สิ่งที่คุณอาจเข้าใจผิด เกี่ยวกับการ “เสียลิขสิทธิ์เพลง” ให้กับคู่อริของ Taylor Swift
เป็นเรื่องอีกครั้งเมื่อนักร้องสาวตัวท็อปของโลกปัจจุบันโพสต์โอดครวญการ “เสียลิขสิทธิ์” เพลงของตัวเองบน Tumblr (ดูได้ที่: https://taylorswift.tumblr.com/ โพสต์จะอยู่ทางซ้ายของหน้าจอ)
สำหรับผู้ไม่อยากอ่าน “ดราม่า” ละเอียด เรื่องย่อคือ Taylor Swift นั้นดั้งเดิมอยู่ค่ายเพลงเล็ก ๆ เธอเซ็นสัญญา “มอบเพลง” ให้กับทางค่ายตั้งแต่อายุ 15 ปี และออกอัลบั้มมาหลายอัลบั้มจนดัง พอดังแล้วเธอย้ายไปค่ายใหญ่ ซึ่งตอนนี้เธอมีเงินทองมากมายแล้ว เธออยากซื้อเพลงของเธอคืน ค่ายเก่าไม่ขายให้ แถมล่าสุดค่ายเก่าขายบริษัททิ้ง ขายให้ใครไม่ขาย ดันไปขายให้กับผู้จัดการของ Kanye West ซึ่งเป็นคู่อริของ Taylor Swift ผลคือมันทำให้ “เพลง” ของเธอไปอยู่ในมือของคู่อริ เธอเซ็งมาก แต่ทำอะไรไม่ได้ เลยต้องมาโพสต์ Tumblr ระบาย
นี่คือเรื่องราวทั้งหมดโดยย่อจาก Workpoint News อยากอ่านยาว ๆ ไปได้ที่: http://bit.ly/2Yv8XVa เขาจะเล่าอย่างละเอียด
แต่ประเด็นคือข้อมูลมันผิดนิดหน่อย โดยเฉพาะตรงพาดหัว เพราะ Taylor Swift ไม่ได้เสียสิทธิ์ในการร้อง “เพลงของตัวเอง” ไปแม้แต่นิด เธอแค่เสียสิทธิ์ในการเอา “เพลงของตัวเอง” ที่บันทึกเสียงมาไปใช้ประโยชน์เท่านั้น
ทำไมถึงเป็นแบบนี้? อันนี้เราต้องเข้าใจพื้นฐานด้านลิขสิทธิ์และมาตรฐานสัญญาของอุตสาหกรรมดนตรีก่อน
ในทางลิขสิทธิ์ เพลงหนึ่ง ๆ ที่เราฟัง ๆ กัน มันจะมีลิขสิทธิ์อยู่ 2 ส่วนใหญ่ ๆ ส่วนแรกคือบทประพันธ์เพลง ส่วนที่สองคือส่วนของงานบันทึกเสียง (เมืองไทยจะไม่ค่อยแยก 2 สิทธิ์นี้เท่าไร เพราะค่ายเพลงเอาไปหมด แต่เมืองนอกเขาจะแยกนะครับ สิทธิ์ส่วนแรกจะเป็นของนักแต่งเพลง สิทธิ์ส่งหลังจะเป็นของค่ายเพลง)
สิทธิ์เหนือบทประพันธุ์เพลงคือสิทธิ์เหนือ “บทเพลง” มันคือสิทธิ์ในการที่เราจะเอาบทเพลงไปเล่นที่ไหนก็ได้ฟรี ๆ และเรามีสิทธิ์จะอนุญาตให้ใครเล่น “บทเพลง” เรา หรือเก็บเงินคนที่เล่น “บทเพลง” เราก็ได้
ส่วนสิทธิ์ในส่วนของงานบันทึกเสียง ก็คือสิทธิ์เหนืองาน “เสียงเพลง” ที่เราในยินอัลบั้ม สิทธิ์นี้คือสิทธิ์ในการปั๊มอัลบั้มขาย สิทธิ์ในการเอา “เสียงเพลง” ไปขึ้น YouTube หรือ Spotify แล้วได้ “ค่าลิขสิทธิ์” รวมไปถึงสิทธิ์ในการเก็บเงินกับร้านอาหาร ผับ บาร์ ที่เอา “เสียงเพลง” ที่ว่าไปเปิดให้แขกฟังก็ได้
