3 Min

นักอนุรักษ์ชุบชีวิต ‘แทสเมเนียนเดวิล’ สำเร็จ แต่พวกมันอาจฆ่าเพนกวินสีน้ำเงินจนหมดเกาะ

3 Min
1344 Views
07 Jul 2021

Select Paragraph To Read

  • การกลับมาของแทสเมเนียนเดวิล
  • เพนกวินสีน้ำเงินที่น่าสงสาร

รู้จักตัวแทสเมเนียนเดวิลกันไหมครับ ?

ถ้าใครเคยผ่านวัยหวานมากับยุค 90s ก็คงพอจะคุ้นชื่อสิ่งนี้จากคาแรคเตอร์ในสังกัดลูนนี่ตูนส์กันมาบ้าง (ถึงแม้ว่าภาพจำจะไม่ค่อยเหมือนตัวจริงก็เถอะ)

ส่วนใครจะไม่รู้จักก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร 

เพราะเจ้าสิ่งมีชีวิตที่ชื่อแทสเมเนียนเดวิลเคยได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติมาแล้วครั้งหนึ่ง

แต่ก็ยังมีเรื่องโชคดีอยู่บ้าง ที่มนุษย์เราสามารถเก็บสายพันธุ์ที่เหลือรอดมาประคบประหงมฟูมฟักได้ก่อนที่มันจะล้มหายตายจากไปทั้งหมด และพยายามขยายพันธุ์ใหม่จนสำเร็จลุล่วงกันแล้วในระดับหนึ่ง

นั่นหมายความว่า แทสเมเนียนเดวิลสามารถโกงความตาย และกลับมาอยู่ในรายชื่อสิ่งมีชีวิตที่ยังมีลมหายใจบนโลกใบนี้ได้อีกครั้ง

แต่ความสำเร็จที่ได้มา ดูเหมือนจะมีราคาที่ต้องจ่าย และต้องแลกกับสิ่งชีวิตอื่นอยู่พอสมควรทีเดียว

แทสเมเนียนเดวิลเป็นสัตว์ที่ออกลูกได้มากถึงคราวละสิบตัว แต่มักจะรอดน้อย เพราะแม่มีนมแค่ 4 เต้า | INSIDER

การกลับมาของแทสเมเนียนเดวิล

ก่อนจะเข้าเส้นเรื่องหลัก ต้องเท้าความถึงสาเหตุที่ทำให้แทสเมเนียนเดวิลสูญพันธุ์สักนิด

ชะตากรรมแทสเมเนียนเดวิลถึงคราวสิ้นสุดด้วยไวรัสมะเร็งชนิดใหม่ที่เกิดขึ้นกับสัตว์ ทำให้เกิดเนื้องอกอัปลักษณ์ขึ้นตามใบหน้าและร่างกาย และสามารถติดต่อได้ผ่านบาดแผล 

แต่ที่แย่กว่านั้น ไวรัสยังสามารถติดต่อได้ผ่านการมีเซ็กส์ ซึ่งทำให้รุ่นลูกที่เกิดมามีโอกาสติดเชื้อและอยู่เพื่อรอวันตายเพียงอย่างเดียว

ในด้านการช่วยเหลือ เราสามารถเซฟแทสเมเนียนเดวิลไว้ได้ด้วยการนำมาเลี้ยงในกรงและสวนสัตว์ที่ปลอดโรค แต่โจทย์ที่ใหญ่กว่าคือต้องทำให้พวกมันสามารถกลับไปใช้ชีวิตอยู่อิสระ กลางป่าเขาได้อีกครั้ง

งานในขั้นนี้ นักอนุรักษ์ได้พาแทสเมเนียนเดวิลไปปล่อยไว้บนเกาะเล็กๆ ที่ชื่อมาเรียเพื่อดูว่ารุ่นลูกรุ่นหลานที่มีคนคอยเป็นพี่เลี้ยงจะสามารถเอาชีวิตรอดและสืบพันธุ์กันกลางป่าได้หรือไม่ 

น่ายินดีว่า จากจำนวน 28 ตัวที่ลองปล่อยไปตอนแรก ผ่านมา 5 ปี เจ้าพวกแทสเมเนียนเดวิลก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 100 ตัว มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีอาการของโรคเก่าแต่อย่างใด 

สรุปได้ว่า ความหวังในการชุบชีวิตแทสเมเนียนเดวิลก้าวหน้าขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง

