
Taksinus bambus l Zookey
‘บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน’ คืออีกหนึ่งหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่าไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพโดดเด่นไม่แพ้ใคร
การค้นพบล่าสุดที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร ZooKey เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระบุว่า มีบึ้งสกุลใหม่ที่พบในป่าไผ่ของพื้นที่ตำบลแม่โถ อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก
‘บึ้ง’ หรือที่บางคนอาจคุ้นในชื่อ ‘ทารันทูล่า’ ตัวนี้ ถูกพบครั้งแรกโดย ‘โจโฉ’ – ทรงธรรม สิปปวัฒน์ ยูทูปเบอร์ชาวไทย ก่อนได้รับการตรวจสอบโดย ดร.นรินทร์ ชมภูพวง และ ชวลิต ส่งแสงโชติ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแมงมุม
ตามความเห็นของ ดร.นรินทร์ อธิบายว่า ในด้านวิชาการถือเป็นเรื่องชวนตื่นเต้นมาก เพราะในโลกนี้ยังไม่เคยพบบึ้งต้นไม้ที่อาศัยจำเพาะกับต้นไม้ชนิดในชนิดหนึ่ง แต่บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสินเป็นบึ้งต้นไม้ชนิดแรกที่อาศัยอยู่เฉพาะต้นไผ่เท่านั้น และไม่ปรากฏพบว่าอาศัยในต้นไม้อื่น
นอกจากนี้ ต้นไผ่มีความสำคัญต่อบึ้งชนิดนี้ ไม่เพียงแต่ในแง่ของวิถีชีวิต แต่ยังเพราะพบได้เฉพาะในป่าบนเนินเขาสูงทางตอนเหนือของประเทศไทย ที่ระดับความสูงประมาณ 1,000 เมตรเท่านั้น
โดยปกติ ทารันทูล่าไม่สามารถเจาะลำต้นไผ่ได้ จึงต้องอาศัยความช่วยเหลือจากสัตว์อื่น เพราะไผ่เป็นอาหารของสัตว์หลายชนิด ทั้งด้วงหนอนไม้ไผ่ หนอนไม้ไผ่ แมลงภู่ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนู นอกจากนี้ ไผ่ยังอาจแตกร้าวได้จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของความชื้นในบรรยากาศ ทั้งที่เกิดตามธรรมชาติ และที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์
ในความเห็นของนักวิชาการ บอกว่า คงไม่ใช่เรื่องเกินจริงที่จะบอกว่าตอนนี้พวกมันเป็นบึ้งที่หายากที่สุดของประเทศไทยแล้ว
การค้นพบครั้งนี้ มีความพิเศษตรงที่ถือเป็นการค้นพบทารันทูล่าสกุลใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งแรกในรอบ 104 และเป็นงานที่ตรวจสอบโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวไทยทั้งหมด
สำหรับชื่อ ‘บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน’ (Taksinus bambus) ตั้งชื่อเพื่อถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งทรงเคยเป็นเจ้าเมืองตาก หรือจังหวัดตากในปัจจุบัน
อ้างอิง
- Zookey. A new genus of bamboo culm tarantula from Thailand. https://bit.ly/3qnaHjN
- Earth.New tarantula found in Thailand lives in bamboo stalks https://bit.ly/3Go1ltn