50 ปี ไฟว์สตาร์ฯ สตูดิโอที่อยู่เคียงข้างหนังไทยมากว่า 5 ทศวรรษ

2 Min
477 Views
08 May 2023

ตลอดระยะเวลา 50 ปี วงการหนังไทยมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ แต่ถึงกระนั้น ยังมี 1 สตูดิโอที่อยู่เคียงข้างวงการหนังไทยมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์อันยิ่งใหญ่เมื่อกล่าวถึงหนังไทยอยู่เสมอ นั่นก็คือ ‘ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น’ เจ้าของโลโก้ดาวห้าดวงบนลูกโลก อันเป็นโลโก้ที่ทุกคนคุ้นตานั่นเอง

ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2516 โดย เกียรติ เอี่ยมพึ่งพร โดยเริ่มต้นจากการเป็นผู้จัดจำหน่ายหนัง จนกระทั่งเขยิบเป็นผู้สร้างเองในช่วงหลังซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากฟิล์ม 16 มม. สู่การเป็นฟิล์ม 35 มม.

โดยยุคแรกเริ่มของไฟว์สตาร์ (หรือในชื่อ นิวไฟว์สตาร์ในยุคนั้น) นอกจากหนังผี หนังชีวิต ที่อยู่ในสมัยนิยมในยุคนั้นแล้ว ไฟว์สตาร์ยังเปิดโอกาสให้คนทำหนังได้ทดลองสิ่งใหม่ๆ จนเกิดหนังอย่าง เทวดาเดินดิน (2518) หนังแอ็กชั่นวัยรุ่นผลงานของ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ที่แสดงให้เห็นความเดือดดาลของวัยรุ่นที่มีต่อสังคม รวมไปถึงหนัง ขุนศึก (2519, สักกะ จารุจินดา) หนังเอพิกเรื่องยิ่งใหญ่ ที่ไฟว์สตาร์นำออกฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเป็นเรื่องแรกๆ ในยุคนั้น พร้อมกันนั้นยังมีหนังทำเงินในมือมากมายไม่ว่าจะเป็นหนังภาคต่อวัยอลวน อย่าง รักอุตลุด (2519, เปี๊ยก โปสเตอร์), ชื่นชุลมุน (2521, เปี๊ยก โปสเตอร์) รวมไปถึงหนังแจ้งเกิดดาวตลก เด่น-เด๋อ-เทพ เทพบุตรต๊ะติ๊งโหน่ง (2520, นิยม ตันติเวชกุล) ก็เป็นหนังที่ทำรายได้ให้กับไฟว์สตาร์อย่างมากในยุคนั้น

แต่หนังที่ได้รับการกล่าวถึงจวบจนปัจจุบันในช่วงยุคเริ่มต้นของไฟว์สตาร์ คือหนังสะท้อนสังคมสุดเข้มข้น นั่นคือ ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น (2520) ผลงานการกำกับโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล สะท้อนภาพความบอบช้ำของประชาชนรากหญ้าที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสังคม ที่เข้มข้นร้อนแรงจนได้รับการยกย่องจากนักดูหนังและนักวิจารณ์ให้เป็นหนังยอดเยี่ยมตลอดกาลอันดับต้นๆ

จากนั้นไฟว์สตาร์ก็เป็นสตูดิโอที่เดินทางคู่ขนานระหว่างหนังทำเงิน และหนังคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นหนังชุดบุญชูผู้น่ารัก (บัณฑิต ฤทธิ์ถกล) ที่สร้างสถิติใหม่ทางรายได้ทุกครั้งที่ออกฉาย, บ้านทรายทอง (2523, รุจน์ รณภพ) หนังสร้างจากนวนิยายอมตะที่ทำเงินมหาศาลในยุคนั้น พร้อมผลักดันเทรนด์หนังที่สร้างจากนวนิยายให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง รวมไปถึงการสร้างเทรนด์หนัง ‘กระโปรงบานขาสั้น’ จนกลายเป็นความนิยมในหมู่วัยรุ่นยุค 90s หรือหนังคุณภาพที่ยกระดับมาตรฐานหนังไทยในยุคนั้นผ่านงานจากผู้กำกับคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็น ยุทธนา มุกดาสนิท – น้ำพุ (2527) ผีเสื้อและดอกไม้ (2528), วิจิตร คุณาวุฒิ – คนภูเขา (2522) ลูกอีสาน (2525), บัณฑิต ฤทธิ์ถกล – ส.อ.ว.ห้อง 2 รุ่น 44 (2533) กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ (2537), เป็นเอก รัตนเรือง – ฝัน บ้า คาราโอเกะ (2540) มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2544), ก้องเกียรติ โขมศิริ – ไชยา (2550) เฉือน (2552), วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง – ฟ้าทะลายโจร (2543) เปนชู้กับผี (2549) รวมไปถึง พชร์ อานนท์ ที่เปิดจักรวาล ‘หอแต๋วแตก’ กับไฟว์สตาร์ เช่นกัน

จวบจนปัจจุบัน ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น ยังคงสร้างหนัง แม้หากเทียบจากปริมาณในยุคก่อนจะน้อยลง แต่ก็ยังถือเป็นสตูดิโอที่ยังคงมีผลงานให้ชมอยู่อย่างสม่ำเสมอ

นับเป็นโอกาสอันดีที่ในวาระครบรอบ 50 ปี หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้จัดกิจกรรมฉายหนังโดดเด่นในรอบ 50 ปี ตลอดทั้งเดือน พร้อมจัดการเสวนาถึงประวัติอันเรืองรองของไฟว์สตาร์ฯ ในวันที่ 13 พฤษภาคม นี้ อีกด้วย

ติดตามรายละเอียดได้ที่ : หอภาพยนตร์ Thai Film Archive