พะยูนไทยเสี่ยงสูญพันธุ์ เฉลี่ยตายปีละ 20 ตัว ปัจจุบันเหลือแค่ 200 ตัว

4 Min
2126 Views
27 Apr 2021

ในช่วงวันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา มีข่าวสิ่งแวดล้อมเล็กๆ ข่าวหนึ่งที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงกันมากนัก (เพราะโดนเรื่องโควิด-19 กลบไปเสียหมด) ว่าด้วยเรื่องการพบซากพะยูนตายในน่านน้ำไทยอีกหนึ่งตัว

ข่าวนี้มีความสำคัญอย่างไร ทำไมเราถึงยกเรื่องนี้ขึ้นมาบอกเล่า?

หากใครได้ติดตามข่าวสารสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด จะพบว่าตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา มีข่าวพะยูนตายเกิดขึ้นต่อเนื่องทุกเดือน รวมแล้วจากมกราคมถึงเมษายน มีพะยูนตายไปแล้ว 5 ตัวด้วยกัน

ถ้าเราลองมาคำนวณและคาดเดาอนาคตกันอย่างง่ายๆ 4 เดือน มีพะยูนตาย 5 ตัว หากอัตราการตายยังดำเนินในตัวเลขต่อไป ปีนี้อาจจะมีพะยูนตายทั้งหมด 15 ตัวก็เป็นได้

แม้จะบอกว่าเป็นการเดา แต่ก็มีความเป็นไปได้สูง เพราะหากมองย้อนสถิติที่ผ่านมา ทุกๆ ปีจะมีพะยูนในน่านน้ำบ้านเราตายไม่น้อยกว่า 10-20 ตัว!

ทำความรู้จักพะยูน

พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเล บรรพบุรุษของพะยูนเป็นญาติห่างๆ ของช้าง และเคยอยู่อาศัยบนบกเมื่อประมาณ 55 ล้านปีก่อน ก่อนวิวัฒนาการลงไปอยู่ในทะเล และเป็นเช่นนั้นมาถึงปัจจุบัน

อาหารโปรดของพะยูน คือ หญ้าทะเล ซึ่งในทางวิชาการกล่าวกันว่า ที่ไหนมีพะยูนที่นั่นจะมีระบบนิเวศหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์ นั่นก็เพราะในการกินแต่ละครั้ง พะยูนจะใช้ปากไถกินทั้งใบและลำต้นใต้ดิน ซึ่งเป็นการตัดแต่ง พรวนดิน ขุดต้นหญ้าชุดเก่าออกไป เปิดโอกาสให้ลำต้นใต้ดินชุดใหม่ได้แตกงอกออกมาทดแทน

รวมไปถึงยังช่วยกระจายเมล็ดหญ้าทะเล เหมือนที่สัตว์ในป่าช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ให้ระบบนิเวศ

เมื่อหญ้าทะเลเจริญงอกงาม สัตว์ทะเลอื่นๆ ก็ได้เข้ามาอาศัยใช้ประโยชน์ไปด้วยกัน ความอุดมสมบูรณ์ต่อชีวิตนานาก็ตามมา

ถึงที่สุด ท้องทะเลที่สมบูรณ์เพียบพร้อมยังหมายถึงประโยชน์ที่มนุษย์เราได้รับ ในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวชมความงามใต้น้ำ แลเห็นฝูงปลาแหวกว่าย ไปจนถึงเรื่องใหญ่อย่างการแก้ปัญหาโลกร้อน ที่มีงานวิจัยออกมาบอกว่า หญ้าทะเลเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนฯ ชั้นดี แถมยังจะดีกว่าป่าไม้อีกเสียด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ความอุดมสมบูรณ์ที่ธรรมชาติสร้างกำลังเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อพะยูนที่คอยอุ้มชูสมดุล กำลังเผชิญพบกับโศกนาฏกรรมอันแสนเศร้าต่อเนื่องเรื่อยมา

พะยูนขณะกินหญ้าทะเล

พะยูนขณะกินหญ้าทะเล l World Atlas

พะยูนตายเพราะอะไร

ความตายของพะยูนตัวที่ 5 ที่เกิดขึ้นในปีนี้ ยังไม่มีการระบุแน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด เช่นเดียวกับ 4 ตัวก่อนหน้านี้ หลังจากพบซากแล้ว ข่าวก็เงียบหายไป

ในอดีต ความตายของพะยูนนั้นเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ และส่วนใหญ่มีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวเนื่องแทบจะทุกเรื่อง

ตามระบบฐานข้อมูลกลางและมาตรฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า ร่างกายของพะยูนล้วนแต่เป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เกือบทั้งหมด

เมื่อก่อนเราเคยล่าพะยูนเพื่อเอาเนื้อมาเป็นอาหาร (บางแห่งเชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะ) ขณะเดียวกัน ชิ้นส่วนอื่นๆ ยังถูกนำมาแปรรูปเป็นวัตถุสร้างราคา ผสมโรงเข้ากับความเชื่อทางพิธีกรรมต่างๆ จนกลายเป็นของขลังที่คนกิเลสหนาหมายปอง

อาทิ เอาเขี้ยวมาทำปลัดขิก เอาฟันมาทำเครื่องราง เอาน้ำตาพะยูนมาทำยาเสน่ห์ ไปจนถึงความเชื่อทางยารักษาโรคที่เอาไขมันมาทำยาแก้ปวดเมื่อย และแก้พิษจากสัตว์ทะเล

ปัจจุบัน – ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้เก็บรวบรวมข้อมูลพะยูนเกยตื้นในประเทศไทย พบว่าสาเหตุของการเกยตื้นมากที่สุดมาจากการติดเครื่องมือประมงจำพวกอวนมากที่สุด ตามด้วยกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์

