จากเสียงปืนในวันนั้นสู่ปัจจุบันในวันนี้ 32 ปี การจากไปของ ‘สืบ นาคะเสถียร’ กับแง่มุมชีวิตที่คุณอาจไม่เคยรู้
1 กันยายน ปีนี้ ครบรอบ 32 ปี การจากไปของ ‘สืบ นาคะเสถียร’ อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ผู้ชายธรรมดาที่ปลุกให้ประเทศไทยหันมาให้ความสนใจงานอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าด้วยกระสุนหนึ่งนัด
แม้จะผ่านมานานนับ 3 ทศวรรษ แต่เชื่อว่าชื่อของชายคนนี้ก็ยังเป็นที่จดจำของคนจำนวนมาก รวมถึงเป็นขวัญกำลังใจให้กับคนรักษ์ป่าอีกไม่น้อย
ในวาระ 32 ปี การจากไปของ สืบ นาคะเสถียร เราอยากย้อนรำลึกเรื่องราวของนักอนุรักษ์ผู้นี้กันอีกครั้ง ถึงตัวตนในช่วงเวลาต่างๆ กับ 32 เรื่องราวที่อธิบายถึงแง่มุมต่างๆของชายที่ชื่อสืบนาคะเสถียร
- วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม 2492 เป็นวันที่ เด็กชายสืบยศ นาคะเสถียร ลืมตาขึ้นบนโลก และเป็นลูกชายคนโตของอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเขาไม่เคยคุยโวว่าพ่อเขาเป็นใคร หรือใช้ตำแหน่งของพ่อเพื่อประโยชน์ส่วนตน
- วัยเด็กเขาเคยใช้หนังสติ๊กยิงแม่นกตาย ก่อนมาพบว่าแม่นกตัวนั้นมีรังและมีลูกน้อยคอยอยู่ นับแต่นั้นมา เขาก็ไม่เคยยิงนกอีกเลย
- เมื่อเรียนจบชั้นประถม 4 สืบได้ย้ายไปเรียนโรงเรียนเซนต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่นั่นสืบได้เป็นนักเป่าทรัมเป็ตมือหนึ่ง และนักวาดภาพฝีมือดีของโรงเรียน
- ฝีมือวาดภาพของสืบนั้นเป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ จนถูกตั้งสมญาว่า ‘ต่วย’ (มาจากหนังสือ ต่วย’ตูน) เมื่อครั้งศึกษาอยู่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- จริงๆ แล้ว สืบไม่ได้เลือกเรียนวนศาสตร์เป็นคณะแรก เขาอยากเรียนสถาปัตย์ แต่โชคไม่ดีที่สอบไม่ติด จึงยอมเข้าคณะวนศาสตร์ (รุ่นที่ 35) เพราะไม่อยากเสียเวลา และต้องขอเงินพ่อแม่ใช้เพิ่มอีกปี
- ตอนเป็นนิสิต สืบเล่นกีฬาหลายอย่าง เช่น โปโลน้ำ และฟุตบอล ความเป็นคนมุ่งมั่นตั้งใจ ทำให้สืบเป็นนักกีฬาที่จัดได้ว่ามีฝีมือดีทีเดียว นพรัตน์ นาคสถิตย์ เพื่อนสนิทของสืบเล่าว่า เวลาเล่นฟุตบอลเป็นเรื่องยากมากที่จะพาบอลผ่านกองหลังได้อย่างสืบ สืบจะทุ่มเทสกัดเต็มที่ แต่ก็จะเล่นอยู่ในกติกาเสมอ
- ในวันเรียนจบคณะวนศาสตร์ สืบตัดสินใจไม่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร เพราะคิดว่าตัวเองยังมีความรู้ไม่เพียงพอที่จะรับปริญญา
- เมื่อเรียนจบ สืบว่างงานอยู่ 2 ปี เพราะกรมป่าไม้ไม่มีตำแหน่งว่าง จึงไปสมัครงานที่การเคหะแห่งชาติ ประจำฝ่ายสวนสาธารณะ มีหน้าที่ปลูกต้นไม้ตามหมู่บ้านจัดสรร แต่พอทราบว่างานที่ทำแทนที่ราชการจะได้รับประโยชน์ กลับกลายเป็นเอื้อประโยชน์ให้เอกชน สืบจึงไม่พอใจและตัดสินใจลาออกทันที
- สืบกลับมาศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านวนวัฒน์วิทยา คณะวนศาสตร์ ระหว่างที่เรียนเขาสามารถสอบเข้ากรมป่าไม้ได้เป็นอันดับ 3 ซึ่งในเวลานั้นคนที่สอบได้อันดับ 1-10 มีสิทธิ์เลือกบรรจุกองไหนก็ได้ ส่วนมากมักจะเลือกเป็นป่าไม้ เพื่อมีโอกาสจะก้าวไปเป็นป่าไม้จังหวัด หรือป่าไม้เขตในอนาคต แต่สืบกลับเลือกอยู่กองอนุรักษ์สัตว์ป่า ซึ่งทั้งรุ่นมีเพียงแค่สืบกับเพื่อนรวม 5 คนเท่านั้นที่เลือกทำงานกองอนุรักษ์สัตว์ป่า
- งานแรกของสืบคือการประจำอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว–เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี ณ ที่นั้น สืบได้ทราบว่ามีผู้ทรงอิทธิพลบุกรุกทำลายป่าเป็นจำนวนมาก เขาเริ่มลงมือทำงานปราบปรามอย่างแข็งขัน เป็นที่เลื่องลือกันว่าผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมไม่เคยมีใครได้ยินคำผรุสวาท หรือดูถูกจากเจ้าหน้าที่คนนี้เลย
- ครั้งหนึ่ง สืบขึ้นไปจับคนลักลอบเผาถ่านขาย เมื่อพบว่าเป็นครอบครัวคนยากจนที่หามื้อกินมื้อ สืบบอกกับผู้บังคับบัญชาว่า “กลับเถอะพี่ เห็นใจเขา” ภายหลังสืบได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Image ว่า “ผมเห็นใจคนที่ไม่มีโอกาสในสังคม ถูกบีบคั้นถูกเอาเปรียบทุกอย่าง ประเทศไทยจะดีขึ้น ถ้าคนที่มีโอกาสยอมสละโอกาสบ้าง“
- ปี 2522 สืบได้รับทุนจาก British Council ไปเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในสาขาอนุรักษวิทยา และกลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ และเริ่มงานวิจัยชิ้นแรก คือ การศึกษาการทำรังวางไข่ของนกบางชนิด ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี สืบให้เหตุผลว่า “ผมหันมาสนใจงานวิจัยมากกว่าที่จะวิ่งไปจับคน เพราะรู้ว่าจับได้แต่คนตัวเล็กๆ ตัวใหญ่ๆ จับไม่ได้ ก็เลยอึดอัดว่ากฎหมายบ้านเมืองนั้นมันใช้ไม่ได้กับทุกคน มันเหมือนกับว่าเราไม่ยุติธรรม เรารังแกชาวบ้าน”
- ปี 2528 สืบเดินทางไปทำวิจัยเรื่องกวางผา กับ ดร.แซนโดร โรวาลี ที่ดอยม่อนจอง ในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างติดตาม จนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเสียชีวิต สร้างความสะเทือนใจให้แก่ สืบ นาคะเสถียร เป็นอย่างมาก
- ปี 2529 สืบได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลานจังหวัดสุราษฎร์ธานีก่อนหน้านี้ไม่เคยมีโครงการอพยพสัตว์ป่าขึ้นมาก่อนในประเทศไทยไม่มีต้นแบบหรือโมเดลให้เอาอย่างสืบจึงต้องไปเสาะหาข้อมูลจากการชมสารคดีการจับสัตว์ป่าจากต่างประเทศแทน
- ภาพจำหนึ่งถึงสืบ จากเหตุการณ์อพยพสัตว์ป่า คือ ตอนที่ สืบ นาคะเสถียร พยายามปั๊มหัวใจกวาง ปรากฏอยู่ในสารคดี ‘ส่องโลก’ ของ โจ๋ย บางจาก ในเหตุการณ์นั้น ตวงรัตน์ โพธิ์เที่ยง หนึ่งในทีมงานอพยพสัตว์ป่า เล่าว่า “พี่สืบเครียดมาก ทุกคนก็เครียด นั่งนิ่งกันไม่รู้จะทำยังไง เราอยากช่วยแต่มันมาตายด้วยมือเรา คือปกติพี่สืบแกเป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยพูดอยู่แล้ว ยิ่งแกเครียดแกจะไม่พูดอะไรเลย เงียบอยู่คนเดียว เราก็ทำดีที่สุดแล้ว ตั้งใจที่จะช่วยเหลือมัน แต่ก็เสียใจจริงๆ”
- วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี เล่าว่า สืบเพิ่งหัดจับงูพิษเป็นครั้งแรกในชีวิต เพียงเพราะต้องการจะช่วยงูจงอางที่กำลังว่ายน้ำอยู่ เพราะสืบรู้ดีว่าหากปล่อยให้งูยังคงว่ายน้ำต่อไป งูตัวนั้นจะต้องตายอย่างแน่นอน
- สืบเขียนรายงานสรุปผลการช่วยเหลือสัตว์ป่าว่า “ผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เป็นกระบวนการทำลายแหล่งพันธุกรรมตลอดจนแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์ป่า ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจของผืนป่าทั้งหมดที่มนุษย์มิอาจสร้างขึ้นมาได้”
- หลังจากจบภารกิจอพยพสัตว์ป่า สืบเข้าร่วมคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจนในผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร นาทีนั้น ไม่มีใครรู้ดีไปกว่าสืบ ว่าหากมีการก่อสร้างเขื่อนในป่าที่มีสัตว์ป่าจำนวนมากอย่างป่าทุ่งใหญ่ฯ จะมีสัตว์ตายไปมากเท่าไร จนในที่สุด ข้อมูลของสืบและฝ่ายอนุรักษ์ก็ทำให้รัฐบาลมีมติชะลอการก่อสร้างเขื่อนออกไป และบทเรียนการคัดค้านของสืบในครั้งนั้นก็เป็นแม่แบบของนักอนุรักษ์ในรุ่นต่อมา ทำให้ไม่มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในป่าอนุรักษ์อีกเลย
- ปี 2531 สืบและเพื่อนนักอนุรักษ์ออกโรงคัดค้านการที่บริษัทไม้อัดไทยจะขอสัมปทานทำไม้ ที่ป่าห้วยขาแข้ง สืบได้อภิปรายว่า “คนที่อยากอนุญาตให้ทำไม้ก็เป็นกรมป่าไม้ คนที่จะรักษาก็เป็นกรมป่าไม้เหมือนกัน”
- คำพูดหนึ่งที่สืบมักพูดอยู่เสมอ เมื่อต้องไปบรรยายเรื่องของป่าไม้และสัตว์ป่าในที่ต่างๆ คือ “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว เพราะเขาพูดแทนตัวเองไม่ได้”
- สืบได้รับทุนเรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ แต่ตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขาพบว่าป่าแห่งนี้มีปัญหามากมาย อาทิ ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของบุคคลที่มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า แต่ปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับความสนใจจากผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเลย
- สืบมุ่งมั่นเดินหน้าแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเขาเชื่อว่าจะต้องรีบเร่งให้การศึกษาแก่ชาวบ้านรอบๆพื้นที่โดยเฉพาะกับเด็กๆให้เห็นถึงความสำคัญของป่าห้วยขาแข้งสืบจึงให้ความสำคัญกับงานเผยแพร่มากเขาออกไปบรรยายเองตามโรงเรียนชุมชนต่างๆจากเช้าจนมืดพอรุ่งสางก็ขับรถออกไปตามโรงเรียนบรรยายให้เด็กนักเรียนฟังต่ออย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
- สืบเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับลูกน้องมาก แต่น่าเสียดายที่หลายต่อหลายครั้ง สืบไม่สามารถปกป้องลูกน้องได้จากพวกลักลอบล่าสัตว์ ตัดไม้ สืบเคยประกาศกร้าวว่า “จะไม่มีใครตายในห้วยขาแข้ง ถ้ามีก็ต้องเป็นผม” และครั้งหนึ่ง สืบได้ตะโกนก้องใส่พรานที่ทำร้ายลูกน้องว่า “ถ้ามึงจะยิงลูกน้องกู มึงมายิงกูดีกว่า”
