5 Min

‘อาการปวดหลัง’ กำลังจะกลายเป็นภัยสุขภาพเรื้อรัง คุยกับคุณหมอชัยเดช เจาะต้นตอปัญหาปวดหลัง

5 Min
1042 Views
20 Dec 2021

Select Paragraph To Read

  • ปวดหลัง = ภัยสุขภาพ?
  • เพราะเราปวดหลังด้วยท่านั่งของเราเอง แล้วเราควรนั่งยังไง?
  • ปวดหลังอาจรุนแรงกว่าที่คิด ถ้าเกิดอาการขึ้นกับกระดูกสันหลัง
  • อย่ามองข้ามความปวดหลัง!

คุณปวดหลังรึเปล่า? เชื่อว่าคำตอบของมนุษย์ทำงานกว่าครึ่งจะตอบอย่างพร้อมเพรียงว่า ปวด!

ชีวิตการทำงานที่นั่งหน้าคอมพิวเตอร์หลายวัน วันละหลายชั่วโมง นั้นส่งผลต่อกล้ามเนื้อไปจนถึงกระดูกสันหลังของเราได้จริง จนทำให้ออฟฟิศซินโดรมกลายเป็นอาการฮิตที่วัยทำงานหลายคนต้องเผชิญ

โดย ‘ออฟฟิศซินโดรม’ ที่เราเรียกกันจนคุ้นปาก ถึงแม้จะไม่ใช่ศัพท์ทางการแพทย์ แต่โดยทั่วไปแล้วออฟฟิศซินโดรมจะรวมถึงโรคกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง อาจเป็นบริเวณกระดูกสันหลัง ต้นคอ บ่า สะบักและก็บริเวณบั้นเอว บางคนก็ลงไปถึงบริเวณก้นหรือสะโพกด้านหลัง บางคนปวดมานานเป็นปีจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต

เพราะเชื่อว่าการปวดหลังจากการทำงานเป็นเรื่องจริงจังและไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ BrandThink จึงชวนมาคุยกับคุณหมอ ชัยเดช สระสมบูรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากแผนก ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล (Bangkok International Hospital) เพื่อให้เราเข้าใจว่าปวดหลังมันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ!

ปวดหลัง = ภัยสุขภาพ?

“มันจะเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะอาการปวดหลังที่มนุษย์ออฟฟิศเป็นกันอยู่ทุกวันนี้ แม้ส่วนมากจะเป็นแค่อาการปวดจากกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นอักเสบธรรมดา แต่ลองนึกดูว่าถ้าคนรุ่นใหม่ที่อายุ 20-30 ปี เริ่มมีอาการปวดหลังตั้งแต่ปัจจุบัน ตอนนี้อาจจะยังไม่เป็นปัญหาอะไรมาก แต่ถ้ายังต้องนั่งทำงานแบบเดิมไปจนถึงอายุ 40-50 รับรองว่ามีปัญหาแน่นอน
และจะแย่กว่าคนที่อายุ 50 ในตอนนี้เสียอีก เพราะคนรุ่นใหม่โตมากับคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ ทำให้มีการใช้งานกระดูกคอและกระดูกสันหลังมากกว่าคนรุ่นก่อนๆมาก” คุณหมอชัยเดช ชี้ให้เห็นชัดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ จริงๆ

“ตัวเลขคนปวดหลังมันก็เพิ่มมากขึ้นอย่างค่อนข้างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงโควิดที่คนใช้งานคอมพิวเตอร์กันมากขึ้น”

เพราะว่ากล้ามเนื้อของคนเราถูกสร้างมาให้ขยับ และการทำงานที่บ้านมักสร้างพฤติกรรมให้เราขยับตัวน้อยยิ่งกว่าเดิมซึ่งผิดกับธรรมชาติของร่างกาย แต่ทำไมการอยู่นิ่งๆ ที่น่าจะสบายถึงทำให้ปวดได้ คุณหมออธิบายว่าการที่อยู่เฉย ๆ มันทำให้เส้นใยกล้ามเนื้อยึดตึง พอยึดตึงก็เกิดอาการปวด เวลาคนเป็นออฟฟิศซินโดรมไปนวดมันจะมีก้อนแข็ง ๆ ซึ่งมันเรียกว่า Taut band ก็คือกล้ามเนื้อหดเกร็งเป็นก้อน ซึ่งมันจะเกิดขึ้นเมื่อเราเกร็งกล้ามเนื้อบางส่วนเยอะๆ เช่นการใช้คอมพิวเตอร์ยาวนาน 8 ชั่วโมง เป็นการใช้บ่ามาก ก็จะทำให้ปวดบ่าและคอได้ง่าย

ดังนั้นเมื่อเรานั่งทำงานเป็นเวลานานจึงเกิดอาการปวดหลัง ปวดบ่า ปวดตัวได้ง่าย แต่แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่ดีกับร่างกายหลายคนเลือกจะไปหาหมอนวดเพื่อช่วยเบื้องต้น แต่การปวดนานๆ อาจนำไปสู่ความปวดแบบเรื้อรังได้