นอกจากนี้ การทำประมงแบบลาก ไถ หรือคราดไปตามพื้นทะเล เช่น อวนรุน อวนลาก ก็มีส่วนทำให้หญ้าทะเลแหล่งอาหารของพะยูนได้รับความเสียหาย กระทบไปถึงสมดุลของสัตว์น้ำอีกหลายชนิดที่อาศัยพื้นที่ตรงนั้นวางไข่และอนุบาลตัวอ่อน

พะยูนตาย

พะยูนตาย | earthtouchnews

ขณะที่การใช้ประโยชน์ในแง่ของแหล่งท่องเที่ยว ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้พะยูนต้องพบจุดจบก่อนวัยอันควร เช่น เรือท่องเที่ยวแล่นชนกับพะยูน

ซากพะยูนหลายตัวมีรอยฟกซ้ำจากการ “ชน” อย่างแรง ขณะที่อีกไม่น้อยพบบาดแผลฉกรรจ์บนร่างกาย มีทั้งที่เกิดจากใบพัดและสมอเรือ

และที่ลืมไม่ได้ คือปัญหา “ขยะพลาสติก” และ “ไมโครพลาสติก” ที่กำลังกลืนกินท้องทะเล มหาสมุทรไปทั่วทุกหนแห่ง จนนำไปสู่ความตายของ “มาเรียม”​ ลูกพะยูนหลงฝูงที่เคยเป็นไวรัลบนโซเชียลมีเดียอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ในข้อมูลของศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ยังอธิบายไว้อีกด้วยว่า สาเหตุการตายของพะยูนในปัจจุบัน ครึ่งหนึ่งเป็นการตายตามธรรมชาติ เช่น ถูกเงี่ยงปลากระเบนแทง ซึ่งคนเราไม่เกี่ยวข้องด้วย

มาเรียม

มาเรียม l ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีข้อมูลเปิดเผยว่า ปี 2020 มีพะยูนตายทั้งสิ้น 20 ตัว ส่วนปี 2019 มีพะยูนตาย 23 ตัว จากที่ก่อนหน้านั้น เฉลี่ยตายปีละประมาณ 10-15 ตัว ขณะที่ จำนวนประชากรพะยูนในไทยมีอยู่ประมาณ 200-240 ตัว

หากสถานการณ์ยังดำเนินไปเช่นนี้เรื่อยๆ ประชากรพะยูนในน่านน้ำไทยจะสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างเลี่ยงไม่ได้

แม้ข้อเท็จจริงประการหนึ่งจะบอกกับเราว่า สาเหตุที่ทำให้พะยูนตายในปัจจุบันมีทั้งที่เกิดขึ้นเพราะคนและสาเหตุตามธรรมชาติครึ่งต่อครึ่ง

แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าในอดีตมนุษย์มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้สายพันธุ์นี้เดินทางมาถึงจุดวิกฤติในวันนี้

เมื่อการตายในธรรมชาติเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว แต่ยังมีความสูญเสียจากคนมาสำทับเข้าอีกแรง ก็เหมือนการเร่งให้พะยูนเข้าใกล้ภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์เร็วยิ่งขึ้น

พะยูน

พะยูน | animaltheory

อนาคตยังมีหวัง?

ท่ามกลางความสูญเสียที่เกิดขึ้นเรื่อยมา ในกลางเดือนมีนาคม 2021 ครม.มีมติเห็นชอบ ประกาศมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในพื้นที่อำเภอปะเหลียน อำเภอหาดสำราญ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง

ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากความตายของลูกพะยูนที่ชื่อมาเรียม (หลังจากตายมาแล้ว 3 ปี)

ใจความสำคัญของการกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในหนนี้ จะนำไปสู่การจัดการและควบคุมในเรื่องต่างๆ อาทิเช่น ห้ามทำให้เกิดมลพิษและเททิ้งขยะที่มีผลทำให้คุณภาพชายหาดเสื่อมโทรม ห้ามกระทำการใดๆ ที่ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางธรณีสัณฐาน ห้ามไม่ให้มีสารปนเปื้อนจากการเดินเรือ การจอดเรือ การขนส่ง

ห้ามทำการประมงอวนปลากระเบนเบ็ดราไวย์ อวนชักหรืออวนทับตลิ่ง อวนล้อมหรืออวนล้อมหิน อวนถ่วงหมึกที่วางในแหล่งหญ้าทะเล หรือการทำประมงด้วยวิธีการอื่นใดที่เป็นอันตรายต่อพะยูน โลมา และเต่าทะเล

ห้ามการขุดลอกและการทิ้งดินตะกอนจากการขุดลอกที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือความเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นต้น

นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่นำไปสู่การอนุรักษ์พะยูน รวมถึงสัตว์ทะเลอื่นๆ

และหวังว่าจะมีการขยายการคุ้มครองไปยังพื้นที่อื่นๆ อีกในอนาคต

พะยูน

พะยูน | pxhere

อ้างอิง

  • กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. ข้อมูลทั่วไปของพะยูน. https://bit.ly/3x7hwHf
  • มติชน. ตัวที่ 5 ในรอบปี! พบซากพยูน ลอยตายกลางทะเล เกาะลันตา จ.กระบี่ เร่งหาสาเหตุ. https://bit.ly/3vgujpp
  • Workpoint today. ปี 62 พะยูนตายแล้ว 17 ตัว มากที่สุดเมื่อเทียบกับสถิติช่วง 12 ปีที่ผ่านมา. https://bit.ly/3mYLVmH
  • Thaigov. สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 16 มีนาคม 2564. https://bit.ly/38TI4Bv