Startup ด้านพันธุกรรมประกาศจะ ‘คืนชีพ’ สัตว์สูญพันธุ์หลายชนิด …หรือเราจะเห็น Jurassic Park อยู่รำไร?
เราอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีถูกพัฒนาไปเร็วมากๆ ในระดับที่แทบไม่มีอะไรเกินจินตนาการอีกต่อไป ซึ่งล่าสุดบริษัท Colossal Biosciences ที่เป็นสตาร์ทอัพในสหรัฐอเมริกา ก็ประกาศจะ ‘คืนชีพ’ สัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วหลายชนิด และได้ระดมทุนเพิ่มมาอีกประมาณ 5,000 ล้านบาท
โดยพันธกิจของบริษัทนี้ก็คือการใช้พัฒนาการด้านเทคโนโลยีพันธุกรรมไปคืนชีพสัตว์ต่างๆ ที่สูญพันธุ์ไปแล้วให้มันกลับไปอยู่ ‘ตามธรรมชาติ’ และบรรดาสัตว์ที่อยู่ในเป้าหมายของกระบวนการ ‘คืนชีพ’ ก็มีตั้งแต่ช้างแมมมอธ เสือแทสมาเนีย และล่าสุดคือนกโดโด้ ซึ่งนกโดโด้นี่แหละคนคาดกันว่าน่าจะเป็นไปได้ที่สุด และอาจเป็นสิ่งที่ควรจะทำแล้วที่จะเอาพวกมันกลับมาบนโลก
ทำไมต้องเป็นนกโดโด้? เพราะมันเป็นสัตว์ที่ ‘สูญพันธุ์ด้วยน้ำมือมนุษย์’ จริงๆ
นกโดโด้เป็นนกพื้นถิ่นที่เกาะมอริเชียส ซึ่งเป็นเกาะทางตะวันออกของทวีปแอฟริกาในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งดั้งเดิมพวกคนพื้นเมืองก็ไม่เคยล่ามัน และบนเกาะก็ไม่มีสัตว์อื่นที่กินมันเป็นอาหาร พวกมันก็เลยเป็นนกโง่ๆ เชื่องๆ ซึ่งสุดท้ายถูกทั้งล่าโดยคนขาวในช่วงอาณานิคม และโดยบรรดาสัตว์ต่างถิ่นที่มาพร้อมๆ กับคนขาว
นี่เลยทำให้การที่นกโดโด้สูญพันธุ์ไปในศตวรรษที่ 18 กลายเป็น ‘บทเรียน’ แรกๆ ในความทรงจำของมนุษย์ว่าการเข้าไป ‘แทรกแซงธรรมชาติ’ หรือที่มนุษย์ไปยุ่งกับ ‘ระบบนิเวศ’ มีผลทำให้สัตว์สูญพันธ์ุได้จริงๆ
และอีกด้านหนึ่ง นี่ก็เป็น ‘ตราบาป’ ของมนุษยชาติเสมอมา โดยเฉพาะคนตะวันตก ซึ่งนี่ทำให้แนวคิดว่าการจะเอานกชนิดนี้กลับมาบนโลกถูกมองเป็นเหมือนการ ‘ไถ่บาป’ ของการแทรกแซงระบบนิเวศของมนุษย์ด้วย และนี่ก็คือสิ่งที่ทาง Colossal Biosciences พูดไว้เป๊ะๆ
เนื่องจากนกโดโด้เป็นนกที่มีลักษณะโง่ๆ เซื่องๆ ไม่ดุร้าย และดูน่ารักด้วยซ้ำ ก็เลยแทบไม่มีการต่อต้านโครงการที่จะทำให้พวกมันกลับมามีชีวิต ซึ่งต่างจากปฏิกิริยาของผู้คนต่อการพยายามจะคืนชีพพวกสัตว์ใหญ่แบบช้างแมมมอธ หรือสัตว์กินเนื้อแบบเสือแทสมาเนียแน่ๆ
กระบวนการคืนชีพ เอาจริงๆ ก็คล้ายที่เราเห็นในหนัง คือเริ่มจากการถอดรหัสพันธุกรรมให้เสร็จสมบูรณ์ก่อน ซึ่งตรงนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีตัวอย่างพันธุกรรมที่สมบูรณ์เพียงพอของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ หลังจากนั้นก็ทำการตัดต่อพันธุกรรมที่จำเป็นจากสิ่งมีชีวิตที่เป็นญาติใกล้เคียงกับมันในปัจจุบัน เพื่อหาทางสร้าง ‘ตัวอ่อน’ ของพวกมันออกมา และนำมันไปเข้ากระบวนการ ‘อุ้มบุญ’ เพื่อให้มันคลอดหรือฟักออกมาเป็นตัวในที่สุด
พูดง่ายๆ คือกระบวนการมันไม่ได้ต่างจากการสร้างไดโนเสาร์ใน Jurassic Pack เท่าไหร่เลย
สำหรับนกโดโด้ การถอดรหัสพันธุกรรมดำเนินไปจนเสร็จแล้ว และจริงๆ ก็สำเร็จมาเกิน 20 ปี แต่ความท้าทายก็คือ การสร้าง ‘ตัวอ่อน’ และเอามันเข้าไปอยู่ในไข่ให้สำเร็จ ซึ่งจริงๆ สัตว์ที่จะเอามาเป็นต้นแบบของ ‘ตัวอ่อน’ นกโดโด้ก็ค่อนข้างจะชัดเจนแล้วว่าคือนกพิราบนิโคบาร์ ซึ่งเป็น ‘ญาติใกล้สุด’ ของนกโดโด้
และว่ากันตรงๆ ก็คือ ‘อย่าเพิ่งตื่นเต้นไป’ เพราะตอนนี้ยังสร้างตัวอ่อนไม่สำเร็จ ยังไม่ต้องพูดถึงการเอาตัวอ่อนไปฟักในไข่ นั่นคือยิ่งอีกไกลทั้งนั้น แต่ความน่าตื่นเต้นจริงๆ ณ ตอนนี้ก็คือ นักลงทุนรายใหญ่ๆ ยอมเทเงินกันเป็นหลักพันล้านบาทในโปรเจกต์แบบนี้ ซึ่งแน่นอนคือพวกเขาเชื่อว่ามันทำได้จริง ไม่งั้นก็คงไม่ลงเงินกันขนาดนี้
นี่ก็เลยกลับมาสู่คำถามว่า การคืนชีพนี้มันจะนำไปสู่อะไร? แน่นอน Colossal Biosciences ก็อ้างว่ามันเป็นไปเพื่อการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ แต่ทาง Colossal Biosciences ก็เป็นบริษัทเอกชนที่ปกติต้องทำตาม ‘ผู้ถือหุ้น’ ซึ่งบริษัทสไตล์ Startup พวกนี้ การเพิ่มหุ้นรวมถึงขายหุ้นจำนวนมากเข้าๆ ออกๆ ก็เป็นปกติ และก็คงไม่แปลกที่สักวัน ‘ผู้ถือหุ้นใหญ่’ จะเรียกร้องให้ทางบริษัทคืนชีพไดโนเสาร์และทำอะไรแบบ Jurassic Park ในที่สุด
และก็อย่าคิดว่าเราจะไม่ถึงตรงนั้น เพราะสิ่งที่เราประมาทไม่ได้เลยในปัจจุบันนอกจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีสุดรวดเร็วแล้ว ก็คงจะเป็น ‘ความบ้า’ ของมนุษย์นี่แหละ
อ้างอิง
- IFLS. ‘De-Extinction’ Of The Dodo Receives $150 Million In Funding. https://bit.ly/3x21FLr
- Vice. Scientists Launch Project to ‘De-Extinct’ the Dodo, Reintroduce to Natural Habitat. https://bit.ly/3x4pS3E