“สอนลูกให้เข้าใจความเป็นมนุษย์ ผ่านการโอบรับทั้งอารมณ์ทางลบและทางบวก” By ตามใจนักจิตวิทยา

6 Min
1484 Views
05 Jul 2022

การเป็นพ่อแม่ที่ดี ไม่ได้แปลว่าห้ามแสดงอารมณ์ทางลบให้ลูกเห็น แต่ควรสอนลูกให้เข้าใจความเป็นมนุษย์

เราทุกคนต่างมีวันที่ดีและวันที่แย่ได้ด้วยกันทั้งนั้น แต่ในวันที่พ่อแม่อย่างเราเหนื่อยล้าทางกายใจ ทุกๆ อย่างประเดประดังเข้ามาไม่ขาดสาย แม้เราอยากจะวางทุกอย่างตรงหน้าทิ้งไว้ แล้วหนีไปพักผ่อนในที่ไกลแสนไกล
แต่ในความเป็นจริง พ่อแม่อย่างเราไม่สามารถทําเช่นนั้นได้ เพราะลูกต้องการเราตลอดเวลา

จึงไม่น่าแปลกใจที่การเลี้ยงลูกเป็นงานเหนื่อยแสนสาหัส ยิ่งในยามที่ลูกยังเล็กมาก ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และสื่อสารกับเราด้วยการร้องไห้เท่านั้น 

นอกจากความเหนื่อยจากการอดหลับอดนอน อดกินของที่อยากกิน อดดูแลตัวเองอย่างที่เคยแล้ว เรายังต้องเผชิญกับความสับสนและความกดดันทางอารมณ์จากทั้งตัวเองและคนรอบข้าง

ยิ่งเป็นพ่อแม่มือใหม่ เรายิ่งคาดหวังให้ตัวเราเป็นพ่อแม่ที่ดี

เมื่อทุกๆ อย่าง ผสมปนเปเข้าด้วยกันความเหนื่อย’ ‘ความเครียด’ ‘ความกังวล’ ‘ความกดดัน’ ‘ความเศร้า’ ‘ความหงุดหงิดฯลฯ แต่ละอารมณ์ไม่ได้เรียงคิวเข้ามาให้เราเผชิญ เพราะส่วนใหญ่อารมณ์เหล่านี้มักจะประเดประดังเข้ามาพร้อมกันในคราเดียว

เราทุกคนเป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่ง ต่อให้เปลี่ยนสถานะเป็นพ่อแม่แล้ว ก็ไม่ได้ทําให้เรากลายเป็นยอดมนุษย์แต่อย่างใด เราก็ยังคงเป็นมนุษย์คนหนึ่งเท่านั้นเอง

ดังนั้นในวันที่แย่มากๆ จนทําให้เราหมดแรงและยิ้มไม่ไหว เราจะหน้ายู่และเปียกปอนไปด้วยน้ําตาจากการร้องไห้ออกมาบ้างก็ไม่เป็นไร

 

ถามว่า พ่อแม่แสดงอารมณ์ทางลบออกมาต่อหน้าลูกได้ไหม?” 

คำตอบคือ ผลการวิจัยทางจิตวิทยาของ Karnilowicz และคณะ (2019) พบว่า ยิ่งพ่อแม่พยายามปกปิดอารมณ์ทางลบและเลือกที่จะแสดงอารมณ์ทางบวกให้ลูกเห็น เด็กๆ จะสัมผัสได้ถึงความผิดปกติเนื่องจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทางอารมณ์ของพ่อแม่ ทําให้พวกเขาค้นพบว่า พ่อแม่ไม่จริงใจต่อการแสดงอารมณ์ออกมาอยู่ดี เด็กๆ จะเกิดความสับสนว่าทําไมพ่อแม่ต้องทําเช่นนั้นด้วย ซึ่งอาจส่งผลต่อความไว้วางใจในพ่อแม่มากกว่าจะทําให้พวกเขารู้สึกดี

ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือ พ่อแม่ควรแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสมและตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะทางบวกหรือทางลบก็ตาม เช่น การยิ้มเมื่อมีความรู้สึกดีๆ การร้องไห้ออกมาเมื่อรู้สึกเศร้า และการบอกลูกตามตรงว่า ตอนนี้พ่อแม่รู้สึกโกรธมากๆ เพราะอะไร

