4 Min

คนไทยอาจไม่ได้มีนิสัย ‘ชอบผ่อน’ แต่เพราะทางเลือกมีแค่นี้

4 Min
1147 Views
16 Feb 2023

อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ

ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากเป็นหนี้ แต่ข้อเท็จจริงคือ ไทยมีหนี้ครัวเรือนปี 2565 สูงถึง 89.3 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และส่วนหนึ่งก็มาจากภาระที่ต้องผ่อนอะไรหลายอย่างในชีวิต แต่การพูดว่าคนไทยชอบผ่อนก็อาจไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป เพราะบางคนผ่อนสินค้าเท่าที่จำเป็น ส่วนบางคนก็มองว่านี่คือการลงทุน แต่ถ้าย้อนไปดูนโยบายรัฐและสถาบันการเงินไทยในอดีตก็เห็นชัดว่ามีการสนับสนุนให้คนกู้ยืมมาตั้งแต่ 30-40 ปีที่แล้ว ทั้งยังทำในนามของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคด้วย จึงไม่แปลกที่คนไทยจะคุ้นเคยกับการผ่อนมานาน


ก่อนจะถึงวันที่คนในสื่อโซเชียลถกเถียงกันว่าคนไทยมีนิสัยชอบผ่อนจริงไหม เรามีหลักฐานที่ยืนยันว่าการผ่อนอยู่คู่คนไทยมาไม่น้อยกว่า 40 ปี ซึ่งคนยุค Gen Z เกิดไม่ทันแน่ๆ แต่คนยุค Gen X และ Gen Y น่าจะรู้จักเพลงราชาเงินผ่อนของวงดนตรีเพื่อชีวิตอย่างคาราบาวที่ออกมาตั้งแต่ปี 2527 หนึ่งในเพลงฮิตของอัลบั้มเมดอินไทยแลนด์

ถ้าย้อนกลับมาฟังในวันนี้ก็ถือว่าเพลงยังร่วมสมัยอยู่ เพราะท่อนหนึ่งของราชาเงินผ่อนบอกชัดว่าคนที่ซื้อข้าวของต่างๆ ในแบบเงินผ่อนเข้าใจดีว่าวิธีนี้มีดอกเบี้ยบานตะไทและที่จริงพวกเขาเองก็อยากจะใช้แต่สิ่งของจำเป็นแต่ถึงที่สุดแล้วคนที่เคยเจียมเพราะจนก็ต้องการความสุขและความผ่อนคลายในชีวิตไม่ต่างจากคนอื่นๆถ้าพวกเขาจะซื้อหาสิ่งของต่างๆด้วยเงินผ่อนก็เป็นสิทธิ์ที่พวกเขาจะทำได้

อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้เงินผ่อนเฟื่องฟูในยุคนั้น เป็นเพราะรัฐบาลไทยยุคหลังปี 2500 โดยเฉพาะในยุคของ พล..เปรม ติณสูลานนท์ เป็นต้นมา มีการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจและการลงทุนภาคอุตสาหกรรม แถมยังมีโครงการพัฒนาที่ดินผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด สิ่งที่ตามมาก็คือคนที่เคยทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรมจำนวนมากปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตมาทำงานในเมือง และเกิดการขยายตัวของชนชั้นกลางที่มีรายได้ประจำและมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น รัฐบาลยุคนั้นจึงกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคในครัวเรือนไปด้วย

แม้ว่าเวลาจะผ่านไปเกือบ 40 ปี จนนักร้องนำวงเพื่อชีวิตในตำนานกลายเป็นนายทุนไปเสียเอง แต่สภาพของราชาเงินผ่อนในยุคนั้นแทบจะไม่ต่างอะไรกับมนุษย์เงินผ่อนในยุคนี้ เพราะชีวิตคนทำงานจำนวนมากก็ยังเจอปัญหาเดิมๆ เหมือนเนื้อเพลงในอดีตคือทํางานทําเงิน ทําเกินเงินเดือน เศรษฐกิจคลาดเคลื่อน เงินเดือนไม่พอใช้แถมยังให้เราทํางานทําแลกเงินตรา แต่ต่อตีราคาตํ่ากว่าความเป็นไป

หรือล่าสุดก็มีกรณีที่มารี เบิร์นเนอร์นักแสดงหญิงลูกครึ่งไทยเยอรมัน แสดงความเห็นทางช่องยูทูบไม่กี่วันมานี้ โดยช่วงหนึ่งพูดถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนไทยว่าชอบผ่อนทั้งที่จริงๆ ควรจะรู้ว่าเงินต้นกับดอกเบี้ยที่ต้องผ่อนจ่ายในระยะยาวนั้นจะทำให้คนต้องจ่ายแพงกว่าราคาจริง ซึ่งมารีได้ยกตัวอย่างบ้านราคาหลัก 10 ล้านว่าถ้าจ่ายแบบผ่อน ราคารวมของบ้านอาจสูงถึง 20 ล้าน แต่การจ่ายเงินสดหรือโปะเงินก้อนจะทำให้จบภาระหนี้สินได้เร็ว แต่คนไทยกลับเลือกวิธีผ่อนจ่ายไปนานๆ 

