3 Min

‘ห้องน้ำสาธารณะ’ ของสวีเดนไม่มีการแบ่งแยกเพศ

3 Min
1453 Views
30 Jul 2020

เคยสงสัยไหมครับว่า ทำไมห้องน้ำสาธารณะหรือตามสถานที่ราชการ สถานศึกษา หรือห้างสรรพสินค้าต้องแยกเพศชาย-หญิง

แต่ทำไมห้องน้ำที่บ้าน หรือบนเครื่องบิน รถไฟไม่มีการแยกเพศ?

ถ้าคุณเคยสงสัย แปลว่าคุณพร้อมสำหรับดีเบตใหญ่แห่งยุค

1.

ทุกวันนี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสเรื่องสิทธิ LGBTQ นั้นรุนแรง ถ้าใครต้องการจะคัดค้านการขยายสิทธิของ LGBTQ ก็เตรียม ‘ทัวร์ลง’ ได้เลย ขนาด J.K. Rowling นักเขียนผู้เป็นที่รักของคน Gen Y ยังโดนทัวร์ลงมาแล้ว

ประเด็นสาธารณะที่ท้าทายอย่างมากในเรื่องนี้ก็คือ ห้องน้ำควรจะ ‘แยกเพศ’ หรือไม่?

บางคนอาจมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก แต่ในความเป็นจริง นี่คือเรื่องใหญ่มาก เพราะสุดท้าย ในทางกฎหมายจะระบุว่า มีกี่เพศก็ได้ จะเชิดชูความหลากหลายทางเพศอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าในเชิงโครงสร้างสถาปัตยกรรม ห้องน้ำยังแบ่งเป็นแค่ชายกับหญิง

สิ่งที่กฎหมายพูดออกมาทั้งหลายก็น่ากังขา

2.

สำหรับนักกิจกรรม LGBTQ การแบ่งห้องน้ำชายหญิงถือเป็นสุดยอดแห่งผลผลิตของ ‘สังคมสองเพศ’ ที่พวกเขาไม่เห็นด้วย

เพราะสุดท้าย ไม่ว่าคุณจะเชิดชูเรื่องเพศแค่ไหน แต่เวลาเข้าห้องน้ำ คุณก็ต้องยอมศิโรราบกับระบบสองเพศอยู่ดี

คนทั่วไปอาจคิดว่า คนกลุ่มนี้มีน้อย แต่ต้องไม่ลืมว่าในปี 2019 ดิคชันนารี Merriam-Webster ให้คำว่า ‘They’ เป็นศัพท์แห่งปี

นัยยะก็คือ ขนาดดิคชันนารียังยอมรับเลยว่าในภาษาอังกฤษ ต้องมีศัพท์นามที่ใช้เรียกคนที่ไม่ระบุตัวเองเป็นเพศชายหรือหญิง

ถ้าใครไม่ต้องการให้คุณเรียกแทนตัวเขาว่า He หรือ She คุณก็ต้องแทนตัวเขาว่า They

และ “They” หรือพวกเขาเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อย ที่ต้องการยกเลิกระบบห้องน้ำที่แยกเพศชายหญิง

3.

ประเทศอย่างสวีเดนเริ่มมีการรณรงค์เรื่องห้องน้ำไม่แยกเพศมาตั้งแต่ปี 2015 จนทุกวันนี้ ห้องน้ำสาธารณะเกือบทั้งหมด ‘ไม่แยกเพศ’ แล้ว

สวีเดนนับเป็นไม่กี่สังคมในโลกที่ยอมรับหลักการนี้ในระดับสาธารณะ และมองว่าการสร้างห้องน้ำแบบแยกเพศเป็นการ ‘กดขี่’ กลุ่มคนที่ไม่ได้เป็นเพศชายหรือหญิง

ปัญหาคือประเทศอื่นๆ (นอกโซนสแกนดิเนเวีย) ไม่ได้เป็นแบบนั้น และการสร้างห้องน้ำแบบไม่แยกเพศก็ไม่ได้อยู่ในระบบคิด

ส่วนใหญ่ข้อถกเถียงก็จะอยู่แค่ว่า ‘ผู้หญิงข้ามเพศ’ (ที่บ้านเราเรียก “กะเทย”) ควรจะเข้าห้องน้ำชายหรือหญิง ซึ่งเป็นข้อถกเถียงมาตรฐานในอังกฤษและอเมริกา

ฝ่ายที่ ‘ก้าวหน้า’ ก็จะบอกว่า ใครอยากเข้าห้องน้ำเพศอะไร ก็ให้เข้าไป จะไปยุ่งอะไร ส่วนฝ่าย ‘อนุรักษนิยม’ จะบอกว่า การเข้าห้องน้ำ ควรเข้าตามเพศกำเนิด

ประเด็นที่น่าสนคือฝ่ายที่เป็น ‘อนุรักษนิยม’ เรื่องการเข้าห้องน้ำ หลายๆ คนเป็นผู้หญิงหัวก้าวหน้าด้วยซ้ำ และ J.K. Rowling ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?

เหตุผลง่ายๆ คือ โลกยุคโบราณ ห้องน้ำไม่มีแยกเพศ ก่อนจะมาแยกเพศได้ไม่ถึง 100 ปี และเหตุผลหนึ่งก็คือ ผู้หญิงที่เมื่อก่อนอยู่แต่บ้าน ออกมาทำงาน และอยู่ในพื้นที่สาธารณะเยอะขึ้น พอใช้ห้องน้ำสาธารณะที่มีแต่ผู้ชาย ผลคือมีผู้หญิงจำนวนมากถูกคุกคามทางเพศ

ดังนั้น การแยกห้องน้ำเป็นชายหญิงจึงเกิดขึ้นตามมา และส่วนหนึ่งก็เพื่อความปลอดภัยของผู้หญิงเอง

4.

การแยกห้องน้ำหญิง-ชายซีเรียสแค่ไหน?

ผู้หญิงส่วนใหญ่ซีเรียสแน่ๆ เพราะห้องน้ำหญิงเป็นพื้นที่ของผู้หญิงที่จะทำอะไรแบบ “ผู้หญิงๆ ” ได้ และผู้หญิงจำนวนมากก็ไม่ต้องการให้ “ผู้ชาย” เข้ามาป้วนเปี้ยน

ผู้หญิงบางคนถึงกับบอกว่า ห้องน้ำหญิงนั้นคือ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ของผู้หญิงเลยทีเดียว

ในหลายๆ พื้นที่ที่มีการแยก ‘ห้องน้ำ’ แต่ห้องเปลี่ยนชุดกลับไม่แยกเพศ จะเห็นเลยว่ามีผู้หญิงจำนวนมากร้องเรียนการคุกคามทางเพศที่เกิดจากพวกห้องเปลี่ยนชุดแบบไม่แยกเพศ

ขณะเดียวกัน การร้องเรียนการคุกคามทางเพศจากห้องเปลี่ยนชุดแบบแยกเพศ มีอัตราส่วนที่น้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด

และนี่เป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักว่า ทำไมผู้หญิงถึงไม่ต้องการใช้พื้นที่ในการทำกิจกรรมส่วนตัวร่วมกับผู้ชาย

ซึ่งในยุคที่โลกตะวันตกเต็มไปด้วยภาวะเพศสภาพที่ลื่นไหล มีผู้หญิงจำนวนมากรู้สึกไม่สะดวกใจในการใช้ห้องน้ำร่วมกับ ‘ผู้หญิงข้ามเพศ’ เพราะสำหรับพวกเธอ ในทางกายภาพพวกเขาก็เป็นผู้ชาย และคุกคามพวกเธอได้

ผู้หญิงกลุ่มนี้จึงออกมาร่วมกับผู้ชายในการต่อต้าน ‘การเข้าห้องน้ำแบบไม่ตรงเพศกำเนิด’ และเป็นข้อถกเถียงที่คุกรุ่นวนไปวนมาในสังคม

5.

หันกลับมามองประเทศไทย สิ่งที่น่าสนใจคือบ้านเราเต็มไปด้วยผู้หญิงข้ามเพศ แต่ปัญหาเรื่อง ‘ห้องน้ำ’ กลับดูไม่ใช่เรื่องใหญ่

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ บ้านเรามีความเป็นสังคมแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย คนจะไม่ค่อยโวยอะไร ถ้าเรื่องนั้นไม่ทำให้เดือดร้อนเกินไป อีกส่วนก็เป็นเพราะสังคมไทยไม่ได้มีกฎระเบียบอะไรชัดๆ และถึงมีกฎระเบียบชัดๆ คนก็ไม่คิดว่าต้องทำตาม คนไทยเลยไม่มีปัญหาเท่าไรว่า ใครจะเข้าห้องน้ำอะไร

แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าสังคมไทยจะมีความเท่าเทียมทางเพศอะไร เพราะในหลายๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างชายกับหญิง หรือระหว่างชายหญิงกับเพศอื่นๆ

เมืองไทยก็ไม่ได้มีความเท่าเทียมแบบโลกตะวันตกแน่ๆ

อ้างอิง: