เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐ ‘ขายข้อมูลประชาชน’ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ประโยชน์ ทนายย้ำ ‘ต้องสาวให้ถึงผู้บงการระดับสูง’
ปลายเดือนตุลาคม 2565 ตำรวจไซเบอร์แถลงว่า ตำรวจยศ ‘พ.ต.ท.’ และเจ้าหน้าที่กระทรวงของรัฐบาลไทยรวม 2 ราย ลักลอบนำข้อมูลส่วนตัวของประชาชนหลายรายไปขายให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เข้าข่าย ‘คนในทำเอง’ และล่าสุด ทนายตัวแทนประชาชนก็ยื่นเรื่องให้ตำรวจไซเบอร์ขยายผลตรวจสอบ ‘ข้าราชการระดับสูง’ ที่มีเบาะแสว่าสั่งให้เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยขายข้อมูลประชาชน โดยย้ำว่า ‘ต้องดำเนินคดี’ เพื่อให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษทางกฎหมาย
ก่อนหน้านี้ในวันที่ 28 ตุลาคม เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานอ้างอิงการแถลงข่าวที่จัดโดยกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.สอท.) ระบุว่า ตำรวจไซเบอร์ได้จับกุมเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ 16 ราย กลุ่มรับจ้างเปิดบัญชีม้า หรือบัญชีธนาคารปลอมเพื่อทำธุรกรรมโกงเงิน 8 ราย กลุ่มรวบรวมบัญชีม้าเพื่อส่งต่อให้นายทุนชาวจีน 1 ราย และกลุ่มที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลผู้เสียหายเพื่อนำไปใช้ในการหลอกลวง 2 ราย
โดยผู้รวบรวมข้อมูล 2 รายที่พูดถึงในข่าว คือตำรวจยศ พ.ต.ท.และเจ้าหน้าที่กระทรวง ซึ่งมีประวัติการเข้ารหัสไปดูฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรของผู้เสียหาย รวมถึงการเข้าระบบไปดูข้อมูลการจดทะเบียนการค้าของตราธุรกิจที่บ่งชี้ว่าเหยื่อรายใดรวยหรือมีทุนจดทะเบียนธุรกิจเป็นจำนวนมาก จากนั้นจึงนำข้อมูลไปขายให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และคาดว่ามีผู้เสียหายประมาณ 1,000 ราย
ข้อมูลของตำรวจไซเบอร์ยังระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 2 รายทำแบบนี้บ่อยครั้ง และมีรายได้จากการขายข้อมูลประชาชนคนไทยให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวจีนวันละ 20,000 บาท หรือตกเดือนละ 600,000 บาท ขณะที่ทางธนาคารพบการเคลื่อนไหวของเงินจากบัญชีม้าเข้ามายังบัญชีของผู้ต้องหา จึงประสานตำรวจเข้าตรวจสอบและนำไปสู่การจับกุมดังกล่าว
อย่างไรก็ดี The Reporters รายงานเพิ่มเติมในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 อ้างอิง ‘อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์’ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้เข้ายื่นหนังสือถึง สอท. ให้ดำเนินคดีกับดาบตำรวจ 2 นาย ซึ่งเกี่ยวพันกับการขายข้อมูลประชาชนให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์เช่นกัน หลังจากที่ผู้เสียหายได้ไปร้องต่อต้นสังกัดของตำรวจทั้ง 2 นาย ขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง แต่เรื่องไม่คืบหน้า
อัจฉริยะระบุว่า ผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งถูกคณะกรรมการลงมติว่า ‘ผิดวินัยไม่ร้ายแรง’ สั่งลงโทษกักขัง และอีกรายหนึ่งที่ให้การว่ามีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่สั่งให้ทำ และเขาต้องเข้าถึงข้อมูลวันละ 30 รายชื่อ ผลการสอบสวนยังไม่ทราบแน่ชัด เพราะไม่มีการรายงานผลกลับมายังผู้เสียหาย ทำให้อัจฉริยะนำเรื่องดังกล่าวมาร้องเรียนโดยตรงที่ สอท.
ทั้งนี้ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมย้ำว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตามกฎหมาย รวมถึงต้องขยายผลตรวจสอบ ‘ข้าราชการระดับสูง’ ที่มีคำสั่งให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาลักลอบนำข้อมูลทะเบียนราษฎรไปขายด้วย
อ้างอิง
- BangkokBizNews. งามไส้คนในทำเอง! จับ พ.ต.ท. – จนท.กระทรวง ขายข้อมูลคนไทยให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์. https://bit.ly/3DYMNC1
- The Reporter. ‘อัจฉริยะ’ ร้องตำรวจเอาผิด ตำรวจ – ทหาร ขโมยข้อมูล ปชช.ขายแก๊งคอลเซ็นเตอร์. https://bit.ly/3DQGKzl