รู้มั้ย ชนชาติที่ “วิ่งอึด” ที่สุดในโลกไม่ใช่ Kenya แต่เป็น Tarahumara

4 Min
484 Views
17 Nov 2021

การทำลายสถิติการวิ่งมาราธอนให้จบภายใน 2 ชั่วโมง ของ Eliud Kipchoke ยอดนักวิ่งมาราธอนชาวเคนยาก็ดูจะเป็นการตอกย้ำว่าความคิดที่ว่าชนชาติที่ดูจะ “วิ่งอึด” ที่สุดในโลกก็ดูจะเป็นคนแถบแอฟริกาตะวันออกอย่าง Kenya และ Ethiopia เพราะมันก็เป็นความจริงที่ว่าถ้าไปดูสถิติการวิ่งมาราธอนในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ก็มีแต่คนสองชาตินี้แหละที่ได้แชมป์

ซึ่งมันก็ถึงกับมีงานศึกษาในทางวิทยาศาสตร์มาเลยว่าอะไรทำให้คนสองชาตินี้ถึงได้เป็นแชมป์วิ่งมาราธอนกันได้ขนาดนี้ และคำอธิบายก็มีตั้งแต่ปัจจัยทางพันธุกรรมไปจนถึงเงื่อนไขทางสังคมและเศรษฐกิจ (หากสนใจ อ่านได้ที่ http://bit.ly/2VJ3adQ)

แต่อันที่จริงในโลกนี้การแข่งขันการ “วิ่งระยะไกล” ก็ไม่ได้มีแต่มาราธอน เพราะมันยังมีสิ่งที่เรียกว่าอุลตร้ามาราธอนอยู่ ซึ่งการแข่งอุลตร้ามาราธอนนี้ก็ทำให้ระยะทางการวิ่ง 42 กิโลเมตรกว่า ๆ ของการแข่งวิ่งมาราธอนแทบจะเป็นการวิ่งระยะสั้นไปเลยเพราะ อุลตร้ามาราธอนปกติคือวิ่งกันหลายร้อยกิโลเมตร (มีหลายระยะไม่ได้มี “มาตรฐานเดียว” แบบมาราธอน) และวิ่งกัน “ทั้งวัน” เป็นปกติ ไม่ได้จบภายในไม่กี่ชั่วโมงแบบมาราธอน นี่ยังไม่นับว่าการแช่งหลาย ๆ รายการผู้เข้าแข่งก็ต้องขึ้นเขาลงห้วยกันปกติ ไม่ได้วิ่งถนนเรียบ ๆ เป็นหลักแบบมาราธอน

และถ้าไปดูแชมป์อุลตร้ามาราธอนในระยะต่าง ๆ เราจะเห็นเลยว่า แชมป์มีหลากหลายสัญชาติ แต่ในนั้นไม่มีคนจากแอฟริกาเลย

แต่ที่น่าสนใจคือ ชนชาติที่เรียกว่าเป็น “ตำนาน” ของอุลตร้ามาราธอนคือกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกว่า Tarahumara ซึ่งเป็นชนเผ่าเล็ก ๆ ที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในหุบเขา Copper Valley ในเม็กซิโก

ชนชาตินี้ ไม่ค่อยติดต่อกับโลกภายนอกนัก แต่นาน ๆ ที่ถ้ามีคนจากชนชาตินี้ไปแข่งอุลตร้ามาราธอนก็แทบจะเรียกได้ว่ากวาดแชมป์ตลอด เรียกได้ว่ายิ่งแข่งระยะไกลเท่าไร ชนชาตินี้ก็ยิ่งโอกาสชนะสูง

พูดง่าย ๆ ชนชาตินี้คือตำนานของการวิ่งระยะไกลผู้ลึกลับ อยากไปแข่งกับชนชาตินี้ต้องไปแข่งในรายการ Ultramaratón de los Cañones ซึ่งเป็นการแข่งวิ่งขึ้นเขาลงห้วยรวม 100 กิโลเมตรใกล้บ้านเกิดของคน Tarahumara แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีใครเอาชนะชาว Tarahumara ได้เลยในการแข่งนี้ แต่เอาจริง ๆ การแข่งวิ่งกันระดับ 200-400 กิโลเมตรที่อื่น ๆ ถ้ามีชาว Tarahumara ไปลงแข่ง ก็แทบจะเรียกว่ายังไงก็ได้แชมป์เช่นกัน

แล้วอะไรคือความลับของชาว Tarahumara ที่ทำให้พวกเขาวิ่งได้อึดแบบนี้? คำตอบคือเรื่องวัฒนธรรมล้วน ๆ เพราะพวกเขาคือชนชาติที่ “เอะอะอะไรก็วิ่ง” คือวิ่งกันจนเป็นวิถีชีวิต โดยไม่ได้มีรองเท้าดี ๆ กันด้วย เพราะพวกเขาก็ใส่รองเท้าแตะยางพื้นเรียบวิ่งกัน และทำมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เรียกได้ว่าตอนคนตะวันตก “ค้นพบ” ทวีปอเมริกา ก็พบว่าพวกเขาวิ่งกันอยู่แล้ว โดยจริง ๆ พวกเขาเรียกตัวเองในภาษาพื้นเมืองว่า Rarámuri ซึ่งน่าจะแปลไทยได้ว่า “ผู้วิ่งเร็วปานสายฟ้า”

ว่ากันว่าการที่ชาว Tarahumara ไปอยู่กลางหุบเขาลึกที่ถนนตัดไม่ถึงนั้นเกิดจากการล่าถอยจากการล่าอาณานิคมของคนสเปนในอดีต พูดง่าย ๆ คือพวกเขาไม่มีอาวุธสู้ได้ แต่พอดีฝีเท้าไว ก็เลยวิ่งไหนไปหาถิ่นพำนักที่พวกเจ้าอาณานิคมไม่มีปัญญาจะตามมาได้

อีกสิ่งที่น่าสนใจคือ คน Tarahumara ก็ไม่ได้ดูมี “หุ่นนักวิ่ง” แบบคน Kenya และ Ethiopia ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะอาหารของพวกเขาแทบจะเต็มไปด้วยแป้ง น้ำตาล และแอลกอฮอล์ เนื้อสัตว์แทบไม่มี ซึ่งถ้านักโภชนาการมาดูอาหารก็คงจะไม่แปลกใจเพราะกินแบบนี้ “จะเอาอะไรมาผอม”

แต่ในทางกลับกัน ก็เคยมีแพทย์ลงไปศึกษาคนเหล่านี้ในปี 1971 แต่ก็ต้องอึ้งกับผลการศึกษาเพราะว่าคนพวกนี้ไม่เป็นโรคหัวใจเลย คลอเลสเตอรอลก็ต่ำ และ ความดันโลหิตก็ต่ำ ซึ่งทั้งหมดก็น่าจะเป็นผลของการวิ่งกันแบบหูดับตับไหม้ในวิถีชีวิต

ซึ่งก็ไม่แปลกโดยทั่วไป คน Tarahumara ที่ผู้ใหญ่ร่างกายแข็งแรงทุกคนก็น่าจะวิ่งกัน 100 กิโลเมตรกันได้แบบขำ ๆ กันหมด เรียกได้ว่าอายุ 50 ก็ยังวิ่งกันได้ขนาดนี้เป็นปกติ และก็ว่ากันว่าความสามารถแบบนี้ก็เป็นทักษะที่สืบทอดมาจากอดีตสมัยที่ชาว Tarahumara ยังเข้าป่าล่าสัตว์ เพราะจากที่มีบันทึกมาชาว Tarahumara เวลาล่าสัตว์จะใช้วิธีวิ่งไล่สัตว์จนสัตว์หมดแรง และไม่สามารถจะเป็นอะไรไปได้นอกจากอาหาร