สิ่งที่ Taylor Swift เสียไปคือสิทธิ์เหนือ “เสียงเพลง” ในอัลบั้มเก่า ๆ ของเธอ ซึ่งสิทธิ์นี้ในทางเทคนิคเรียกว่า Master Recording Right นั่นหมายความว่าเธอไม่สามารถจะคุมไม่ให้คนเอาเพลงที่เธอได้อัดมาจนโด่งดังไปรีมิกซ์หรือปู้ยี้ปู้ยำใด ๆ ได้ เพราะมันไม่ใช่ทรัพย์สินของเธออีกแล้ว
แต่เธอไม่ได้เสียสิทธิ์เหนือ “บทเพลง” ในส่วนที่เธอแต่งมาแน่นอน นั่นหมายความว่าเธอก็ยังเอาเพลงเก่า ๆ ของเธอมาเล่นตอนแสดงสดได้อยู่ ไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ ไม่ต้องขออนุญาตใคร
อันนี้คือสิ่งที่เราต้องเข้าใจก่อน จะว่ากันต่อไปนะครับ ทีนี้ทำไมมันเป็นแบบนี้? คำตอบก็คือ ในมาตรฐานสัญญากับค่ายเพลงของโลกตะวันตก “ศิลปิน” ยังไงก็ต้องเสียสิทธิ์เหนือ “บทเพลง” ให้กับค่ายอยู่แล้ว ด้วยเหตุผลที่เข้าใจได้บนตรรกะของบริษัทปกติเลยว่า ถ้าคุณเป็นลูกจ้างของบริษัท งานที่คุณทำมาให้กับบริษัท มันก็ย่อมเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท
ดังนั้นจะมาอ้างว่าคุณผลิตงานมาเองด้วยน้ำมือคุณ มันก็ต้องเป็นของคุณ มันก็ต้องถามกลับว่า “แล้วบริษัทจะได้อะไร?” ซึ่งคนทำงานปกติเขาไม่ถามคำถามแบบนี้กัน มันเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ว่าบริษัทให้เงินคุณมา คุณก็ต้องผลิตอะไรให้บริษัท พูดง่าย ๆ คือคุณก็ต้อง “สร้างสินค้า” อะไรให้บริษัทขาย” ซึ่งเคสของพวกนักดนตรีที่อยู่กับค่ายเพลง สิ่งที่พวกเขาผลิตให้บริษัทขายคือ “เสียงดนตรี” หรืองานบันทึกเสียง
อันนี้เป็นมาตรฐานสัญญาปกติ บริษัทดนตรีหรือค่ายเพลง “ลงทุน” ในตัว “ศิลปิน” มันก็ต้องมีสินค้าอะไรที่บริษัทคุมได้เต็มที่ ใช้ได้เต็มที่บ้างเพื่อตอบแทนการลงทุน และสิ่งที่ว่าก็คือ “เสียงดนตรี”
และที่อยากให้สังเกตคือ สัญญามาตรฐานของโลก นักดนตรีเขาไม่เซ็นมอบ “บทเพลง” ให้บริษัทนะครับ และ Taylor Swift ก็เช่นกัน เพราะทำแบบนี้มันจะเล่นเพลงที่แต่งเองมาได้โดยอิสระไม่ได้ พูดง่าย ๆ คือถ้าดันเซ็นมอบ “บทเพลง” ให้บริษัทไป ถ้าออกจากบริษัทแล้ว เอาเพลงที่ตัวเองแต่งเองไปเล่นไม่ได้นี่ชีวิตยุ่งเลย เพราะนักดนตรีตกอับทุกคนก็ล้วนหากินโดยเอาเพลงเก่า ๆ ของตัวเองไปเล่นแทบทั้งนั้น
ในแง่นี้ Taylor Swift อาจมองว่าตัวเอง “พลาด” ไป แต่ประเด็นคือมันแทบไม่มีบริษัทอะไรหรอกครับที่จะไม่บังคับนักดนตรีให้เซ็นมอบ “เสียงเพลง” ให้บริษัท มันเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมกันทั้งโลก นักดนตรีใหญ่โตแค่ไหนก็โดนแบบนี้ทั้งนั้น และนี่เลยเป็นเหตุผลให้นักดนตรีใหญ่ ๆ บางคนออกมาตั้งค่ายเพลงเองเพื่อให้ตัวเองไม่เสีย “เสียงเพลง” ไปให้ผู้อื่น