“คำว่าเรื้อรังคือมากกว่า 3 เดือน มันสำคัญเพราะถ้าร่างกายเราเจ็บบริเวณไหนเกิน 3 เดือน ร่างกายเราจะจดจำอาการปวดไว้ ซึ่งจะทำให้อาการปวดบริเวณนั้นๆหายสนิทได้ยาก เช่น ถ้าเป็นออฟฟิศซินโดรมมาปีนึง ถึงจะรักษา ออกกำลังกาย กินยาทำกายภาพทุกอย่าง แต่สมองมันก็จะจำว่าตรงนี้มันเคยปวดมานาน เพราะงั้นระยะยาวก็อาจจะมีอาการปวดอยู่ถึงจะน้อยลงก็รู้สึก”

“ถ้าเป็นกลุ่มคนอายุน้อยเช่นกลุ่ม Gen Y ที่ทำงานออฟฟิศ โดยปกติอาการปวดมันก็จะเริ่มจากคอ บ่า ไหล่ บริเวณเอว ถ้าอาการปวดมันกระจุกรวมกันแถว ๆ นั้น หมายถึงปวดเฉพาะจุดตรงคอหรือตรงบ่า แต่ยังไม่ได้ร้าวลงแขน ไม่ได้มีอาการทางเส้นประสาทอื่นๆ ก็อาจจะยังไม่ต้องมาโรงพยาบาลก็ได้ ดูแลรักษาด้วยตนเองโดยใช้วิธีแก้ที่ต้นเหตุก่อน”

เพราะเราปวดหลังด้วยท่านั่งของเราเอง แล้วเราควรนั่งยังไง?

“หนึ่งคือต้องแนะนำก่อนว่ามนุษย์เราไม่ได้ถูกสร้างมาให้อยู่เฉย ๆ มนุษย์เราถูกสร้างมาให้เดิน ให้วิ่ง เพราะฉะนั้นการที่มนุษย์นั่งทำงานอยู่เฉย ๆ มันผิดหลักตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นข้อแรกก็คืออย่านั่งนาน ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ลองดูว่าจะปรับจากนั่งเป็นยืนได้หรือเปล่า โต๊ะยืนทำงานจะช่วยได้เยอะ”

อุปกรณ์การทำงานตามหลัก Ergonomic หรือสรีรศาสตร์เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราสามารถนั่งอยู่ในท่าที่ถูกต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะยืนทำงาน และเก้าอี้ที่เหมาะกับตัวเองและควรเป็นเก้าอี้ที่ปรับระดับสูงต่ำ ที่เราสามารถนั่งก้นชิดและเท้าแตะพื้นได้ และยิ่งมีพนักสูงยิ่งดี เก้าอี้ที่เหมาะกับสรีระของเราเองจะช่วยบังคับให้เรานั่งในท่าที่ถูกต้องได้มากขึ้น นอกจากนี้เรายังควรตั้งหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา เพราะการก้มคอจะทำให้ปวดคอได้ง่าย

“จริงๆ การนอนทำงานก็ดีกับกระดูกสันหลังมากกว่าท่านั่ง เพราะท่านั่งเป็นท่าทางที่แย่ที่สุด เพราะน้ำหนักตัวจะโหลดลงกระดูกสันหลังโดยตรง เวลานอนลงน้ำหนักตัวเราจะถูกถ่ายลงเตียง แต่ในความเป็นจริงจะทำได้หรือเปล่าก็ไม่แน่ใจนะเพราะมันอาจไม่ดีกับการทำงาน”

แต่สิ่งที่สำคัญกับการแก้ไขปัญหาปวดหลังมากอย่างมากก็คือการ ‘ออกกำลังกาย’ แบบที่เน้นให้เหงื่อออก หัวใจเต้นเร็ว เพราะทำให้ร่างกายหลั่งสารเคมีที่ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายมากขึ้นและช่วยคลายความปวดลงได้

ปวดหลังอาจรุนแรงกว่าที่คิด ถ้าเกิดอาการขึ้นกับกระดูกสันหลัง

คุณหมอชัยเดช เล่าว่าการปวดหลังจากกล้ามเนื้ออาจเป็นสิ่งที่รักษาได้ด้วยการปรับพฤติกรรมของตัวเอง แต่ถ้าหากเริ่มมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อาการร้าวลงแขนขา ชาปลายนิ้ว หรือปวดแบบลามไปยังส่วนอื่นๆ อาจเป็นสัญญาณของโรคทางกระดูกสันหลังที่รุนแรงกว่าได้

ซึ่งอาการที่พบมากมักแบ่งเป็นช่วงคอและหลัง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากทั้งข้อต่อกระดูกสันหลังอักเสบ (Facet Joint Arthritis) หมอนรองกระดูก หรือเส้นประสาท ซึ่งทั้ง 3 รูปแบบนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ควรมาพบแพทย์ทั้งหมด โดยอาการข้อต่อกระดูกสันหลังอักเสบมักจะมีอาการปวดไปจนถึงต้นแขน สะบักไหล่ การปวดมันจะกว้างออกไป ซึ่งมันไม่เหมือนออฟฟิศซินโดรมที่ถ้าปวดคอก็ปวดแค่คอ