นอกจากงานวิจัยดังกล่าวแล้ว เราพบว่า การที่พ่อแม่แสดงอารมณ์ทั้งทางบวกและทางลบออกมาให้ลูกเห็น ทําให้ลูกเกิดความเข้าใจในความเป็นมนุษย์มากขึ้น และโอบรับความรู้สึกทางลบของตัวเองได้ดีขึ้น เนื่องจากพ่อแม่ไม่ได้หลีกเลี่ยงอารมณ์ทางลบ และแสดงออกอย่างเหมาะสม เด็กๆ จึงมีแนวโน้มจะยอมรับในการแสดงออกทางความรู้สึก และเข้าใจตนเองมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้พวกเขารับมือกับอารมณ์และจัดการปัญหาได้ดีขึ้นอีกด้วย

 

ในทํานองเดียวกัน พ่อแม่ควรอนุญาตให้ลูกแสดงอารมณ์ทางลบได้ แต่สิ่งที่เราไม่อนุญาตคือการทําพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

เวลาเด็กๆ มีความสุข ดีใจ ชอบใจ สนุกสนาน ใบหน้าของพวกเขาอาจจะมีรอยยิ้มกว้าง
พวกเขาอาจจะหัวเราะอย่างเบิกบานใจ ผู้ใหญ่มักมองพฤติกรรมที่เด็กๆ แสดงออกมาเหล่านี้เป็นเรื่องปกติและยอมรับได้

ในทางกลับกัน เวลาที่เด็กๆ มีความเศร้า โกรธ ไม่พอใจ กลัว ใบหน้าของพวกเขาอาจจะเปลี่ยนเป็นบูดบึ้ง คิ้วขมวด

พวกเขาอาจจะโวยวาย ร้องไห้เงียบๆ ไปจนถึงร้องไห้โวยวายเสียงดัง ผู้ใหญ่กลับมองว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ดี และเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

ก่อนอื่น ผู้ใหญ่ควรทําความเข้าใจว่า เมื่อเด็กเกิดความรู้สึกเราควรอนุญาตให้เขารู้สึกและแสดงออกถึงความรู้สึกนั้นได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกดีหรือไม่ดีก็ตาม

 

ตัวอย่างการแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสม

เมื่อรู้สึกโกรธมากๆ จนไม่สามารถพูดคุยด้วยเหตุผลตอนนั้นได้ เราควรขอเวลานอกให้กับตัวเองและลูก เมื่อรู้สึกเศร้ามากๆ จนไม่สามารถอธิบายออกมาผ่านคําพูดได้ การร้องไห้ออกมาก็เป็นการระบายออกที่ดี และการโอบกอดตัวเองและลูก คือการปลอบประโลมที่ดีไม่แพ้กัน

เมื่อรู้สึกว่าทําด้วยตัวเองคนเดียวไม่ไหว การปฏิเสธ และการขอความช่วยเหลือคือสิ่งที่ทําได้ เมื่อรู้สึกหงุดหงิดและเริ่มพาลทุกสิ่งอย่าง การออกมาสูดอากาศ หรือร้องเพลงเสียงดังในห้องตัวเอง อาจจะช่วยระบายความหงุดหงิดออกมาได้เช่นกัน

ผลการวิจัยพบว่า พ่อแม่ที่สนับสนุนให้ลูกแสดงอารมณ์จะทําให้ลูกมีความสุขมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการที่เด็กสามารถแสดงอารมณ์ในครอบครัวของตัวเองได้ จะช่วยลดความเสี่ยงต่ออาการซึมเศร้าและความวิตกกังวล ส่งผลให้เด็กๆ เติบโตมาเป็นวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพจิตที่ดี (McKee et al, 2021)

เด็กๆ ที่เรียนรู้เรื่องของอารมณ์ทั้งทางลบและทางบวกจะสามารถพัฒนาจิตใจที่ละเอียดอ่อน และการตระหนักรู้เท่าทันความคิดของตนเอง ส่งผลให้มีการจัดการอารมณ์อย่างเหมาะสม ผลพลอยได้จากการดูแลใจตัวเองได้ดีคือใจที่เปิดกว้างเด็กๆ จะมีความใจดีกับตัวเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นผลพลอยได้ที่มีค่ามหาศาลต่อโลกใบนี้