- สืบมักจะขอเงินที่บ้านเป็นประจำเดือนละ 20,000 บาท ตอนแรกไม่มีใครเข้าใจว่าทำไมสืบถึงใช้เงินเยอะ ก่อนมาทราบภายหลังว่าเอาไปให้ลูกน้องใช้ก่อน เพราะเป็นช่วงที่งบประมาณข้าราชการตกเบิก
- ช่วงเวลาที่ทำงานอยู่ห้วยขาแข้ง สืบมีค่าหัวราว 5,000 บาท เวลาต้องเข้าไปค้างแรมในป่าเขามักไม่บอกใครว่าตัวเองจะนอนตรงไหน บางครั้งก็กางเต็นท์ทิ้งไว้เปล่าๆ แล้วพาตัวเองไปนอนที่อื่น
- น้ำฝน–ชินรัตน์ นาคะเสถียร ลูกสาวคนเดียวของสืบ เล่าว่า แทบทุกครั้งที่พบพ่อ เขาจะอยู่ในชุดทำงานเสมอๆ การพบกันครั้งสุดท้ายของพ่อลูกมีขึ้นในวันที่ 29 สิงหาคม 2533
- “หม่อม พี่ไปแล้วนะ” เป็นคำพูดสุดท้ายที่สืบได้เอ่ยกับลูกน้องคนหนึ่งในคืนวันที่ 31 สิงหาคม 2533
- กลางดึกของคืนวันที่ 31 สิงหาคม 2533 เริ่มลงมือเขียนจดหมายอำลาฉบับแรก “ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวตาย โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น” จดหมายบางฉบับลงวันที่ไว้ว่าเขียนเมื่อ 31 สิงหาคม บางฉบับลงวันที่ไว้เป็นวันที่ 1 กันยายน
- ปืนที่สืบใช้จบชีวิตตัวเอง เป็นปืนขนาด 11 มม. ที่บิดาของสืบมอบให้ลูกชายไว้ป้องกันตัวเอง
- มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ก่อตั้งขึ้นภายในเวลา 18 วันหลังจากสืบนาคะเสถียรเสียชีวิตเหตุที่ใช้เวลาดำเนินการรวดเร็วเพราะข่าวการเสียชีวิตของหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นกระแสของสังคมในเวลานั้นจึงได้รับความร่วมมือจากมิตรสหายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างทันทีทันใด
- ในเดือนธันวาคม 2534 การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 15 ณ เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนิเซีย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่–ห้วยขาแข้ง เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย สมดังที่สืบเฝ้าฝัน
- ถ้า สืบ นาคะเสถียร ยังมีชีวิต ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2565 ชายผู้นี้จะมีอายุ 73 ปี เพื่อนสนิทหลายคนเชื่อว่า สืบคงลาออกจากกรมป่าไม้ ผันตัวเองมาเป็นอาจารย์สอนตามมหาวิทยาลัย เพราะรับไม่ได้กับการทำงานของกรมในเวลานั้น
ปัจจุบันสถานการณ์ป่าไม้ และสัตว์ป่าในไทยยังคงน่าเป็นห่วง ยังมีพื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย ยังมีสัตว์ป่าน้อยใหญ่ที่ถูกลักลอบสังหาร ยังไม่รวมถึงสถานการณ์สิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ส่งผลเชื่อมโยงกันหมด เรื่องราวเหล่านี้อาจไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่คือเรื่องราวของพวกเราในฐานะชาวไทย และชาวโลกทุกคน ที่ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ และร่วมสืบสานเจตจำนงของ ‘สืบ’ ไปด้วยกัน แม้ในวันที่เขาปราศจากลมหายใจ