2 Min

เกาหลีใต้เปลี่ยนระบบนับอายุทำไม? ไม่ใช่แค่ปรับให้ตรงมาตรฐานสากล แต่ช่วยลด ‘ช่องโหว่’ กฎหมายได้ด้วย

2 Min
1738 Views
25 Apr 2022

หากถามคนเกาหลีว่า “คุณอายุเท่าไหร่?” เราอาจจะได้รับคำตอบที่ต่างกันถึง 3 คำตอบ ขึ้นอยู่กับว่ากำลังคุยกันเรื่องอะไร

เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีเกณฑ์การนับอายุมากถึง 3 วิธีด้วยกัน ในอดีตที่หลายวัฒนธรรมในเอเชียยังคงใช้ปฏิทินจันทรคติเป็นหลัก คนเกาหลีจะนับอายุของทารกตั้งแต่อยู่ในท้อง ดังนั้นเมื่อคลอดออกมาแล้ว ทารกจะมีอายุ 1 ปี แล้วถ้าผ่านวันขึ้นปีใหม่ไปก็จะบวกอายุเพิ่มให้กับทารกไปอีก 1 ปี 

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าทารกเกิดในเดือนธันวาคม หลังจากเกิดได้ไม่กี่วันทารกจะมีอายุครบ 2 ปีทันทีเมื่อถึงวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้นการนับอายุตามธรรมเนียมเกาหลีแต่เดิมก็มี 2 วิธีแล้ว คือ นับอายุตั้งแต่อยู่ในครรภ์ (+1) และเด็กที่เกิดปลายปีจะนับอายุตั้งแต่อยู่ในครรภ์และบวกเพิ่มเมื่อขึ้นปีใหม่ (+2) วิธีการที่ว่ามานี้เกาหลีได้รับมาจากวัฒนธรรมจีนอีกทอดหนึ่ง แน่นอนว่าญี่ปุ่นเองก็เช่นกัน 

จนกระทั่งปฏิทินสุริยคติและองค์ความรู้ของตะวันตกเริ่มมีอิทธิพล หลายๆ ประเทศได้เปลี่ยนแปลงการนับวันเดือนปีให้เป็นแบบตะวันตกจนกลายเป็นสากล ประเทศจีนยกเลิกการใช้ปฏิทินจันทรคติตั้งแต่ยุคปฏิวัติวัฒนธรรม และญี่ปุ่นก็ยกเลิกไปตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990s ในขณะที่เกาหลีใต้รับความเป็นสากลโดยไม่ละทิ้งธรรมเนียมเดิม ทำให้ประเทศเกาหลีมีวิธีนับอายุมากถึง 3 วิธี ซึ่งคนเกาหลีเองก็ต้องคำนึงถึงบริบทต่างๆ ด้วยว่าสถานการณ์ไหนต้องยึดเกณฑ์ใดในการบอกอายุของตัวเองกันแน่

การนับอายุตามธรรมเนียม (แบบที่ต้อง +1 หรือ +2) จะใช้ในชีวิตประจำทั่วไป เช่น ถ้ามีผู้ใหญ่หรือรุ่นพี่ที่ทำงานถาม หรือใช้ยึดเพื่อจัดงานเฉลิมฉลองวันเกิด แต่การนับอายุแบบนี้ไม่ใช่สำหรับกฎหมาย 

การกำหนดอายุเพื่อเกณฑ์ทหาร การเป็นเยาวชน หรือบริการสาธารณะต่างๆ การกรอกเอกสารทางการจะใช้ระบบสากลทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้นถ้าเป็นเด็กที่เกิดในปีเดียวกัน แต่เกิดเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์จะเรียนปีเดียวกับเด็กที่เกิดเดือนมีนาคม-ธันวาคมของปีก่อนหน้า เกณฑ์ที่สร้างความสับสนเหล่านี้ย่อมส่งผลกับสังคมที่ยึดมั่นกับ ‘ระบบอาวุโส’ อย่างประเทศเกาหลี นอกจากสร้างความสับสนแล้ว ระบบการนับอายุตามธรรมเนียมและแบบสากลยังทำให้เกิดช่องโหว่ทางกฎหมายด้วย เช่น การป้องกันความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเยาวชน หรือการควบคุมอายุของคนเกาหลีในสถานบันเทิง เจ้าหน้าที่เองก็ไม่สามารถตรวจตราอายุของลูกค้าได้ทั่วถึ

เพื่อแก้ไขความสับสน เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลเกาหลีใต้จึงมีนโยบายบังคับใช้ ‘ระบบการนับอายุแบบสากล’ และยึดใช้เป็นเกณฑ์เดียวทั่วประเทศ เพื่อทำให้สังคมเกาหลีใต้ ‘ทันสมัย’ ก้าวทันสากลมากขึ้น และลดความสับสน ความยุ่งยากที่เกิดขึ้นกับการบริหารจัดการในภาคส่วนต่างๆ ลง และยังช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย (age gap) ในสังคมด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลโหวตส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง แต่ประชาชนอีกไม่น้อยก็ไม่เห็นด้วย และมองว่าการบังคับใช้จะทำให้คนเกาหลีสับสนมากกว่าเดิม เนื่องจากการนับอายุแบบสากลไม่ใช่ระบบหลักที่พวกเขาคุ้นชิน

อ้างอิง