เพนกวินสีน้ำเงิน เป็นนกแพนกวินที่มีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาเพนกวินทั้งหมด l jjharrison.com.au/

เพนกวินสีน้ำเงินที่น่าสงสาร

แต่ในขณะที่แทสเมเนียนเดวิลเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เรากลับพบว่าเพนกวินสีน้ำเงินที่อาศัยอยู่บนเกาะมาเรียได้หายไปถึง 6,000 ตัว

สาเหตุนั้นชัดเจนว่า ถูกเจ้าพวกแทสเมเนียนเดวิลนี่ล่ะไล่ฆ่า 

เดิมเพนกวินสีน้ำเงิน หรือที่เรียกกันว่าลิตเติ้ลแพนกวินเคยอยู่กันสุขสบายบนเกาะ จะมีอันตรายบ้างก็จากหมาแมวที่คนเลี้ยง แต่ก็ไม่เคยตายอย่างโศกนาฏกรรมเช่นนี้มาก่อน 

ความที่แทสเมเนียนเดวิลไม่ใช่สัตว์ของเกาะ และอยู่ดีๆ ก็โผล่มา พวกเพนกวินเลยปรับตัวให้เข้ากับภัยใหม่ไม่ทัน กลายเป็นอาหารของสัตว์กินเนื้อที่หิวกระหายนี้ไปโดยปริยาย

แต่ถึงเพนกวินสีน้ำเงินจะถูกฆ่าไปเยอะก็ยังไม่ถึงขั้นสูญพันธุ์ เพนกวินกลุ่มนี้ค่อนข้างมีอยู่มาก และก็อาศัยอยู่อีกหลายเกาะทั่วออสเตรเลีย ต่อให้ถูกฆ่าหมดเกาะ ก็ยังมีเพนกวินสีน้ำเงินเหลืออยู่บนเกาะอื่นๆ อยู่ดี

แต่หากมองตามความเหมาะสม การปล่อยให้แทสเมเนียนเดวิลที่ไม่เคยมีมาก่อนเข้ามาอาศัยและฆ่าสัตว์พื้นเมืองบนเกาะย่อมไม่ใช่เรื่องเข้าท่า เพราะอาจทำให้ระบบนิเวศบนเกาะเสียหาย 

แถมยังพบด้วยว่าแทสเมเนียนเดวิลกลุ่มนี้ ยังทำตัววุ่นวายไม่ต่างจากคาแรคเตอร์ในลูนนี่ตูนส์ เที่ยวระรานสัตว์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นไข่ของนกทะเล ห่าน หรือไก่พื้นเมืองของเกาะ

บทจะลงเอยอีหรอบเดียวกับที่ออสเตรเลีย เพราะนิวซีแลนด์เคยปวดหัวกับเรื่องแมวจรจัดไล่ฆ่านกพื้นเมือง

ตอนนี้เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้เอาตัวแทสเมเนียนเดวิลออกไปจากเกาะ เพราะรู้แน่แล้วว่ามันอยู่รอดได้ ปลอดโรค แถมยังแข็งแรงไล่ฆ่าสัตว์อื่นๆ เป็นว่าเล่น 

แต่ฝ่ายอนุรักษ์แทสเมเนียนเดวิลก็ยังนิ่งๆ อยู่ เพราะเป้าของทีมนี้ ก็ต้องการตัวสัตว์ที่แข็งแรง และการปล่อยให้พวกมันอยู่บนเกาะมาเรีย ก็ดูปลอดภัยกว่าการเอาไปปล่อยบนเกาะแทสเมเนียนที่เป็นต้นกำเนิดสายพันธุ์และอาจมีไวรัสหลงเหลือในธรรมชาติมากกว่าเป็นไหนๆ

ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าแผนแก้ไขปัญหาจะเป็นอย่างไร และนำไปสู่อะไร จะสำเร็จได้โดยสามารถอนุรักษ์สัตว์ได้ทั้งสองชนิดหรือท้ายสุดจะกลายเป็นได้อย่างก็ต้องเสียอย่างจนเหลือสัตว์เพียงชนิดเดียว 

อ้างอิง

  • CNN. Tasmanian devils born on Australian mainland for first time in 3,000 years. https://cnn.it/3hqq2dp
  • Live Science. Tasmanian devils wipe out colony of little penguins in major conservation backfire. https://bit.ly/3ydMtcx