงให้เห็นว่าคุณเคารพซึ่งกันและกัน พี่น้องคือคนที่คุณเติบโตมาด้วยกันหากเกิดการทะเลาะหรือผิดใจเพราะคุณเป็นต้นเหตุ เมื่อรู้ตัวว่าตัวเองทำผิดไปแล้วการขอโทษไม่น่าใช่เรื่องยากหรือน่าอายอะไร เพราะความเป็นพี่น้องมักพร้อมจะปรับความเข้าใจกันอยู่แล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณแสดงความเสียใจออกมาอย่างจริงใจแค่ไหน เช่น “เมื่อรู้ว่าตัวเองผิด ทำให้พี่น้องได้รับความเสียหาย ก็กล่าวขอโทษและแสดงความรู้สึกของตัวเองออกไป ว่าฉันรู้สึกแย่นะ ไม่น่าเล่าเรื่องของคุณต่อหน้าคนอื่นเลย และกล่าวขอโทษอย่างจริงใจและบอกว่าจะไม่ทำอีก”