3 Min

เลิกพูดเปรียบเทียบลูก! ถึงเป็นพี่น้องแต่ไม่ได้แปลว่าต้องเหมือนกัน ไม่ต้องบีบให้พี่น้องต้องแข่งขันกันเพื่อเก่งกว่าเสมอไป

3 Min
1180 Views
17 Jan 2022

หากพูดถึงคำว่า ‘พี่น้อง’ หลายคนคงนึกถึงคนร่วมสายเลือดที่หน้าตาคล้ายๆ กัน โตมาด้วยกัน ตีกันบ้าง หัวเราะกันบ้าง ทะเลาะกันบ้างตามประสาคนใกล้ชิด แต่เชื่อไหมว่า ปัญหาที่พี่น้องเกิดการแข่งขันกันเองก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาระหว่างพี่น้องที่มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง

คำถามที่น่าจะเกิดขึ้นในความคิดของหลายๆ คนต่อมาก็คือ แล้วทำไมพี่น้องต้องแข่งกันเองด้วยล่ะ? โตมาด้วยกันก็น่าจะรักกันสิ ไหนจะวัยที่ใกล้เคียงกันก็น่าจะพูดคุยกันได้เข้าใจง่ายกว่า

ข้อมูลผลการศึกษาที่ระบุไว้ใน Verywell Mind เว็บไซต์ทางด้านสุขภาพจิต พบว่า ‘ความลำเอียงของพ่อแม่’ เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการแข่งขันกันเองระหว่างพี่น้อง และความลำเอียงที่เกิดขึ้นจากพ่อแม่ก็สามารถส่งผลต่อสุขภาพจิตของลูกได้ด้วย นอกจากนี้ ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) เองก็พบว่า พ่อแม่ส่วนมากมักจะรู้สึกใกล้ชิดและสนิทกับลูกมากที่สุดเพียงคนเดียว ทำให้พ่อแม่มีวิธีปฏิบัติต่อลูกแต่ละคนแตกต่างกันออกไปโดยที่พวกเขาเองก็อาจจะไม่รู้ตัว

นอกเหนือจากเรื่องของความลำเอียงแล้ว ‘คำพูดเปรียบเทียบลูก’ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ลูกรู้สึกบั่นทอนจิตใจได้ด้วยเช่นกัน แน่นอนว่าพอได้ยินคำพูดเปรียบเทียบบ่อยๆ ลูกคนที่โดนเปรียบเทียบก็คงจะรู้สึกไม่ดีเท่าไหร่นัก และอาจเกิดความคิดในใจว่าตัวเองไม่ดีพอหรือไม่เก่งเหมือนพี่หรือน้อง ซึ่งก็จะนำมาซึ่งความรู้สึกน้อยใจและเครียดจากการกดดันตัวเอง เพราะต้องการจะเป็นเหมือนพี่หรือน้องคนที่พ่อแม่ให้การยอมรับมากกว่า ปัญหาการแข่งขันกันเองระหว่างพี่น้องจึงเกิดขึ้นตามมา แม้ว่าในบางครั้งตัวลูกเองก็อาจจะไม่ได้อยากให้เกิดขึ้นก็ตาม

แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่การแข่งขันกันระหว่างพี่น้องเกิดขึ้นแล้ว และเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เราจึงต้องหาวิธีรับมือกับสถานการณ์นี้ ก่อนที่การแข่งขันกันจะกลายเป็นการสร้างความเกลียดชังระหว่างพี่น้องด้วยกันเอง แล้วจะรับมืออย่างไรได้บ้างล่ะ? เรามาดูกันเลย!

  • ไม่ควรคิดลบหรือคิดมากเกินไป : เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า บางครั้งพ่อแม่อาจจะไม่ได้รักพี่หรือน้องมากไปกว่าที่พวกเขารักเราเลย แต่พ่อแม่อาจจะมีเหตุผลอะไรบางอย่างที่ทำให้พวกเขาให้ความสนใจกับพี่หรือน้องของเรามากกว่า แต่เชื่อเถอะว่าพวกเขาก็ไม่ได้อยากให้ลูกคนอื่นๆ รู้สึกแย่หรือรู้สึกว่าพวกเขาไม่รักหรอก
  • หาใครสักคนที่เข้าใจเราเพื่อพูดคุยหรือปรึกษา : คนในครอบครัวอาจไม่ได้มีความคิดเห็นที่เหมือนกันทุกเรื่องเสมอไป และในบางครั้ง คนอื่นนอกครอบครัวก็ดูเหมือนว่าจะเข้าใจเราได้ดีกว่าด้วยซ้ำไป ดังนั้นการมีใครสักคนที่เข้าใจเรา ซึ่งเราสามารถพูดคุยด้วยได้ ก็จะสามารถช่วยให้เราก้าวผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ง่ายขึ้น
  • ยอมรับความเป็นจริงและพยายามเข้าใจให้มากขึ้น : การยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจะช่วยให้เราสามารถก้าวข้ามผ่านความรู้สึกลบไปได้ง่ายขึ้น และจะดียิ่งขึ้นถ้าเราเข้าใจและปรับเปลี่ยนความคิดของตัวเองให้เป็นไปในทางบวกมากขึ้น เราอาจจะลองมองว่าครอบครัวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่ไม่ใช่ส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้เราต้องมาแข่งกับพี่น้อง เพื่อให้เป็นที่ต้องการของพ่อแม่หรือคนอื่นๆ
  • ยอมรับความแตกต่างของแต่ละคนในครอบครัวให้มากขึ้น : แม้ว่าจะเกิดและเติบโตมาในพื้นฐานครอบครัวเดียวกัน แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกคนต่างก็มีความคิดและนิสัยที่แตกต่างกัน การยอมรับและเข้าใจความแตกต่างของแต่ละคนในครอบครัวจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะสามารถช่วยลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างพี่น้องได้

อย่างไรก็ตาม ครอบครัวแต่ละครอบครัวต่างก็มีวิธีการเลี้ยงดูที่แตกต่างกันไป และทุกคนต่างก็มีความนึกคิดและความรู้สึกเป็นของตัวเอง ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวจึงเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ ไม่เว้นแม้แต่ปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างพี่น้องด้วยกันเอง แต่สิ่งสำคัญก็คือเราต้องหาทางรับมือและก้าวข้ามผ่านปัญหาไปให้ได้ต่างหาก

การที่พี่น้องต้องมาทะเลาะกันหรือแข่งขันกันเองฟังดูแล้วก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไหร่นักเลย แต่ถ้าเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่อาจเกิดขึ้นได้จริงๆ การลองปรับเปลี่ยนมุมมองของตัวเองใหม่ คิดว่าการแข่งกับพี่น้องเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะสร้างแรงกระตุ้น เพื่อให้ตัวเองพัฒนาเป็นคนที่ดีขึ้นและเก่งมากขึ้น ก็ดูจะเป็นทางออกที่ดีกว่าสำหรับปัญหานี้ แต่อย่าลืมว่าการแข่งขันนั้นก็ไม่ควรจะกลายมาเป็นความเกลียดชังระหว่างพี่น้องด้วยกันเอง เพราะสุดท้ายแล้ว การที่พี่น้องรักและเข้าใจกันก็เป็นเรื่องที่ดีมากกว่าสำหรับคนมีพี่น้อง

อ้างอิง