Taylor Swift ดูจะเปรยว่ามัน “ไม่แฟร์” แต่ในความเป็นจริง ถึงเธอจะแต่ง “บทเพลง” มาเองเป็นส่วนใหญ่ แต่สิ่งที่ประกอบกันเป็น “เสียงเพลง” ในอัลบั้มของเธอมันไม่ใช่ผลงานของเธอคนเดียวนะครับ เธออาจจะร้องเพลง หรือเล่นเครื่องดนตรีบางชิ้น แต่ในความเป็นจริง ทางค่ายเพลงก็ต้องว่าจ้างนักดนตรีคนอื่น ๆ มาบันทึกเสียง จ้างซาวน์เอ็นจิเนียร์มามิกซ์และมาสเตอร์เสียง ไปจนถึงจ่ายค่าห้องอัดให้ นี่ยังไม่ต้องนับว่าค่ายก็ต้องจ่ายเงินให้โปรดิวเซอร์มาดูแลความเรียบร้อยในการผลิตโดยรวมอีก
กระบวนการ “กว่าจะมาเป็นเสียงเพลง” นี้ Taylor Swift ไม่ได้เสียเงินสักแดงนะครับ ทางค่ายเพลง “ลงทุน” ให้ทั้งนั้น และอย่าคิดว่าต้นทุนมันจะถูก ๆ นะครับ สมัยนี้อันเสียงแบบดิจิทัลมันถูกกว่าสมัยก่อนที่อัดแบบอนาล็อกจริง แต่ห้องอัดคุณภาพดี ๆ ราคาก็ไม่ได้ใช่น้อย และการจ้างซาวน์เอ็นจิเนียร์มือดี ๆ มามิกซ์เสียงให้ มันไม่ใช่ถูก และ “เพลงดี ๆ” ที่เราฟัง ๆ กันลื่นหู มันเป็นผลผลิตของโปรดักชั่นส่วนนี้ไปซะเยอะเลย มันไม่ใช่แค่ “บทเพลง” ที่กลั่นมาจากหัวศิลปิน แต่มันคือเทคนิคการอัดเสียง การแต่งเสียง ที่ไม่ใช่ใครก็ทำได้
ซึ่งถ้าเราจะพูดแรง ๆ เราจะบอกก็ได้ว่าเวลา Taylor Swift เคลมว่า “เสียงเพลง” ในอัลบั้มเก่า ๆ เป็นของเธอ 100 เปอร์เซ็นต์ เธอกำลังไม่เห็นหัวเหล่า “คนเบื้องหลัง” พวกนี้ทั้งหมด เพราะพวกเขาก็มีส่วนในการสร้างสรรค์งาน “ของเธอ” ออกมาทั้งนั้น
ตรงนี้จะเรียกว่าเป็น “นิสัยเสีย” ของพวกนักดนตรีใหญ่ ๆ ก็ได้ที่ชอบมองว่าเพลงเป็นของตัวเองหมดในทุกมิติ ซึ่งคนในแวดวงอื่น ๆ มันจะอีกแบบ เช่น ในกรณีของแวดวงภาพยนตร์ ทั่ว ๆ ไปผู้กำกับก็ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นเจ้าของผลงานสร้างสรรค์ทั้งหมด และก็จะให้เครดิตว่างานมาได้ขนาดนี้ส่วนหนึ่งเป็นฝีมือของคนเขียนบท ช่างภาพ มือตัดต่อ ฯลฯ ด้วย ก็ว่าไป
หรือถ้าจะเทียบ นักดนตรีจำนวนมาก ทำราวกับว่าการที่ตัวเอง “เขียนบท” (แต่ง “บทเพลง”) และ “แสดงนำ” (บันทึก “เสียงร้อง) มันจะทำให้ตนเองควรจะเป็นเจ้าของภาพยนตร์ทั้งเรื่อง (งานบันทึกเสียง) โดยอัตโนมัติ ซึ่งคิดแบบนี้มันตลกถ้าเทียบกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ ที่เขายอมรับกันทั้งนั้นว่ากว่างานจะออกมาได้ มันต้องช่วยกัน “สร้างสรรค์” หลายฝ่าย มันไม่ใช่ผลงานของใครคนหนึ่งในกระบวนการแม้ว่าคน ๆ นั้นจะทำงานมากที่สุดหรือเด่นที่สุด
***บทความนี้เป็นเพียงมุมมองของผู้เขียนเท่านั้น