ยกตัวอย่างเช่น อาการข้อต่อกระดูกคออักเสบก็เกิดขึ้นจากการก้มคอทำงานเป็นเวลานานๆ ได้ เนื่องจากคอจะรับน้ำหนักศีรษะที่มากขึ้นจากการก้ม ทำให้กระดูกไม่มั่นคงและเริ่มคลอนข้อต่อกระดูกสันหลังก็จะมีการขยับที่มากขึ้น มีการกดทับเส้นประสาทจนชาตามนิ้วมือ และข้อต่อกระดูกสันหลังก็จะอักเสบตามมา มันเป็นเรื่องที่ต่อกันมาเป็นทอดๆ

หรือบางคนที่นั่งหรือขับรถนานๆ โดยที่ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์อาจมีปัญหากับกระดูกหลังช่วงล่าง ปวดบริเวณปวดสลักเพชร ปวดก้น หรือก้นกบ ลามไปถึงสะโพกและร้าวลงขาได้

“ถ้ากลุ่มอายุประมาณ 30 มันก็จะไม่รุนแรงหรอก ส่วนมากก็มักจะเป็นแค่ไปกดเส้นประสาท แต่ไม่ถึงกับกดไขสันหลัง อาจทำให้มีอาการปวดร้าวและชาไปจนถึงแขนกับมือ แต่ถ้ากลุ่มคนที่อายุเยอะขึ้น 50-60 อาการก็รุนแรงขึ้น เช่นกดไขสันหลัง ก็จะทำให้เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้ แขนขาอ่อนแรง มันก็อาจจะเริ่มมาจากการนั่งทำงานออฟฟิศได้เหมือนกัน”

อย่ามองข้ามความปวดหลัง!

จากที่เล่ามาจะเห็นได้ว่าอาการปวดหลังอาจรุนแรงกว่าที่เราจะมองข้าม ถ้าหากมีอาการเรื้อรังหรือมีอาการกับกระดูกสันหลังแล้วอาจทำให้เกิดอาการต่อกันไปเป็นทอดๆ หากไม่ได้รับการรักษา การปวดหลังเป็นเรื่องใกล้ตัวและเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้แต่กับคุณหมอที่ต้องนั่งตรวจนานๆ

“ผมก็เป็น เรารู้ทุกอย่างก็พยายามหลีกเลี่ยงเอา ถ้าผมมีตรวจสัก 4-5 ชั่วโมงก็แปลว่าต้องนั่งอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงต่อวัน เราก็ต้องปรับตัวเอง ก็ออกกำลังกายบ่อย ๆ อาทิตย์ละ 3-4 ผมก็มีปวดบ้างมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่อย่าใช้คำว่าปกติเลย มันเป็นเรื่องที่ต้องแลกมากับการทำงาน เราก็ต้องเซฟร่างกายตัวเอง”

อย่างที่เรากล่าวไปในตอนต้น ปวดหลังเป็นอาการที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องปกติ ถ้าหากเวลาผ่านไปอีกหลายสิบปี นี่อาจเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่รุนแรงมากขึ้นได้อย่างแน่นอน แต่อย่าลืมว่าอาการปวดหลังเหล่านี้เป็นอาการที่รักษาให้หายได้แม้อาจต้องใช้เวลา แต่สิ่งสำคัญคือการปรับพฤติกรรมการทำงานและท่านั่งของเราให้บรรเทาการปวดหลังไปได้

“ที่หมอจะฝากไว้คือการปรับพฤติกรรมตนเองมีส่วนกว่า 50 เปอร์เซ็นต์นะ สิ่งที่หมอช่วยได้มันเป็นปลายเหตุ ไม่ว่าจะกินยา ทำกายภาพ ฉีดยา ผ่าตัด การรักษาทุกชนิดย่อมมีผลข้างเคียงของมัน แต่การปรับพฤติกรรมไม่มีผลข้างเคียงซึ่งก็เป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้ว”

ขอบคุณข้อมูลจากโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล และนพ. ชัยเดช สระสมบูรณ์ ศัลยแพทย์โรคกระดูกสันหลัง ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล

แคมเปญ #ปวดหลังทั้งแผ่นดิน ที่เชื่อว่าทุกความปวดหลังมีทางออก และชวนคุณมาร่วมเป็นส่วนหนึ่ง มาเล่าประสบการณ์และบอกเจ้านายออกไปว่า “ทำไมเราปวดหลัง!!” ในแคมเปญ #ปวดหลังทั้งแผ่นดิน ที่: https://www.brandthink.me/campaign/puat-lang-thang-phaen-din

สำหรับใครที่แชร์ประสบการณ์ปวดหลังได้ ‘เจ็บปวด’ โดนใจทีมงานของเราที่สุด เราขอมอบรางวัล ‘การตรวจประเมินร่างกายจากแพทย์ศูนย์กระดูกสันหลังและใช้เครื่องเอกซเรย์ 3 มิติแบบเต็มตัว BIPLANE IMAGING (EOS) ’ ที่โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล มูลค่า 9,000 บาท ไปเลยฟรีๆ 5 รางวัล!