3 Min

ทำความรู้จัก ‘NEW BIG 5’ ตัวแทนสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ 5 ชนิด ที่ช่างภาพทั่วโลกอยากกดชัตเตอร์ใส่รัวๆ

3 Min
867 Views
24 Apr 2023

เคยได้ยินคำว่า ‘BIG 5’ สัตว์ป่าของแอฟริกากันไหม

คำคำนี้เป็นคำเรียกรวมๆ สัตว์ป่า 5 ชนิด ประกอบด้วย สิงโต เสือดาว ช้างป่า ควายป่า และแรด เริ่มใช้กันมาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1800 เปรียบถึงสัตว์ที่ล่าได้ยาก มีความท้าทายและอันตรายที่สุดในการล่าสัตว์ด้วยการเดินเท้า

แต่ระยะหลังเรื่องราวของ BIG 5 ถูกปรับมาใช้กับการท่องเที่ยว ด้วยลักษณะโดดเด่นทั้งกายภาพ พฤติกรรม หรือการเคลื่อนไหวในธรรมชาติ ดึงดูดให้ผู้คนอยากพบเจอสัตว์เหล่านี้ในธรรมชาติจริงๆ อีกทั้งยังสร้างเม็ดเงินรายได้ให้กับอุทยานที่มีสัตว์ป่าครบทุกตัว เป็นคุณค่าที่ยั่งยืนกว่าการล่าเป็นไหนๆ

แต่สำหรับเรื่องราวต่อไปนี้ เราอยากชวนมาทำความรู้จักกับ ‘NEW BIG 5’ หรือสัตว์ป่า 5 ชนิด ที่ไม่ได้จำกัดวงอยู่แค่ทุ่งสะวันนาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสัตว์ทั้ง 5 ที่เป็นตัวแทนของสัตว์ทั้งโลก และมีความหมายในรูปแบบที่แตกต่างออกไป

NEW BIG 5 ใหม่ประกอบด้วย ช้าง หมีขั้วโลก สิงโต กอริลลา และเสือ ซึ่งเพียงแค่เอ่ยชนิดสัตว์ออกมาก็คงพอจะคุ้นๆ ได้โดยไม่ต้องลงรายละเอียด ก็พออนุมานได้ว่า NEW BIG 5 ล้วนแต่เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์แทบทั้งนั้น

ซึ่งอธิบายแบบรวบรัดได้ว่า NEW BIG 5 เป็นตัวแทนของสัตว์ 5 ชนิด ที่มีโอกาสสูญพันธุ์ไปจากโลกใบนี้ในอนาคตอันอีกไม่ไกล

ตัวอย่างเรื่องที่เราคุ้นชินอย่างกรณีของหมีขั้วโลก ซึ่งระยะหลังมีข่าวให้เห็นอยู่บ่อยๆ ว่าถิ่นทำมาหากินเริ่มเหลือน้อย โลกรวนทำให้น้ำแข็งมลายหายไปหมด จากที่เคยล่าแมวน้ำบนแผ่นน้ำแข็ง ต้องมากินไข่นกประทังชีวิต บางกลุ่มต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตจากหมีป่าเข้าไปคุ้ยหาเศษขยะกินตามหมู่บ้าน คาดการณ์กันว่าหากโลกร้อนทะลุขึ้นไปอีก 1.5 องศาเซลเซียส หมีขั้วโลกอาจสูญพันธุ์ภายในปี ค.ศ. 2100

หรือสัตว์อย่างช้าง สิงโต กอริลลา และเสือ ก็มีชะตากรรมไม่ต่างกัน สัตว์เหล่านี้กำลังสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยและยังคงถูกล่าในธรรมชาติ ถูกค้าอย่างผิดกฎหมาย หากไม่มีการคุ้มครองปกป้องหรือลงมือทำอะไรเลย สุดท้ายก็คงเห็นได้แค่ในสวนสัตว์ และสิ้นสุดที่ภาพภ่ายในอนาคต

แล้ว NEW BIG 5 นี้มีที่มาอย่างไร?

NEW BIG 5 เป็นแนวคิดที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมานี้เอง ริเริ่มโดย แกรม กรีน (Graeme Green) ช่างภาพชาวอังกฤษผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพสัตว์ป่า โดยเขาคิดว่าเรื่องราวความยิ่งใหญ่แบบบิ๊กๆ ของสัตว์ป่านั้นไม่ควรมาจากมุมมองของลำกล้องปืนล่าสัตว์ แต่สตอรี่ของสัตว์ป่าควรมีความหมายมากกว่านั้น และภาพถ่ายน่าจะเป็นคำตอบที่ดีสำหรับการบอกเล่าเรื่องราวให้กับสัตว์

แกรม กรีน เชื่อว่า การที่ผู้คนได้เห็นความงดงามของสัตว์ป่าจะนำไปสู่ความรัก ความตระหนัก และเกิดความอยากปกป้องสัตว์เหล่านี้ตามมา

จากนั้นจึงชวนช่างภาพ นักอนุรักษ์ และประชาชนจากทั่วโลก มาร่วมโหวตว่ามีสัตว์ชนิดใดบ้างที่พวกเขาอยากถ่ายภาพหรืออยากเห็นภาพถ่ายจากในป่ามากที่สุด โดยเฉพาะสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งผลก็ลงเอยมาที่สัตว์ทั้ง 5 ชนิดตามที่กล่าวไป

ซึ่งล่าสุดเรื่องราวของ NEW BIG 5 ก็ได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือภาพ ‘The New Big 5: A Global Photography Project For Endangered Wildlife’ ที่มีทั้งผลงานของ แกรม กรีน และช่างภาพสัตว์ป่าคนอื่นๆ ร่วมถ่ายทอด

และก็ไม่ได้มีแค่สัตว์ทั้ง 5 ในนาม NEW BIG 5 เท่านั้น แต่ยังมีภาพสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ รวมอยู่ด้วย

เพราะโดยความหมายแบบกว้างๆ ของ NEW BIG 5 จริงๆ แล้วมันคือเรื่องราวของสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ทั้งหมด ทั้ง 5 ตัวที่กล่าวมา เป็นเพียงตัวแทน แต่สัตว์อื่นๆ ก็สำคัญและควรได้รับการปกป้องไม่แพ้กัน

“การดูภาพถ่ายในหนังสือเล่มนี้เป็นเครื่องเตือนใจอันทรงพลังถึงความงามอันน่าทึ่ง และความหลากหลายของโลกและธรรมชาติ และสิ่งที่เราต้องสูญเสียหากเราไม่ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อปกป้องสัตว์ป่าและโลกใบนี้” แกรม กรีน กล่าว

หนังสือ The New Big 5: A Global Photography Project For Endangered Wildlife เพิ่งวางจำหน่ายไปเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา (ไม่แน่ใจว่าประเทศไทยมีใครนำเข้ามาจำหน่ายไหม) หากใครสนใจ สั่งซื้อผ่านทางสำนักพิมพ์ได้ที่ https://shorturl.asia/2Y0UX

อ้างอิง