‘ฟองน้ำทะเล’ เป็นสิ่งมีชีวิตในทะเลอีกชนิดที่อยู่ยืนยงคู่โลกมานาน ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 600 ล้านปีก่อน เคยครอบครองอาณาจักรมหาสมุทรมาพร้อมๆ กับปะการัง ก่อนจะมีสัตว์ชนิดต่างๆ วิวัฒนาการตามมาอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
หากมองด้วยตา เราอาจเห็นฟองน้ำทะเลเหมือนหินเหมือนปะการัง แต่จริงๆ แล้วฟองน้ำทะเลเป็นสัตว์ที่ตัวนิ่ม และร่างกายมีความยืดหยุ่นสูง สามารถคืนรูปทรงได้เหมือนกับฟองน้ำที่เราใช้กันทั่วไปในครัวเรือน
แต่เห็นนิ่มๆ อย่างนั้น จริงๆ แล้วฟองน้ำทะเลเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่อายุยืนทีเดียว จากประมาณ 8,550 สปีชีส์ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน บางสปีชีส์มีอายุอย่างต่ำๆ ก็ 500 ปี หรือบางชนิดมีอายุขัยมากถึง 15,000 ปี ซึ่งเกิดมาในช่วงที่แมมมอธยังเดินทอดน่องไปทั่วแผ่นดิน จนสัตว์ยักษ์สูญพันธุ์ไปแล้ว แต่ฟองน้ำทะเลตัวนั้นก็ยังไม่ตาย
และที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือ ‘ความอยู่ทน’ แทบไม่หวั่นไหวต่อความเปลี่ยนแปลงรอบตัว เป็นต้นว่าปะการังทั่วทั้งเกรตแบร์ริเออร์รีฟที่ถูกความร้อนฟอกจนกลายเป็นสีขาวโพลน พวกฟองน้ำทะเลก็ยังอวดโฉมด้วยสีสันสดใสอย่างไม่สะท้านสะเทือนแม้แต่นิด
แต่สิ่งใดเล่าจะทานต้านความเปลี่ยนแปลงที่มนุษย์ก่อ ในที่สุดฟองน้ำทะเลแห่งนิวซีแลนด์ก็ถึงคราวม้วยมรณา
ทีมนักวิจัยจาก Victoria University of Wellington ในนิวซีแลนด์ เผยว่า ได้พบปรากฏการณ์ฟองน้ำทะเลฟอกขาวเป็นครั้งแรก ในหลายจุดของน่านน้ำนิวซีแลนด์ โดยในรายละเอียดระบุว่า บางแห่งฟองน้ำทะเลฟอกขาวไปมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์ หรือนับเป็นจำนวนหลายล้านตัว
ถือเป็นการฟอกขาวของฟองน้ำทะเลครั้งใหญ่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบ
ทีมนักวิจัยค่อนข้างมั่นใจว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์เป็นผู้ก่อ ส่งผลให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น
โดยเฉพาะน่านน้ำหลายแห่งของนิวซีแลนด์ มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติราวๆ 2.6 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าอุ่นขึ้นมากๆ (ตามปกติน้ำทะเลร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ปะการังก็ไม่รอดแล้ว)
สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า ปี 2021 น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นปีที่น้ำในมหาสมุทรมีอุณหภูมิสูงที่สุดนับแต่มีการบันทึกสถิติในยุคปัจจุบัน
และก็เป็นปีที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่พากันออกมาย้ำนักย้ำหนาว่า การปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิลจากกิจกรรมของคนเรานี่ล่ะ ที่ทำให้อุณหภูมิโลกและน้ำในมหาสมุทรร้อนมาถึงจุดนี้
รวมถึงยังสอดคล้องกับปรากฏการณ์ฟอกขาวของปะการังหลายแห่ง โดยเฉพาะที่เกรตแบร์ริเออร์รีฟ ที่กลับมาฟอกขาวอย่างรุนแรงอีกครั้งเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ เมื่อสิ่งมีชีวิตที่ ‘ทน’ ต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดีอย่างฟองน้ำทะเลยัง ‘สู้ไม่ได้’ ก็นับประสาอะไรกับบรรดาสัตว์ที่เซนซิทีฟกว่า หรือสัตว์ที่ต้องพึ่งพาฟองน้ำทะเลเพื่อการดำรงชีวิต
ความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ย่อมส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตจำนวนมากอย่างแน่นอน เพราะโดยบทบาททางธรรมชาติ ฟองน้ำทะเลก็มีหน้าที่แบบเดียวกับปะการัง
ฟองน้ำทะเลมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลในแง่การปรับปรุงคุณภาพน้ำทะเลให้ใสสะอาด ช่วยกำจัดตะกอนขนาดเล็ก และลดปริมาณตะกอนสารอินทรีย์ในน้ำ เปรียบเสมือนกับเครื่องกรองน้ำทางชีวภาพที่สำคัญ
และบทบาทที่ไม่อาจละเลยได้ คือการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยย่อย (microhabitat) ให้กับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอื่นๆ เช่น กุ้ง ปู หอย และไส้เดือนทะเล ได้หลบซ่อนภัยจากศัตรู รวมถึงเป็นแหล่งอาหาร
ทีมวิจัยอธิบายว่า เหตุการณ์ฟอกขาวครั้งใหญ่ชี้ให้เห็นอีกครั้งว่า มหาสมุทรกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
และเราควรเข้าใจได้แล้วว่านี่เป็นสัญญาณเตือนภัย เราต้องเร่งแก้ไขทันที ไม่ใช่รอทำในอีก 10 หรือ 15 ปีข้างหน้า
เพราะเมื่อถึงเวลานั้นมันก็สายเกินไป และเราจะสูญเสียระบบนิเวศและสายพันธุ์ทั้งหมด
อ้างอิง
- CNN, New Zealand sea sponge populations ‘dying by the millions’ due to climate change, https://shorturl.asia/huqMU
- Oceana, Longevity Secrets from the Five Longest-Lived Marine Animals. https://shorturl.asia/kIbDe
- Biotech, ฟองน้ำทะเล (Marine sponges), https://shorturl.asia/iUIaY