งูคู่มีปีก VS งูตัวเดียว: ทำไมโลโกกระทรวงสาธารณสุขไทย ไม่เหมือนองค์การอนามัยโลก?
ในช่วงวิกฤตโควิด เราน่าจะได้เห็นทั้งองค์การอนามัยโลกและองค์การสาธารณสุขไทยมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งถ้าใครสังเกต เราจะพบว่าโลโกของทั้งสององค์กรนั้นคล้ายๆ กัน แต่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว เพราะโลโกองค์การอนามัยโลกเป็นงูตัวเดียวพันคทา แต่กระทรวงสาธารณสุขไทยโลโกเป็นงูพันคทาคู่ที่มีปีกด้วย
คำถามง่ายๆ เร็วๆ คือสองสิ่งนี้คือสิ่งเดียวกันหรือไม่? คำตอบเร็วๆ คือคนละสิ่งและจริงๆ มันเป็นเรื่องที่เล่าได้ด้วยหนังสือเป็นเล่มเลย แต่เราจะเล่าให้ฟังสั้นๆ
งูตัวเดียวพันคทา ชื่อสากลมันคือคทาของแอสคลีพิอัส (Rod of Asclepius) ซึ่งแอสคลีพิอัสคือเทพแห่งการรักษาของกรีก (เป็นลูกของเทพใหญ่อย่างอพอลโลอีกที) ซึ่งตำนานก็ว่าแอสคลีพิอัสมีลูกสาวอีก 5 คนซึ่ง 5 เทพธิดาที่ว่านี้ก็เป็นตัวแทนของแง่มุมของกิจกรรมทางการแพทย์ โดยบางคนก็เป็นรากศัพท์ของศัพท์ทางการแพทย์ที่เราใช้มาถึงปัจจุบัน เช่น ไฮจีอา (Hygieia) ก็เป็นที่มาของคำว่าความสะอาด (hygiene) หรือ พานาเซีย (Panacea) ก็กลายมาเป็นคอนเซ็ปต์ของ ‘ยารักษา’ สารพัดโรค
พูดง่ายๆ คนกรีกมีความเห็นแบบฉันทามติว่าแอสคลีพิอัส คือเทพแห่งการแพทย์ และก็มีทั้งรูปปั้นและวิหารเป็นหลักฐานทางโบราณคดีมากมาย และนี่เลยทำให้ทั้งยุโรปใช้คทาของแอสคลีพิอัสเป็นสัญลักษณ์แทนการแพทย์มาอย่างช้านาน และถ้าไปดูในทุกระดับเขาก็ใช้กันแบบนี้
แล้วงูสองตัวพันคทาแถมยังมีปีกล่ะ? สัญลักษณ์นี้เรียกว่า คทาคาดูเชียส (Caduceus) ซึ่งเป็นคทาของเทพเฮอร์เมส
ถ้าใครพอรู้ตำนานและวัฒนธรรมกรีก ก็คงจะพอรู้ว่าเทพเฮอร์เมสโดยพื้นฐานไม่ได้ถูกโยงว่าเกี่ยวอะไรกับการแพทย์เลย แต่จะเป็นเทพแห่งการสื่อสารและความว่องไว รวมถึงการค้า และนี่เป็นเหตุผลที่พวกพ่อค้าจะบูชาเทพเฮอร์เมสกัน
และในยุโรปการบูชาเฮอร์เมสของพวกพ่อค้าก็มีมายาวนานจนศาสนาคริสต์เข้ามามีอิทธิพลเหนือความเชื่อในยุคกลาง
ทีนี้แล้ว คทาคาดูเชียสที่เป็นสัญลักษณ์ของเฮอร์เมสมันกลายมาเป็นโลโกกระทรวงสาธารณสุขไทยได้อย่างไร ทำไมไม่ใช่คทาของแอสคลีพิอัสแบบที่อื่น? ถ้าไปสืบค้น โลโกนี้ใช้มาตั้งแต่การตั้งกระทรวงสาธารณสุขในปี 1918 ซึ่งถ้าไปดูรากฐานของกระทรวงสาธารณสุขไทย เราก็จะพบว่ามันเกิดจากการที่ขุนนางชาวไทยอย่างพระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิรยศิริ) ไปดูงานด้านการแพทย์ที่ฟิลิปปินส์ในปี 1912
ซึ่งพอไปสืบค้นต่อก็โป๊ะเชะเลย เราจะพบว่ากระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์ก็ใช้คทาคาดูเชียสเป็นโลโกเหมือนกระทรวงสาธารณสุขไทยเช่นกัน
ดังนันไทยน่าจะเอาการใช้คทาคาดูเชียสมาจากฟิลิปปินส์ แต่คำถามคือฟิลิปปินส์เอามาจากไหน? ถ้าไปค้น ก็จะพบว่าชาติตะวันตกที่วางรากฐานทางการแพทย์ให้ฟิลิปปินส์ต้นศตวรรษที่ 20 คือสหรัฐอเมริกา
ซึ่งถ้าไปค้นอีก เราก็จะพบว่าสมาคมแพทย์ในอเมริกาช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เคยใช้คทาคาดูเชียสเป็นโลโกจริง ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้คทาของแอสคลีพิอัสในปี 1912 และใช้มาถึงปัจจุบัน
หรือพูดง่ายๆ พวกสมาคมแพทย์อเมริกันเอาคทาคาดูเชียสไปเผยแพร่ให้ฟิลิปปินส์แล้วตัวเองก็เลิกใช้ โดยปีที่สมาคมอเมริกันเลิกใช้นั้นเป็นปีเดียวกับที่ขุนนางชาวไทยไปรับอิทธิพลด้านการแพทย์ของฟิลิปปินส์มา แล้วเอากลับมาตั้งกระทรวงสาธารณสุขในที่สุด
ทีนี้ คำถามต่อมา แล้วทำไมพวกอเมริกันถึงใช้ ‘คทาคาดูเชียส’ แต่แรก?
