2 Min

พบ ‘หนูสฟิงซ์’ ที่ฟาร์มเพาะเชียงใหม่ ไร้ขน ผิวหนังยับย่นทั้งตัว เชื่อเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก

2 Min
632 Views
16 Nov 2023

สำนักข่าวหลายสำนักในไทย เช่น สำนักข่าวไทย, ไทยรัฐ และ TNN ได้มีการรายงานว่า ฟาร์มสัตว์เลี้ยงแปลกแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่สามารถเพาะเลี้ยงหนูที่เชื่อว่าเป็นหนูสายพันธุ์ใหม่ของโลกได้

โดยหนูชนิดดังกล่าวมีลักษณะไร้ขน มีผิวหนังที่ยับย่นไปทั้งตัว ใบหูใหญ่ หางยาว และมาจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างหนูดัมโบ (Dumbo rat) กับสายพันธุ์อื่น จึงทำให้ได้ลักษณะใบหูที่ใหญ่มาจากเจ้าหนูดัมโบ และลักษณะโดยรวมทำให้เจ้าของฟาร์มดังกล่าวตั้งชื่อว่า ‘หนูสฟิงซ์’

นิชธาวัลย์ สมสุข อายุ 44 ปี เจ้าของฟาร์มสัตว์เลี้ยงแปลกผู้เพาะเลี้ยงหนูสฟิงซ์ตัวดังกล่าวระบุถึงที่มาว่า ก่อนหน้านี้ก็ได้เพาะพันธุ์หนูตามปกติ แต่ปรากฏว่าหนูตัวนี้ได้เกิดออกมาและคิดว่าเป็นหนูที่ไม่สมประกอบหรือเป็นหนูที่ป่วย เพราะเธอไม่เคยเห็นมาก่อน จึงได้ทำการเลี้ยงแยกกับหนูตัวอื่นๆ ปรากฏว่ามันมีสุขภาพแข็งแรงดี 

แม้ว่าในต่างประเทศก็มีหนูสฟิงซ์เหมือนกัน แต่เธอก็ระบุว่านี่เป็นที่แรกของโลกที่มีหนูลักษณะแบบนี้เกิดขึ้น 

สิ่งที่ทำให้เธอเชื่อว่าหนูของเธอนั้นเป็นสายพันธุ์แรกของโลกนั้น เพราะด้วยลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับหนูสฟิงซ์ของต่างประเทศ ที่ไม่ได้มีลักษณะผิวหนังเหี่ยวย่นไปบนทุกส่วนของร่างกายแบบหนูของเธอ อีกทั้งหนูของเธอเป็นหนูไมซ์ (mice) ไม่ใช่หนูแรต (rat) แบบของต่างประเทศ

ซึ่งหนูสฟิงซ์หรือหนูที่ไร้ขนโดยสมบูรณ์ของต่างประเทศนั้น มักจะถูกเพาะพันธุ์สำหรับใช้ในห้องทดลองและงานวิจัยโดยเฉพาะ และมีแนวโน้มว่าจะมีชีวิตอยู่ในระยะสั้นกว่าประมาณครึ่งหนึ่งของอายุหนูปกติ เนื่องจากมีองค์ประกอบทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันตั้งแต่กำเนิด

นิชธาวัลย์ระบุเพิ่มเติมว่า มีผู้สนใจหนูของเธอเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเพาะเลี้ยงไม่ทันตามความต้องการซื้อของลูกค้า ทำให้ลูกค้าต้องสั่งจองเอาไว้ก่อน แต่ว่าก็อาจจะต้องรอกันนานพอสมควร เพราะในแต่ละครอกอาจจะได้ออกมาไม่กี่ตัวและมีระยะเวลาการตั้งท้องประมาณหนึ่ง

ทำให้เธอมีแพลนว่าจะนำมาเพาะเลี้ยงเพิ่ม และกำลังจะเพาะขยายพันธุ์ให้เจ้าหนูสฟิงซ์ มีถึง 7 สี โดยเธอยังระบุอีกว่า หนูสฟิงซ์ของเธอจะมีอายุยืนประมาณ 2 ปีครึ่ง และกินธัญพืชเป็นอาหาร

ณ ขณะนี้หนูชนิดใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ยังไม่มีข้อมูลในเชิงลึกปรากฏ โดยมีเพียงข้อมูลที่ปรากฏตามสื่อหรือสำนักข่าวเท่านั้น และยังต้องรอผลการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับหนูชนิดนี้เพิ่มเติม เพื่อทำความเข้าใจสำหรับการดูแลเจ้าหนูชนิดนี้อย่างเหมาะสมต่อไป

อ้างอิง