เมื่อ Superman และ Batman กำลังจะกลายเป็นสาธารณสมบัติในทศวรรษหน้า แล้วจะนำไปใช้งานอย่างไรไม่ให้เสี่ยงโดนฟ้อง

อีกเพียงทศวรรษเดียวเท่านั้นที่ตัวละครซูเปอร์ฮีโร่ต่างๆ ในดีซีคอมิกส์ (DC Comics) อย่าง Superman และ Batman จะมีอายุครบ 95 ปี และกลายเป็นสาธารณสมบัติ

2 Min
570 Views
22 Jan 2024

หลังจากที่ตัวละคร ‘วินนี่-เดอะ-พูห์’ และ ‘มิกกี้เมาส์’ มีอายุครบ 95 ปี และกลายเป็นสาธารณสมบัติ ด้วยเงื่อนไขทางกฎหมายลิขสิทธิ์ ‘Copyright Term Extension Act’ ของสหรัฐอเมริกา และอีกเพียงทศวรรษเดียวเท่านั้นที่ตัวละครซูเปอร์ฮีโร่ต่างๆ ใน ‘ดีซีคอมิกส์’ (DC Comics) กำลังจะมีอายุครบ 95 ปี และกลายเป็นสาธารณสมบัติ

โดย ‘Superman’ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1938 และจะมีอายุครบตามที่กฎหมายระบุในปี 2034 ส่งผลให้ตัวละครอย่าง ‘ซูเปอร์แมน’ (Superman) และ ‘ลูอิส เลน’ (Lois Lane) ภรรยาของซูเปอร์แมนกำลังจะกลายเป็นสาธารณสมบัติ รวมถึง ‘แบทแมน’ (Batman) ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1939 จะกลายเป็นสาธารณสมบัติในปี 2035 ตามด้วยคู่ปรับตลอดกาลของแบทแมนอย่าง ‘โจ๊กเกอร์’ (Joker) ในปี 2036 และ ‘วันเดอร์ วูแมน’ (Wonder Woman) ในปี 2037

การที่ตัวละครต่างๆ กำลังจะกลายเป็นสาธารณสมบัติ ทำให้ในอนาคตผู้สร้างสรรค์รายอื่นสามารถนำตัวละครต่างๆ ไปสร้างสรรค์ผลงาน เผยแพร่ ผลิตซ้ำผลงานได้อย่างอิสระ ทั้งสื่อในรูปแบบสิ่งพิมพ์หรือสื่อภาพยนตร์ โดย ‘คริส ซิมส์’ (Chris Sims) ผู้เขียนการ์ตูนและผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับตัวละครแบทแมนคาดว่า หลังจากแบทแมนกลายเป็นสาธารณสมบัติแล้ว หนังสือการ์ตูนเกี่ยวกับแบทแมนที่เคยไม่ได้รับอนุญาต จะถูกนำมาเผยแพร่เป็นจำนวนมากอย่างแน่นอน

แม้ว่าการที่กำลังจะสูญเสียตัวละครหลักอย่าง ‘ซูเปอร์แมน’ และ ‘แบทแมน’ ซึ่งเป็นตัวละครชูโรงของ DC Studios อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางการผลิตภาพยนตร์ แต่อย่างไรก็ตาม การแถลงข่าวในปี 2023 ‘เจมส์ กันน์’ (James Gunn) ผู้บริหารของ DC Studios ได้เผยถึงกลยุทธ์ในการรับมือในอนาคตเอาไว้ ด้วยการเปลี่ยนลักษณะทางวรรณกรรมและรูปลักษณ์ของตัวละครนั้นๆ เพื่อให้ตัวละครมีความสดใหม่อยู่เสมอ เพื่อเป็นการรักษาเครื่องหมายทางการค้าเอาไว้ รวมถึงยังพยายามสร้างและผลักดันตัวละครอื่นๆ เข้ามาทดแทนตัวละครดั้งเดิม

หลังจากที่ตัวละครเหล่านี้กลายเป็นสาธารณสมบัติ ผู้สร้างสรรค์ผลงานสามารถผลิตสื่อต่างๆ ออกมาได้อย่างอิสระ เพียงแต่ต้องระมัดระวังในเรื่องของการโฆษณา การใช้ภาพลักษณ์ของตัวละครนั้นๆ และการใช้แง่ของการสร้างแบรนด์ที่มีความคล้ายกับลักษณะของตัวละครที่ DC ยังถือลิขลิทธิ์อยู่ หรือการใช้คำว่า ‘Man of Steel’ และ ‘Caped Crusader’ รวมถึงโลโก้ ‘S’ ของซูเปอร์แมนและโลโก้ของแบทแมนก็จะไม่สามารถนำไปใช้ได้ เนื่องจากเป็นเครื่องหมายการค้าอันเป็นลิขสิทธิ์ของวอร์เนอร์บราเธอส์ (Warner Bros.)

โดยคาดว่าในอนาคตอาจจะมีภาพยนตร์หรือสื่อต่างๆ เกี่ยวกับซูเปอร์แมนหรือแบทแมนในรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ต่างกับตัวละครที่หมดลิขลิทธิ์ไปก่อนหน้านี้อย่าง ‘วินนี่-เดอะ-พูห์’ และ ‘มิกกี้ เมาส์’ ที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ล้อเลียนทันทีหลังจากกลายเป็นสาธารณสมบัติ