ถ้าย้อนไปดู พวกอเมริกานั้นเอา ‘คทาคาดูเชียส’ มาเป็นโลโกของพวก ‘หมอทหาร’ มาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 แล้ว และจริงๆ จนถึงทุกวันนี้หน่วยการแพทย์ทหารในอเมริกาก็ยังใช้ ‘คทาคาดูเชียส’ เป็นโลโกอยู่ หรือพูดง่ายๆ คือยังมีงูสองตัวและมีปีก และในขณะที่สมาคมแพทย์เปลี่ยนมาใช้งูตัวเดียวแล้ว
คำถามคือทำไม? จริงๆ นี่เป็นดีเบตยืดยาวที่ทางฝั่ง ‘หมอทหาร’ ก็ออกมาดีเฟนด์แบบชักแม่น้ำทั้ง 5 มากๆ ตั้งแต่ไปหาเกร็ดประวัติศาสตร์ว่าจริงๆ ในช่วงหลายร้อยปีก่อนก็มีหมอในยุโรปบางคนใช้ ‘คทาคาดูเชียส’ เป็นโลโก ไปจนถึงการพยายามพูดถึงเทพแห่งการแพทย์ยุคก่อนกรีกที่มีการใช้สิ่งที่คล้ายๆ ‘คทาคาดูเชียส’ หรือกระทั่งการเคลมว่าจริงๆ ดั้งเดิมเฮอร์เมสนั้นคือ ‘สัญลักษณ์ของความเป็นกลาง’ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่แพทย์ซึ่งเป็น ‘ผู้ต้องเป็นกลาง’ จะใช้สัญลักษณ์นี้
แต่ ‘ข้อเท็จจริง’ ก็คือในตอนที่หน่วยแพทย์ในกองทัพอเมริกันใช้ ‘คทาคาดูเชียส’ มาเป็นโลโก มันไม่มีที่ไหนในโลกเขาใช้โลโกนี้กัน ดังนั้นข้อสรุปจริงๆ แบบไม่ต้องแถอะไรก็คือ พวกอเมริกันใช้โลโกนี้แค่เพื่อจะให้ไม่เหมือนชาวบ้านน่ะแหละ มันไม่มีเหตุผลอายุเป็นพันกว่าปีอะไรทั้งนั้น
ซึ่งก็แน่นอน อย่างที่เล่า การใช้ประหลาดๆ นี้สุดท้ายสมาคมการแพทย์ของอเมริกันก็เลิกใช้ในที่สุด แต่ร่องรอยของโลโกนี้ก็ยังเหลือในองค์กรหัวแข็งอย่างหน่วยการแพทย์ทหารของอเมริกาที่ยังจะยืนยันใช้โลโกแบบเดิม และองค์กรด้านสาธารณสุขในประเทศอื่นๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากแพทย์อเมริกันในยุคที่ยังใช้ ‘คทาคาดูเชียส’ อยู่ เช่นกระทรวงสาธารณสุขของฟิลิปปินส์และไทย
และนี่แหละคือที่มาของงูสองตัวพร้อมปีกในฐานะโลโกทางการแพทย์ ซึ่งหาได้ไม่กี่ที่ในโลก
อ้างอิง
- Bernice S. Engle, The Classical Journal, Vol. 25, No. 3 (Dec., 1929), pp. 204-208
- กระทรวงสาธารณสุข. ประวัติกระทรวงสาธารณสุข. https://www.moph.go.th/index.php/about/moph
- Wikipedia. Rod of Asclepius. https://en.wikipedia.org/wiki/Rod_of_Asclepius
- Wikipedia. Asclepius. https://en.wikipedia.org/wiki/Asclepius
- Wikipedia. Medical Corps (United States Army). https://bit.ly/3HYtfNB
- Wikipedia. Department of Health (Philippines). https://bit.ly/3uXAfXg