ถอดบทเรียน ชานมกระป๋อง “Sun Su” ทำธุรกิจด้วยใจ แต่ขาดทุนไปกว่า 17 ล้านบาท
“Bearhug channel” หลายๆ คนน่าจะคุ้นหูชื่อนี้จากช่องทางยูทูบที่มียอดผู้ติดตามกว่า 3.56 ล้านคน ซึ่ง ซารต์-ปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช และ กานต์-อรรถกร รัตนารมย์ ผู้ก่อตั้งช่องได้ผันตัวมาเป็นเจ้าของธุรกิจร้านชานมไข่มุก BearHouse มานานกว่า 2 ปี ในปัจจุบันเปิดให้บริการถึง 8 สาขา และถือว่าเป็นร้านขวัญใจในกลุ่มของวัยรุ่น วัยทำงานอีกด้วย
หลังจากที่ร้านชานม BearHouse ได้กระแสตอบรับเป็นอย่างดี พวกเขาจึงมองหาช่องทางต่อยอดธุรกิจอีกครั้งกับการทำชานมกระป๋อง “Sun su” เพื่อที่หวังว่าจะสามารถทำกำไร และตีตลาด 7-11 ได้
แต่ปรากฏว่าการต่อยอดธุรกิจในครั้งนี้กลับทำให้พวกเขาขาดทุนมากถึง 17 ล้านบาท
อะไรคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ Sun su มียอดขายถึง 100 ล้านบาทแต่กลับทำกำไรไม่ได้?
1.ขาดความรู้และประสบการณ์ในการนำสินค้าเข้าไปวางขายใน 7-11
ซารต์และกานต์ ได้กล่าวว่า “ไม่ใช่ว่ามันขายไม่ดี แต่มันไม่มีกำไร” เพราะว่า พวกเขาไม่เคยนำสินค้าไปวางขายใน 7-11 มาก่อนทำให้ไม่สามารถคาดการณ์จำนวนการผลิต และต้นทุนจริงๆ ที่ตนต้องจ่ายได้ เพียงแค่ค่าผลิตเพื่อที่จะสามารถส่งได้ครบทั้งหมด 12,000 สาขา แต่พวกเขาสูญเสียเงินกว่า 10 ล้านบาท และไม่ได้คาดการณ์ถึงเงินสำรองที่จะนำมาหมุนธุรกิจ ภาษี และต้นทุนแฝงอื่นๆ อีกที่จะตามมา

ชานมกระป๋อง Sun Su | Sun Su
2.ไม่ยอมลดต้นทุนการผลิตเพราะซีเรียสเรื่องรสชาติ
รู้หรือไม่ผู้ประกอบการที่ผลิตเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกิน 10 กรัม จะต้องเสียภาษีความหวานเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 4 เท่าตัว
ซึ่งสูตรชานมที่ซารต์เลือกใช้ ต้องเสียภาษีความหวานสูงกว่าปกติทั้งๆ ที่มีสูตรอื่นที่รสชาติใกล้เคียงกันมาก และสามารถลดค่าภาษีความหวานได้ แต่ซารต์ซีเรียสเรื่องรสชาติมากๆ จึงไม่ยอมปรับสูตรเพราะคิดว่า ถ้าเราปรับสูตรแล้วตัวเองไม่มีความสุข ไม่ภูมิใจในสินค้า เป็นแบบนั้นขอเลือกไม่ผลิตดีกว่า
จึงทำให้ต้นทุนการผลิตในส่วนนี้สูงขึ้นตามไปด้วย
3.การพยากรณ์ยอดขายและความต้องการของลูกค้า
หลังจากที่วางขายใน 7-11 ล็อตแรก Sun Su ได้กระแสตอบรับที่ดีมากๆ จากการทำการตลาด รวมถึงความต้องการของลูกค้าที่อยากจะลองสินค้าใหม่ในช่วงแรก ทำให้สินค้าไม่พอขาย และขาดสต๊อก
แต่ว่าทั้ง 2 คนกลับบริหารจัดการเรื่องเวลาไม่ดี เมื่อสั่งผลิตและสต๊อกในล็อตที่สองเกิดความไม่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า เพราะกระแสน้อยลงทำให้กลายเป็นสินค้าค้างสต๊อก และShelf life (อายุการเก็บรักษาของสินค้า) ไม่ถึงตามขั้นต่ำที่เซเว่นกำหนด
สิ่งที่สำคัญที่สุดในบทเรียนราคาแพงครั้งนี้คือ
“การจัดการเงิน สิ่งที่เราต้องดูทุกเดือนให้ได้คืองบกำไรขาดทุนตรงนี้เป็นบทเรียนราคาแพงมากมหาศาลที่เรามาดูงบกันปีละครั้ง”
เรามองว่า การออกมาเล่าประสบการณ์ในครั้งนี้เป็นประโยชน์กับเหล่าผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่อยากจะลองทำสินค้าขายใน 7-11 ที่ดีมากๆ เพราะทุกบทเรียนจะสอนให้เราเก่งขึ้นเสมอ
อ้างอิง:
- thairath. Bearhug ทำธุรกิจชานมกระป๋องขาดทุน 17 ล้าน แต่ยังไม่ถึงขั้น “เจ๊ง!”. https://bit.ly/3a3puHQ
- youtube. *บทเรียนล้ำค่า* หัดทำธุรกิจด้วยหัวใจ แต่กำไรไม่เหลือ. https://bit.ly/3wJCoEB