คนที่ได้ฟังประโยคนี้ของมารีก็แคปหน้าจอและโควทคำพูดของเธอไปเผยแพร่ต่อในสื่อโซเชียลของไทย และกลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างหนัก เพราะบางคนก็มองว่า คนที่พูดแบบนี้ไม่เข้าใจความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราค่าแรง โอกาสทางอาชีพ ไปจนถึงภาวะเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ของประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้คนจำนวนมากไม่มีรายได้มากพอที่จะจ่ายเงินก้อนใหญ่เพื่อสินค้าที่มีราคาแพงหลักแสนหลักล้านได้

แน่นอนว่าคนที่เห็นด้วยกับมารีก็มี โดยมองว่า นักแสดงหญิงแค่ยกตัวอย่างผิดที่ไปพูดถึงบ้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่จำเป็นและมีราคาสูง แต่ที่จริงมารีน่าจะหมายถึงข้าวของเครื่องใช้ที่ไม่จำเป็น แต่หลายคนก็ยังสร้างหนี้สินด้วยการผ่อนสินค้าฟุ่มเฟือยเหล่านี้ เช่น โทรศัพท์มือถือรุ่นท็อป (ซึ่งบางทีก็อาจไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ) หรือเสื้อผ้ารองเท้ากระเป๋าแบรนด์เนม จนถึงการผ่อนรถหรูเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับตัวเองทั้งที่รายได้จริงอาจจะไม่ได้ถึงขั้นนั้น หรือพูดสั้นๆ ก็คือใช้เงินเกินตัว

แต่ก็มีหลายเสียงถกเถียงเพิ่มเติมว่า การผ่อนสำหรับบางคนถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง เหมือนกับเจ้าของธุรกิจที่ต้องกู้ยืมเงินมาลงทุนเช่นกัน แต่คนรายได้ปานกลางและรายได้น้อยอาจลงทุนกับสินค้าที่จะแปรไปเป็นทรัพย์สินในอนาคตได้ เหมือนโทรศัพท์รุ่นท็อปและของแบรนด์เนม ขณะที่การซื้อบ้านซื้อรถสำหรับบางคนคือการยกระดับคุณภาพชีวิต เพราะแม้จะผ่านไป 40 ปีจากยุคเพลงราชาเงินผ่อน ระบบขนส่งมวลชนที่สะดวกรวดเร็วก็ยังไม่ครอบคลุมจำนวนประชากรในย่านชานเมืองและต่างจังหวัด หรือต่อให้บางเส้นทางครอบคลุมแล้ว ค่าโดยสารก็ยังสูงจนบางคนมองว่าเอาเงินไปผ่อนรถยังจะคุ้มค่ากว่า

ยิ่งหันมามองสภาพรอบตัวในปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่ตกงานและเศรษฐกิจฝืดเคือง แต่กลุ่มทุนและภาครัฐก็ยังอิดออดเรื่องการชดเชยและการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะมองว่าจะทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นและกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม คนหาเช้ากินค่ำหรือมนุษย์เงินเดือนยุคนี้จึงแทบจะไม่ต่างอะไรกับยุคของราชาเงินผ่อนเมื่อ 4 ทศวรรษที่แล้ว

ประเด็นที่น่าคุยกันต่อจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า ทำไมคนไทยจึงเลือกจะผ่อนทั้งๆ ที่รู้ว่าดอกเบี้ยสูง แต่สิ่งที่ควรถามคือ เพราะอะไรสภาพความเป็นอยู่ของคนรายได้น้อยและรายได้ปานกลางถึงยังไม่มีทางเลือกอะไรมากนักเหมือนเดิม ไปจนถึงทำไมระบบที่ควรรองรับจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ปัญหาอยู่ที่คน หรือที่ระบบไม่เอื้อต่อการเติบโตของผู้คนกันแน่?

อ้างอิง

  • BOT. หนี้ครัวเรือน : ปัญหาที่ทุกคนต้องช่วยกันแก้. https://bit.ly/3YsH6DS
  • the101world. คาราบาว’s ‘เมดอินไทยแลนด์บทเพลงร่วมสมัยฉลองประเทศไทยในโลกที่สาม. https://bit.ly/3XqoKSP
  • Sanook. ทัวร์ลง! “มารี เบรินเนอร์หลุดพูดคนไทยชอบผ่อนชาวเน็ตสวนกลับเดือด. https://bit.ly/3lvGLSu