รู้หรือไม่? รัฐธรรมนูญฉบับรัชกาลที่ 7 มีจริง ระบุ ‘อำนาจอธิปไตยเป็นของกษัตริย์’

2 Min
2323 Views
06 Jan 2022

ความเสื่อมถอยของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดำเนินมาถึงจุดสูงสุดในช่วงสมัยรัชกาลที่ 7 หรือในสมัยพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

หนึ่งในตัวเร่งสำคัญของความเสื่อมถอย คือปัญหาทางเศรษฐกิจ อันเกิดจากราชวงศ์พยายามใช้ชีวิตตามธรรมเนียมประเพณีราชตระกูล หรือใช้ชีวิตตาม ‘ขัตติยมานะ’ ที่ต้องมีการรับเลี้ยงคนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งการลงทุนต่างๆ ของเจ้าก็มักประสบปัญหาขาดทุนอย่างมากในช่วงทศวรรษ 2460 และทศวรรษ 2470

หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ เรียกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “เจ้าไม่มีศาล”

รัชกาลที่ 7 ทรงทราบดีถึงปัญหาที่คุกรุ่น เพราะอย่างนี้ พระองค์จึงพยายามร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา 2 ฉบับ ซึ่งเป็นลักษณะรัฐธรรมนูญแบบ ‘กษัตริย์นิยม’ และเพิ่มอำนาจปวงชนขึ้นมาบ้างเพื่อลดแรงเสียดทานทางการเมืองในขณะนั้น

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 : ฉบับพระยากัลยาณไมตรี หรือฟรานซิส บี แซร์ (Francis B. Sayre)

ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับพระยากัลยาณไมตรีมี 12 มาตรา เรียกว่า ‘Outline of Preliminary Draft’ ร่างเสร็จสิ้นใน พ.ศ. 2467 แต่ไม่ได้มีการประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว โดยมีมาตราที่สำคัญ คือ มาตรา 1 ที่ระบุว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของกษัตริย์” และ มาตรา 2 “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีนายหนึ่งซึ่งรับผิดชอบต่อพระองค์ในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งปวง และให้นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งตามพระราชอัธยาศัย”

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 : ฉบับพระยาศรีวิสารวาจาและเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ (Raymond B: Stevens)

พระยาศรีวิสารวาจาและเรมอนด์ บี สตีเวนส์ ร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จนเสร็จในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2475 เป็นภาษาอังกฤษ ชื่อว่า An Outline of Changes in the Form of Government หรือเค้าโครงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง ซึ่งรัชกาลที่ 7 ทรงมีแผนว่าจะพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริงตามแผน

สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ

  1. กษัตริย์มีอำนาจสูงสุด
  2. นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกของกษัตริย์ และรับผิดชอบต่อกษัตริย์ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยการเลือกรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลจะต้องแจ้งให้กษัตริย์ทราบและยืนยันด้วย
  3. สภานิติบัญญัติจะมาจากการ ‘เลือกตั้ง’ และ ‘แต่งตั้ง’ เท่ากัน โดยการแต่งตั้งของกษัตริย์จะต้องไม่เกินครึ่งหนึ่ง และหากการเลือกตั้งในมณฑลใดล้มเหลวหรือมีที่นั่งว่างลง ให้กษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ

แม้จะมีแผนและความหมายมั่นจะพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่รัชกาลที่ 7 มิได้ทรงประกาศใช้รัฐธรรมนูญสองฉบับนั้นเสียที ซึ่งก็ไม่มีหลักฐานถึงสาเหตุแน่ชัด แต่หากอ้างอิงจากความเห็นของรัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงคิดว่า ประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะมีการปกครองแบบมีผู้แทน

ท้ายที่สุด การปฏิวัติสยามของคณะราษฎรก็เกิดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และรัชกาลที่ 7 ก็ทรงยอมลงพระปรมาภิไธยใน ‘พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475’ ที่มีการระบุอย่างชัดเจนในมาตรา 1 ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของ ‘ราษฎร’ ทั้งหลาย”

และรัชกาลที่ 7 ทรงลงพระปรมาภิไธยภายใต้เงื่อนไขว่า จะต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่อีกฉบับ จึงมีการเติมคำว่า ‘ชั่วคราว’ ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎรนี้

ความจริงของ ‘ชาติ’ ที่หนังสือเรียนไทยไม่บอกคุณ

สงสัยไหมว่าหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ไทยที่คุณเรียนมาค่อนชีวิตอาจไม่ได้บอกความจริงทั้งหมด?

LOCALRY จะพาคุณไปสำรวจเรื่องราวอีกด้านของประวัติศาสตร์ ‘ชาติไทย’ ฉบับที่หนังสือเรียนไทยไปไม่ถึง บอกเล่าโดยคุณ ‘ฐนพงศ์ ลือขจรชัย’ นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีผลงานเขียนเรื่อง ‘ปลดแอกชาติ: จากศักดินา- (ราชา) ชาตินิยม’ และ ‘เสียดินแดนมลายู: ประวัติศาสตร์ชาติฉบับ Plot twist’

รับชมรายการ Local Talk&Tell x สำนักพิมพ์มติชน ในตอน “ความจริงของ ‘ชาติ’ ที่หนังสือเรียนไทยไม่บอกคุณ” ได้ทาง

มาฟังความจริงของ ‘ชาติ’ กันเถอะ!

อ้างอิง

  • ฐนพงศ์ ลือขจรชัย. ปลดแอกชาติ จากศักดินา- (ราชา) ชาตินิยม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2564