อ่านมาถึงตรงนี้ก็คงจะสงสัยว่าวิ่งอึดขนาดนี้ ทำไมชาว Tarahumara ไปลงแข่งวิ่งมาราธอน? คำตอบคือ จริง ๆ ชาว Tarahumara เคยลงแข่งเป็นตัวแทนทีมชาติเม็กซิโกในโอลิมปิกในปี 1928 และปี 1968 แต่ก็คว้าชัยชนะมาไม่ได้ โดยหลัก ๆ แล้วเหตุที่แพ้ก็เพราะ “ระยะทางมันสั้นเกินไป” ถ้าจะว่าตามปากคำของชาว Tarahumara ผู้เคยไปลงแข่ง

ซึ่งตรงนี้ก็ไม่แปลกนัก เพราะวิ่งแต่ละระยะก็ย่อมใช้ความเร็วต่างกัน และมีร่างกายที่เหมาะกับการวิ่งที่ต่างกัน และชาว Tarahumara ที่เป็นนักวิ่งที่เน้นอึด วิ่งกันได้ 200-300 กิโลเมตรกันปกติ ถ้าไปลงแข่งวิ่งมาราธอนที่ยาวแค่ 42 กิโลเมตรกว่า ๆ ก็อาจจะคล้าย ๆ เอาแชมป์วิ่งมาราธอนไปลงแข่งวิ่ง 400 เมตร หรือ 100 เมตร ซึ่งก็ไม่น่าจะชนะ เพราะมันต้องการความเร็วในการวิ่ง ไปจนถึงร่างกายที่ต่างกัน

แม้ว่าชาว Tarahumara จะไม่ได้เป็นที่รู้จักกันของชาวโลกในฐานะ “ชนชาติแชมป์วิ่ง” แบบคน Kenya หรือ Ethiopia แต่ก็เคยมีนักเขียนสารคดีชาวอเมริกัน Chris McDougall เคยไปบันทึกเรื่องราวการวิ่งของพวกเขาแล้วเขียนหนังสือออกมาชื่อ Born to Run: A Hidden Tribe, Superathletes, and the Greatest Race the World Has Never Seen ในปี 2009 และหนังสือก็ดังเป็นพลุแตกระดับนานาชาติ ส่งผลให้เกิดกระแสการ “วิ่งเท้าเปล่า” ขึ้นในโลก ไปจนถึงการทำให้เกิดดีไซน์รองเท้าวิ่งแนวใหม่ ๆ ที่พื้นเรียบมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะก็อย่างที่บอก “นักวิ่งที่อึดที่สุดในโลก” จากหุบเขาเร้นลับในเม็กซิโกกลุ่มนี้ ไม่ได้ต้องการอะไรในการวิ่งนอกจากรองเท้าแตะยางแบบโทรม ๆ

สุดท้าย เรื่องราวของชาว Tarahumara นั้นอาจไม่ใช่เรื่องที่เป็น “ข่าว” เด่นดังได้แบบที่ Eliud Kipchoke วิ่งมาราธอนได้จบใน 2 ช.ม. แต่ข้อเท็จจริงของการดำรงอยู่ของพวกเขาก็ดูจะชวนให้เราอึ้งกว่าการทำลายสถิติของ Kipchoke

เพราะชนเผ่าเล็ก ๆ ที่มีประชากรแค่ราว ๆ 20,000 กว่าคนนี้ ทุกคนที่เป็นผู้ใหญ่สามารถวิ่ง 100 กิโลเมตรได้ชิล ๆ โดยไม่ต้องกินอาหารถูกหลักโภชนาการนักกีฬา ไม่ต้องมีรองเท้ากีฬาดี ๆ ใส่ รวมถึงไม่ต้อง “ฝึกซ้อม” ด้วยในการที่จะทำแบบนั้นได้

พวกเขาก็แค่ “วิ่ง” กันจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้นเอง

อ้างอิง