ในทางกลับกัน สิ่งที่เราไม่อนุญาตให้ลูกทำ คือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมซึ่งพฤติกรรมเหล่านั้น ได้แก่ พฤติกรรมที่อาจจะทําให้ตัวเขาและผู้อื่นเดือดร้อน เช่น การทําผิดกฎ 3 ข้อ ได้แก่ 1. ไม่ทําร้ายตนเอง 2. ไม่ทําร้ายผู้อื่น และ 3. ไม่ทําลายข้าวของ

 

แนวทางในการรับมือกับอารมณ์ทางลบของลูกปฐมวัย

เวลาที่เด็กๆ มีอารมณ์ทางลบ ไม่ว่าจะเป็น เสียใจ โกรธ กลัว หรือ ไม่ชอบใจ ผู้ใหญ่ควรอนุญาตให้พวกเขาแสดงออกทางสีหน้า และท่าทางได้ โดยขอบเขตของการแสดงออก คือ ต้องไม่ผิดกฎ 3 ข้อ ได้แก่ ไม่ทําร้ายตัวเอง ไม่ทําร้ายผู้อื่น ไม่ทําลายสิ่งของ

ผู้ใหญ่ควรทําข้อตกลงและสอนเด็กๆ ล่วงหน้าก่อนเกิดเหตุการณ์ (ก่อนเกิดอารมณ์)

(1) ข้อตกลงของบ้านเรา คือ กฎ 3 ข้อ

(2) พ่อแม่ควรอนุญาตให้ลูกโกรธได้ เสียใจได้ ไม่พอใจได้ ร้องไห้ได้ แต่เราจะไม่ทําผิดกฎ 3 ข้อ หากลูกไม่พร้อม ลูกสามารถขอเวลานอกเพื่อไปที่มุมสงบ’ (calmdown corner) ได้ หรือถ้าลูกทําผิดกฎ 3 ข้อ พ่อแม่จะเข้าไปพาลูกออกมาจากบริเวณนั้น และไปที่มุมสงบด้วยกัน ข้อสําคัญคือ ผู้ใหญ่จะต้องรอให้เด็กพร้อม ไม่เร่งรัดให้เขาหยุดร้องไห้หรือหยุดโกรธ ระหว่างที่เด็กอยู่ที่จุดสงบ ผู้ใหญ่จะเคียงข้าง ไม่ทิ้งเขาไว้เพียงลําพัง

กอดวิเศษบางครั้งแค่เพียงการกอดลูกเอาไว้ จากที่โกรธเป็นฟืนเป็นไฟอาจจะค่อยๆ สงบลงช้าๆ ภายใต้อ้อมกอดแห่งรักจากพ่อแม่

(3) ‘มุมสงบคือ พื้นที่ปลอดภัยทางกายใจที่สามารถรองรับอารมณ์ทางลบของเด็กๆ ได้ โดยในพื้นที่ตรงนั้นอาจจะมีหมอนใบใหญ่ มีตุ๊กตาไว้กอด มีเต็นท์ หรือมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่เด็กสามารถระบายแรงของเขาและผ่อนคลายได้ พ่อแม่สามารถชักชวนให้ลูกมาจัดพื้นที่ตรงนี้ร่วมกันได้

ในความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ทุกคนควรอนุญาตให้ตัวเองมีอารมณ์ทางลบได้ และเวลาเกิดความรู้สึกเช่นนั้น ทุกคนควรมีพื้นที่ปลอดภัยที่สามารถระบายความรู้สึกไม่ดีออกมาได้

พ่อแม่สามารถขอเวลานอกได้เช่นเดียวกับลูก หากเรายังไม่พร้อมรับมือกับสถานการณ์ตรงหน้าได้

ในกรณีที่พ่อแม่ช่วยกันได้ ให้ผลัดกันไปสูดอากาศ สงบอารมณ์แล้วค่อยกลับมารับมือกับลูก เป็นสิ่งที่ควรทําที่สุด

ในกรณีที่พ่อแม่ต้องรับมือกับลูกเพียงลําพัง การลุกขึ้นยืนให้สายตาของเราทอดยาวออกไปจากเหตุการณ์ที่ระอุอยู่ตรงหน้า สูดลมหายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ

การสอนรอได้ แต่อารมณ์รอไม่ได้” – เราไม่จําเป็นต้องรีบร้อนรับมือกับลูกเดี๋ยวนั้น ไม่ต้องรีบพูดอะไร ใช้เวลาคิดทบทวนความรู้สึกและคำพูดให้ดีก่อน รอให้ลูกกับเราสงบค่อยพูดคุยเพื่อแก้ปัญหากัน เป็นสิ่งที่ควรทําที่สุด

