เป็นเหี้ยไรเอ่ย? มูลนิธิสืบนาคะเสถียรชวนรู้จัก ‘สัตวป่าคุ้มครองตระกูลเหี้ย’ ผ่านสติกเกอร์กันน้ำ
เรียกได้ว่าต้องมีสะดุ้งกันบ้าง! เมื่อมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ออกคอลเลกชันสติกเกอร์พิเศษ ‘เราเป็นเหี้ยชนิดไหนนะ?’ ที่นอกเหนือจากจะสามารถนำไปติดตกแต่งวัสดุได้ตามใจชอบ ยังชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับสัตว์ชนิดหนึ่งที่ทุกคนรู้จักหรือเรียกกันในชื่อ ‘ตัวเหี้ย’ กันให้มากขึ้น
ตัวเหี้ย ถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน โดย ‘วงศ์เหี้ย’ ในประเทศไทยที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองนั้น มีด้วยกัน 4 ชนิด แต่ละชนิดก็จะมีลักษณะ รวมถึงนิสัยที่แตกต่างกัน ดังนี้
1 – ‘ตะกวด’ หรือที่เรียกอีกชื่อว่า ‘แลน’ มีลักษณะลำตัวสีดำหรือน้ำตาลเข้ม บนตัวมีลายจุดสีเหลืองจางกระจายทั่วไปทั้งลำตัวและขาด้านบน ชอบอาศัยอยู่บนต้นไม้ หากินบนพื้นดิน มีนิสัยไม่ดุร้าย ว่ายน้ำไม่เก่งเท่าตัวเหี้ย แถมชอบอาศัยอยู่ตามป่าโปร่งมากกว่า
ทั้งนี้ตะกวดเป็นสัตว์ป่าที่นับว่าถูกล่าและถูกคุกคามจากมนุษย์มากที่สุดจนบางพื้นที่แทบไม่หลงเหลือให้พบเจอ ส่วนใหญ่จะพบว่าคนชอบนำตะกวดหรือแลนมาประกอบเป็นอาหารโดยไม่รู้ว่ามันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
2 – ‘ตุ๊ดตู่’ มีลักษณะอ้วน ป้อม เกล็ดเป็นสันแข็งขนาดใหญ่โดยเฉพาะบริเวณคอ ตอนเด็กตรงหัวและคอจะเป็นสีส้ม มีแถบสีดำลากตัดบริเวณหางตา ตอนโตจากสีส้มจะเปลี่ยนเป็นสีครีม ใต้คอมีสีขาว ผิวหนังและลำตัวมีสีเทาอมน้ำตาล พบได้ตามภาคใต้และภาคตะวันตกของไทย มีนิสัยรักสงบและเชื่องช้า
3 – ‘เห่าช้าง’ มีขนาดเล็กกว่าเหี้ย ผิวสีดำเข้ม มีลายขวางจางๆ ที่ลำตัว เกล็ดบนคอมีลักษณะแหลมคล้ายหนามทุเรียน เห่าช้างเป็นสัตว์ที่ขี้อายและขี้กลัว มีความว่องไวและดุร้ายกว่าเหี้ยชนิดอื่น เมื่อเจอศัตรูจะส่งเสียงขู่ฟ่อๆ เหมือนงูเห่า แต่เป็นสัตว์ไม่มีพิษ
4 – ‘เหี้ย’ หรือบางคนเรียกว่า ‘ตัวเงินตัวทอง’ ในตระกูลนี้ เหี้ยถือว่ามีขนาดตัวที่ใหญ่สุด อีกทั้งพบเจอได้ง่ายสุด มักอาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำลำคลอง ป่าดิบชื้น และป่าชายเลน โดยลำตัวของมันจะอ้วนยาว ขาสั้นแต่แข็งแรง นิ้วมีกรงเล็บแหลมคม หางช่วยในการทรงตัวตอนวิ่งและว่ายน้ำ ผิวหนังหยาบ มีเกล็ดขนาดเล็กปกคลุมทั่วลำตัว ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย นิสัยรักสันโดษ ชอบปีนต้นไม้และว่ายน้ำเก่ง จะดุร้ายเมื่อถูกคุกคามจากศัตรู
อย่างไรก็ดี สัตว์ตระกูลเหี้ยทั้ง 4 ชนิดนี้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่ถูกกำหนดตามกฎกระทรวง ห้ามมิให้ผู้ใดล่าหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากสัตว์ป่าดังกล่าว หากฝ่าฝืนมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และสุดท้าย หากใครสนใจอยากมีสติกเกอร์น้องเหี้ยไว้ในครอบครอง ก็สามารถติดต่อมูลนิธิสืบนาคะเสถียรตามช่องทางต่างๆ ได้เลย
อ้างอิง
- มูลนิธิสืบนาคะเสถียร. สติกเกอร์ เราเป็นเหี้ยชนิดไหนนะ?.https://tinyurl.com/3jsshprp
- กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. รู้จัก…สัตว์ป่าคุ้มครอง วงศ์ (ตระกูล) เหี้ย ในไทย. https://tinyurl.com/4uud234n