การเดินทางข้ามประเทศไปอีกฟากหนึ่งของโลกจะรู้กันดีว่า บางทีจะเกิดอาการ Jet Lag ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายต้องปรับเวลาการนอนตามประเทศที่เดินทางไป ส่งผลให้นาฬิกาชีวภาพในร่างกายรวน เกิดอาการง่วงไม่เป็นเวลา สมองมึนๆ ตื้อๆ แต่ในบางครั้งแม้ว่าเราไม่ได้เดินทางข้ามประเทศ ก็เกิดอาการสมองมึนๆ ตื้อๆ ได้เหมือนกับเดินทางข้ามประเทศ และอาการแบบนี้มักจะเกิดขี้นในวันจันทร์ หรือหลังจากหยุดยาว เราเรียกอาการที่เหนื่อย ง่วง และ เพลียตลอดเวลาแบบนี้ว่า Social Jet Lag
Social Jet Lag คือ อาการอ่อนเพลียคล้ายกับ Jet lag ในเวลาที่ต้องทำงาน หรืออาการเมาเวลาที่เกิดจากวิถีชีวิตและสภาพสังคม สาเหตุเป็นเพราะว่าในช่วงวันทำงานเราจำเป็นต้องตื่นเป็นเวลา แต่ในวันเหล่านั้นบางครั้งเราไม่ได้นอนเป็นเวลา ทำให้เกิดอาการอดนอนเรื้อรังติดๆ กัน โดยเราก็เลยจะไปนอนชดเชยในวันหยุดแทน ด้วยการนอนแบบนี้จึงทำให้เราเกิดอาการ Social Jet Lag ขึ้นมา โดยมีงานวิจัยหนึ่งทำการประเมินว่าสองในสามของมนุษย์เกิดอาการ Social Jet Lag อย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และคนบางส่วนเกิดอาการ Social Jet Lag มากกว่า 2-3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยอาการนี้ไม่ได้ส่งผลแค่เรื่องเพลียเรื้อรังเพียงแค่อย่างเดียวเท่านั้นแต่ยังสามารถส่งผลกระทบกับเรื่องอารมณ์และสุขภาพมากกว่าที่เราคิด
โดยเรื่องแรก คือ เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอ้วน เพราะคนที่มีอาการ Social Jet Lag มีแนวโน้มที่จะออกกำลังกายน้อยลง และมีการเผาผลาญที่ลดลง ตามมาด้วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2, โรคหัวใจ และยังรวมไปถึงโรคซึมเศร้า
ซึ่งวิธีการแก้ Social Jet Lag คือพยายามนอนหลับและตื่นให้เป็นเวลาในทุกๆ วัน แต่โดยธรรมชาติของคนบางกลุ่มด้วยการกำหนดของยีนส์ทำให้คนกลุ่มนี้เป็นคนที่นอนดึกตื่นสายอยู่แล้ว แต่ด้วยชั่วโมงการทำงานบีบบังคับให้ตื่นจึงทำให้เกิดอาการไม่นอนพอ อันที่จริงแล้วถ้าแก้ปัญหาเวลาเข้าทำงานให้ยืดหยุ่นเหมาะกับลักษณะของยีนส์ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก ซึ่งแน่นอนว่าทางเลือกนี้ก็น่าจะยากพอตัว หรือลักษณะการทำงานบางที่ก็ไม่ได้เอื้อให้มีเวลาในการทำงานที่ยืดหยุ่น
เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็มีทางแก้อื่นๆ ที่ง่ายกว่า คือการแก้สภาพแวดล้อมที่เราสามารถเป็นคนกำหนดได้ เช่น เรื่องแสงไฟและการใช้โทรศัพท์มือถือก่อนนอน ก่อนที่จะนอนประมาณสองชั่วโมงให้เราปิดไฟ หรือเปลี่ยนเป็นไฟหรี่ และถ้าใช้สมาร์ตโฟน, แท็บเล็ต หรือโน๊ตบุ๊ก ให้ปรับเป็น Night Mode ที่จะช่วยกรองแสง Blue Light ได้
และในช่วงเช้าให้เราพยายามเดินออกไปรับแสงอาทิตย์ เพราะแสงอาทิตย์สามารถช่วยปรับนาฬิกาชีวภาพได้เป็นอย่างดี ส่วนเวลาเข้านอนพยายามทำให้เป็นเวลาเหมือนเดิมทุกวัน แต่ยังรู้สึกว่านอนไม่พออยู่ดี ให้หลับกลางวันเป็นช่วงสั้นๆ ประมาณ 20 – 30 นาที หากนอนมากกว่านั้นจะทำให้ตอนกลางคืนยิ่งนอนไม่หลับ และเมื่อตื่นขึ้นมาตอนกลางวันอาจจะรู้สึกมึนๆ อีกด้วยหากนอนมากกว่าเกินไป
นอกจากนั้นหากมีการออกกำลังกายเบาๆ และทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพร่วมด้วย ก็จะช่วยทำให้คุณภาพการนอนดีขึ้นด้วยเช่นกัน แต่ถ้าทำทั้งหมดแล้วอาการอ่อนเพลียเรื้อรังยังไม่ดีขึ้นให้ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาอาการ Social Jet Lag เพราะอาการอ่อนเพลียที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบกับเราในระยะยาวได้
อ้างอิง: