2 Min

จะเป็น ‘เชฟซูชิ’ ได้ ต้องเป็น ‘ผู้ชาย’ เท่านั้น? เพราะร่างกายผู้หญิงไม่เหมาะจริงเหรอ?

2 Min
1611 Views
21 Mar 2022

‘ซูชิ’ เมนูอาหารญี่ปุ่นที่ละเอียดอ่อน ของโปรดใครหลายคนหรือเรียกว่าเป็นอาหารตัวแทนของประเทศเลยก็ว่าได้ ข้าวญี่ปุ่นที่คลุกกับน้ำส้มสายชูพร้อมทั้งมีวัตถุดิบจากทะเลปิดบนข้าว ไม่ว่าจะเป็น ปลาแซลมอน ปลาหมึก ปลาทูน่า กุ้ง ฯลฯ

ในปัจจุบันซูชิถือเป็นอาหารที่หาทานได้ง่ายในประเทศเรา หากใครเคยไปญี่ปุ่นจะสังเกตเห็นว่าซูชิบาร์ส่วนใหญ่จะมีแต่ ‘เชฟผู้ชาย’ ซึ่งสิ่งนี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างไร มันเคยมีความเชื่อในสมัยก่อนที่ทำให้เป็นแบบนั้น

ความเชื่อที่ว่ามีอยู่หลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น

เรื่องของอุณหภูมิที่แตกต่างกันระหว่างมือของผู้ชายและผู้หญิง 

เรื่องการที่ผู้หญิงมีประจำเดือน ทำให้ความสามารถในการรับรสชาติหรือความรู้สึกไม่คงที่

เรื่องเวลาที่ใช้ในการฝึกฝน

อุณหภูมิมือของผู้ชายและผู้หญิง

อย่างที่ทราบกันดีว่าเมนูซูชิเน้นการทำด้วย ‘มือ’ เป็นหลัก ดังนั้นมือจึงถือเป็นส่วนที่สำคัญมากๆ ในการทำอาหารชนิดนี้และแน่นอนว่าอุณหภูมิมือที่แตกต่างกันจะส่งผลต่อรสชาติของเนื้อปลา แต่ภายหลังโรงเรียนสอนทำซูชิในญี่ปุ่นได้ออกมายืนยันแล้วว่า อุณหภูมิที่แตกต่างกันไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ ‘เพศ’ แต่ขึ้นอยู่กับแต่ละ ‘คน’ มากกว่า อีกทั้งหากมือคนที่มีอุณหภูมิสูงจะทำให้เม็ดข้าวติดมือง่ายกว่าปกติและมีโอกาสที่หน้าของซูชิจะอุ่นกว่าที่ควรจะเป็น

ผู้หญิงกับการเป็นประจำเดือน

ที่ร้าน Sukiyabashi Jiro ซึ่งร้านซูชิมิชลิน 3 ดาว ‘โยชิคาซึ โอโนะ’ ลูกชายของจิโระ โอโนะอธิบายผ่าน Business Insider ว่า 

“ก็เพราะผู้หญิงมีประจำเดือน การเป็นมืออาชีพหมายถึงการมีรสชาติที่คงที่ในอาหารของคุณ แต่เนื่องจากรอบเดือนของผู้หญิง จึงทำให้การรับรสชาติไม่สมดุล  เลยทำให้ผู้หญิงไม่สามารถเป็นเชฟได้”

ซึ่งข้อนี้ได้มีหลักฐานทางการวิจัยจาก ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าระหว่างที่ผู้หญิงมีรอบประจำเดือน มันส่งให้พฤติกรรมการอยากอาหารเปลี่ยนไป และ ‘เป็นไปได้’ ว่าผู้หญิงอาจมีการรับรู้รสชาติผิดพลาด

เวลาที่ใช้ในการฝึกฝน

ในสังคมญี่ปุ่น ยังคงเชื่ออย่างแรงกล้าว่าเป็นผู้หญิงต้องดูแลครอบครัว และการเป็นเชฟซูชิต้องใช้เวลาในการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องนับ 10 ปี ทำงานจนถึงดึกดื่น เพราะนอกจากการฝึกปั้นข้าวแล้ว ยังต้องฝึกการใช้มีดให้เหมาะสมกับปลาชนิดต่างๆ ทั้งเล็กและใหญ่ หากถึงจุดนึงที่ต้องแต่งงาน มีครอบครัวต้องดูแล อาจทำให้ความต่อเนื่องในอาชีพนี้หายไปและสะดุดลงได้

เมื่อถึงจุดที่ยุคสมัยเปลี่ยนไป การเป็นเชฟซูชิไม่ได้วัดกันด้วยเรื่องของ ‘เพศ’ อีกต่อไป แต่กลับขึ้นอยู่กับวินัย การฝึกฝนและความทุ่มเทที่อยากจะเป็นเชฟมากกว่า ตอนนี้ญี่ปุ่นก้าวหน้ามากขึ้นเมื่อต้องรับผู้หญิงในโรงเรียนสอนซูชิ นอกจากนี้ยังช่วยให้ประเทศยกเลิกการห้ามผู้หญิงที่ทำงานหลัง 22.00 น. ในปี 1999 ด้วย

ทุกวันนี้ ร้านซูชิใน Michelin Guide ก็มีร้านแนะนำที่มีพนักงานหญิงเป็นคนปั้นซูชิแล้ว นั่นก็คือร้าน ‘จิฮารุ (鮨千陽)’ ในโอซาก้านั่นเอง และเจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่นรุ่นใหม่ของเมือง ไม่สนใจเรื่องเพศของพ่อครัว ตราบใดที่ซูชินั้นอร่อย 

อ้างอิง