2 Min

#ทวงทางให้เท้าเดิน 4 องค์ประกอบยกระดับทางเท้า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

Select Paragraph To Read

  • 1. ขนาดของทางเท้าที่เหมาะสม
  • 2. คุณภาพของพื้นผิว
  • 3. ออกแบบให้ทุกคนใช้ได้
  • 4. มีป้ายบอกที่ชัดเจน

“ทางเท้า” ควรเป็นระบบขนส่งที่เข้าถึงง่าย และทุกคนสามารถเดินได้ แต่ทำไมเรามักจะเจอทางเท้าที่ไม่สมประกอบ ไร้คุณภาพ

ทั้งตัวอิฐตัวหนอนที่เรียงบิดเบี้ยวไปมา หรือแผ่นปูนที่พังแตกสลาย แม้จะมีการซ่อมแซมอยู่บ่อยๆ ก็ยังไม่ตอบโจทย์การใช้งาน บางครั้งกลับเพิ่มความลำบากในการเดินมากกว่าความสะดวกสบายด้วยซ้ำ

ซึ่งทางเท้าที่น่าเดิน และเดินดี ควรมีองค์ประกอบดังนี้

1. ขนาดของทางเท้าที่เหมาะสม

มาตรฐานทางเท้าที่ทางกรุงเทพฯ กำหนดนั้นแผ่นปูนซีเมนต์ต้องมีขนาด 30×30 และ 40×40 เซนติเมตร และกำหนดความหนาไว้ที่ 3.5 เซนติเมตร แต่เพราะความหนาที่บางมาก จึงรองรับน้ำหนักได้น้อย ทำให้น้ำที่ขังอยู่รอเวลากระเด็นออกมาเปื้อนเสมอ

มีพื้นที่สำหรับการเดินที่เพียงพอ ไม่แคบจนเกินไป ซึ่งมีความกว้างของทางเดินไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร นอกจากนั้นแยกพื้นที่สำหรับการติดตั้งเก้าอี้สาธารณะ หรือถังขยะให้ชัดเจน ไม่รบกวนทางเดิน และไม่ควรปล่อยให้มีหาบเร่แผงลอย หรือป้ายโฆษณาต่างๆ มากีดขวางการเดิน

หากกรณีที่มีสิ่งกีดขวางที่จำเป็นบนทางเท้าเช่น เสาไฟฟ้า ป้ายบอกทาง ตู้ไปรษณีย์ ตู้โทรศัพท์ หรือต้นไม้ก็ควรจัดให้อยู่ในแนวเดียวกัน และมีพื้นผิวต่างสัมผัสก่อนถึงสิ่งกีดขวางนั้น

2. คุณภาพของพื้นผิว

วัสดุที่ใช้ในการสร้างทางเท้าต้องมั่นคงแข็งแรง และทำด้วยวัสดุที่ป้องกันการลื่น
นอกจากนั้นควรเป็นวัสดุที่ถ้ารื้อมาซ่อมแซม จะสามารถนำกลับมาประกอบคืนได้สะดวกต่อการทำงาน เพราะส่วนใหญ่ทางเดินเท้ามักถูกขุดเจาะจากการระบบประปา ทำท่อระบายน้ำ

3. ออกแบบให้ทุกคนใช้ได้

ออกแบบให้ตอบสนองทุกการใช้งานของทุกสภาพร่างกายคนเดินเท้าทั้งหมด ไม่ว่าจะเด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ รวมถึงผู้พิการ ที่ควรให้ความสำคัญสำหรับทางลาด กับระบบกันลื่นมากเป็นพิเศษ เพื่อจะได้ขึ้น – ลงสะดวก และปลอดภัย

มีการดูแลรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงสร้างบรรยากาศให้น่าเดินด้วยต้นไม้ ให้มีร่มเงา เพื่อเพิ่มการดึงดูดให้คนอยากเดินมากขึ้น อีกทั้งมีความปลอดภัยทุกช่วงเวลา มีแสงสว่างเพียงพอทั้งในเวลากลางวัน และกลางคืน

4. มีป้ายบอกที่ชัดเจน

มีป้ายบอกข้อมูลที่ชัดเจน เข้าใจง่าย ระบุตำแหน่งที่ตั้งที่สามารถเดินถึงหรือมีรถโดยสารสาธารณะเข้าถึงด้วย จะได้สามารถจับทิศทางของตัวเองในการเดินทางเท้า และสามารถทำความเข้าใจกฎระเบียบ และข้อคำแนะนำในพื้นที่บนทางเท้า

อย่างไรก็ดี หาก “ทางเท้า” ประเทศไทยมีครบทุกองค์ประกอบอย่างที่กล่าวมา คงช่วยยกระดับคุณภาพทางเท้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นกว่านี้

โดยทุกคนสามารถเข้าร่วมจัดแสดงผลงานทางเท้าร่วมกันง่ายๆ เพียง

  1. เข้าเว็บไซต์ BrandThink หน้าเเคมเปญ #ทวงทางให้เท้าเดิน (https://www.brandthink.me/campaign/tuang-taang-hai-tao-dern)
  2. สมัคร (sign up) หรือ ล็อกอิน (login) เพื่อเข้าสู่ระบบ Creator ของ BrandThink
  3. กด Join the Campaign เพื่อร่วมแชร์ภาพทางเท้าเจ้าปัญหาที่คุณเจอ พร้อมตั้งชื่อภาพ ใส่พิกัดสถานที่ และเล่าเรื่องสั้นๆ ของทางเท้าที่คุณพบ

เพื่อส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำไปสู่เปลี่ยนแปลงแก้ไขทางเท้าเจ้าปัญหานี้

อ้างอิง:

  • สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร. หลักเกณฑ์และมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอานวยความสะดวกการขนส่งสาธารณะ เพื่อคนพิการ เด็ก และ ผู้สูงอายุ ของกระทรวงคมนาคม. https://bit.ly/3lnilWY
  • องค์การบริหารส่วนจังหวัด(pao). เกณฑ์ยกระดับทางเท้าเพื่อสร้างความคึกคักมีชีวิตชีวาให้กับเมือง .https://bit.ly/38LE4ms