 

แนวทางในการรับมือกับอารมณ์ทางลบของลูกวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ด้วยกันเอง หัวใจสําคัญคือ การเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงอารมณ์ให้แก่กันและกัน

(1) การเคียงข้าง

บางครั้งปัญหาบางอย่างแก้ไม่ได้ทันที และบ่อยครั้งอีกฝ่ายไม่ได้อยากให้เราช่วยแก้ปัญหา เพราะเขาต้องการคนเคียงข้างเพื่อให้ตัวเองมีแรงที่จะลุกขึ้นมาแก้ปัญหานั้นด้วยตัวเอง การเคียงข้างจึงสําคัญอย่างมาก การเคียงข้างที่ดีที่สุดคือ การอยู่ตรงนั้น และรับฟังอีกฝ่าย

(2) การรับฟัง

ฟังด้วยใจเป็นกลาง ไม่ตัดสิน ฟังอย่างตั้งใจ ไม่รีบตั้งคําถาม หรือด่วนสรุป ฟังเพราะอยากจะฟัง เพื่อรับรู้อารมณ์ของอีกฝ่าย และให้อีกฝ่ายได้ระบายออกอย่างเหมาะสมสุดท้าย ฟังอย่างจริงใจ หากไม่พร้อมฟัง บอกอีกฝ่ายได้ และการขอความช่วยเหลือจากคนกลาง คือสิ่งที่ทําได้ เช่น จิตแพทย์ และนักจิตวิทยา เพื่อให้เราและอีกฝ่ายไม่รู้สึกแย่ต่อกัน

(3) การปลอบประโลม

การกอด การสัมผัสอย่างอ่อนโยน หรือแม้กระทั่งการทําอาหารให้อีกฝ่ายกิน ทั้งหมดทั้งมวลถือเป็นการปลอบประโลมได้ทั้งสิ้น แม้ปัญหายังไม่ได้ถูกแก้ แต่การปลอบประโลมช่วยบรรเทาความหนักหนาของปัญหานั้นได้

สุดท้ายการเป็นพ่อแม่ที่ดี ไม่ได้แปลว่าเราห้ามแสดงอารมณ์ทางลบให้ลูกเห็น เพราะอารมณ์เป็นเพียงสภาวะชั่วคราว ไม่ได้คงอยู่ถาวร ดังนั้นเวลาที่รู้สึกแย่แล้วแสดงอารมณ์ทางลบออกมา ไม่ได้ทําให้เรากลายเป็นคนที่แย่ เราเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาเท่านั้นเอง แต่หัวใจสําคัญคือต้องแสดงออกอย่างเหมาะสม ประเมินตัวเองเสมอว่าไหวหรือไม่?’ ถ้าไม่ไหวให้ขอเวลานอกหรือหาทางออกอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการสร้างบาดแผลให้แก่กันและกัน

สิ่งที่สําคัญไปกว่านั้นคือ การสอนให้ลูกเข้าใจความเป็นมนุษย์และธรรมชาติของชีวิต
ผ่านการรับรู้ว่า เราสามารถมีวันที่รู้สึกดีและวันที่รู้สึกแย่ได้เช่นกัน 

ไม่ใช่ทุกวันจะมีแต่ความสุข ไม่ใช่ทุกวันที่จะมีแต่ความทุกข์ ไม่ใช่ทุกครั้งที่จะต้องสมหวัง และไม่ใช่ทุกครั้งที่จะต้องผิดหวัง ทุกๆ อย่างผ่านเข้ามาและต้องผ่านไป ขอเพียงเรารับรู้และเข้าใจ เราจะผ่านมันไปด้วยดี และเมื่อเราผ่านสิ่งเลวร้ายไปได้ เราจะเติบโตขึ้นในทุกๆ ครั้ง

อ้างอิง:

  • Karnilowicz, H R, Waters, S F, & Mendes, W B (2019) Not in front of the kids: Effects of parental suppression on socialization behaviors during cooperative parent–child interactions Emotion, 19(7), 1183
  • McKee, L G, Duprey, E B, & O’Neal, C W (2021) Emotion socialization and young adult internalizing symptoms: the roles of mindfulness and emotion regulation Mindfulness, 12(1), 53-60