สาย (คอ) แข็งต้องรู้จัก ‘มักกอลลี’! ‘เหล้าชาวนา’ ที่เกือบสูญพันธุ์-คนเกาหลีเมิน ก่อนกลับมาผงาดด้วยแนวคิด ‘ชาตินิยม’

4 Min
1250 Views
08 Jun 2022

Select Paragraph To Read

  • จับคู่ ‘มักกอลลี’ กับอาหาร กระตุ้นบรรยากาศดื่มด่ำ
  • เหล้าที่เคยเกือบสูญพันธุ์
  • กลับมาผงาดในฐานะซอฟต์พาวเวอร์

ถ้าพูดถึงจุดแข็งทางวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ หรือซอฟต์พาวเวอร์ในยุคนี้ คงไม่ต้องเกริ่นเยอะก็รู้ว่าทรงพลังและมีอิทธิพลแค่ไหน 

นอกจากหนังละคร และดนตรี ก็ยังมีอาหารและเครื่องดื่มที่ฮิตติดลม โดยเฉพาะโซจูที่รัฐบาลเกาหลีใต้แทบจะยกเป็นเหล้าประจำชาติแต่เหล้าที่สาย (คอ) แข็งต้องจับตามองเป็นอันดับต่อไปก็คือมักกอลลีเหล้าพื้นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน อยู่คู่สังคมเกาหลีมาตั้งแต่ยุคโบราณ และเคยเกือบสูญหายไปครั้งหนึ่ง แต่กลับมาผงาดอีกครั้งด้วยปัจจัยต่างๆ ที่ควรยกเป็นกรณีศึกษาถ้าอยากส่งออกสินค้าทางวัฒนธรรมให้ได้อย่างเกาหลีใต้

อะไรทำให้เกาหลีใต้สามารถรื้อฟื้นเหล้าพื้นเมืองตั้งแต่โบราณที่เกือบจะหายไปตลอดกาล ให้กลับมาสร้างรายได้ในตลาดสุราอีกครั้ง และกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในปัจจุบัน?

จับคู่ ‘มักกอลลี’ กับอาหาร กระตุ้นบรรยากาศดื่มด่ำ

막걸리 (มักกอลลี) เกิดจากคำว่า 막 (มัก) แปลว่า เพิ่งจะ และ 거르다 (กอรือดา) แปลว่า กลั่น, กรอง มักกอลลีจึงหมายถึง สุราที่ดื่มหลังจากกลั่นหรือหมักเสร็จแล้ว นอกจากนี้ยังถูกเรียกขานกันในชื่อ 탁주 (ทักจู) และ 농주 (นงจู) ด้วย มีความหมายว่าเหล้าของชาวนาเนื่องจากในอดีต เกษตรกรที่ต้องออกไปทำไร่ทำนาในอากาศหนาวๆ จะรวมกลุ่มกันดื่มเหล้าให้ร่างกายอบอุ่น และเพื่อให้ทำงานได้ดีขึ้นนั่นเอง

มักกอลลีเป็นสุราสีขุ่น ที่หมักด้วยข้าวหุงสุกและส่าเหล้า ประมาณ 1 สัปดาห์ เป็นเหล้าที่ทำง่าย สามารถทำดื่มและขายได้เองที่บ้าน แต่ละครัวเรือนก็จะรังสรรค์สูตรมักกอลลีที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง ทำให้มักกอลลีจากแต่ละที่มีรสชาติแตกต่างกัน

นอกจากนี้ยังนิยมดื่มคู่กับแกล้มอย่าง 전 (จอน) อาหารเกาหลีที่นำผักมาทอดกับแป้ง และยิ่งเป็นช่วงหน้าหนาว หรือวันที่อากาศเย็นเพราะมีฝนตก บรรยากาศในวงเหล้า เคล้าด้วยเสียงพูดคุยกับเพื่อนฝูงจะยิ่งทำให้มักกอลลีมีรสชาติอร่อยมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เองวัฒนธรรมเกาหลีจึงผูกโยงกับการดื่มสุราอย่างแยกขาดกันไม่ได้

เหล้าที่เคยเกือบสูญพันธุ์

ชะตากรรมของมักกอลลีเคยสั่นคลอนถึงขั้นเกือบสูญหายเมื่อกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 และยึดดินแดนบริเวณคาบสมุทรเกาหลีเป็นอาณานิคม ทั้งยังออกกฎหมายห้ามไม่ให้ครัวเรือนเกาหลีหมักผลิตและขายเหล้าพื้นเมือง รวมถึงคิดภาษีนายทุนที่อนุญาตให้ผลิตได้ในอัตราที่สูงมาก เหล้าพื้นเมืองจึงค่อยๆ หายไป

ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงสงครามเกาหลีเหนือใต้ก็ทำให้ประเทศประสบกับพิษเศรษฐกิจและสภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนัก ทำให้ข้าวที่เป็นวัตถุดิบหลักของมักกอลลีก็ยิ่งขาดแคลน สูตรมักกอลลีจากแต่ละมุมเมืองจึงค่อยๆ สูญหายไปด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หลังจากประเทศเกาหลีใต้สามารถฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจจนหลุดพ้นจากการเป็นประเทศยากจน ตลาดสุราก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง เพราะธรรมชาติของคนเกาหลีเป็นนักดื่มตัวยงอยู่แล้ว

ก่อนถึงยุค 2000 การดื่มมักกอลลีเพื่อการสังสรรค์ไม่ได้รับความนิยมเท่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ เช่น โซจูและเบียร์ โดยเหตุผลหนึ่งที่อ้างอิงในบทความของสำนักข่าวเกาหลีใต้ The Korea Times ระบุว่า ความทรงจำของคนเกาหลีที่มีต่อมักกอลลี คือเหล้าราคาถูกที่นิยมหมักกันในครัวเรือน และดื่มกันในหมู่ชาวนาซึ่งดูไม่เท่สำหรับการดื่มเข้าสังคม

การดื่มแอลกอฮอล์ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความทันสมัย โก้หรู จึงถูกเชื่อมโยงกับเบียร์ โซจู รวมถึงไวน์ที่เป็นเครื่องดื่มนำเข้า แต่ไม่มีมักกอลลีรวมอยู่ด้วย คนเกาหลีจึงมักดื่มมักกอลลีในหมู่เพื่อนสนิทผู้ชาย มากกว่าดื่มเพื่อเข้าสังคมหรือจีบสาว

กลับมาผงาดในฐานะซอฟต์พาวเวอร์

สงคราม กฎหมาย และการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ทำให้มักกอลลีถูกหลงลืมไปจากการรับรู้ของผู้คนจำนวนหนึ่ง แต่ก็ไม่ถึงกับหายไปเสียทีเดียว จนกระทั่งวัฒนธรรมบันเทิงของเกาหลีที่ถูกถ่ายทอดผ่านละคร ภาพยนตร์ และดนตรีกลายเป็นที่ยอมรับของคนในวงกว้างขึ้นนับตั้งแต่ยุคปี 2000 เป็นต้นมา ก็มีผลให้ความนิยมในการดื่มกินอาหารเกาหลีเติบโตไปพร้อมๆ กัน

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเกาหลีใต้จึงกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ และผู้คนก็คิดถึงบรรยากาศของการร่ำสุรากับเพื่อนฝูง กับเพื่อนร่วมงาน ทำให้วัฒนธรรมการดื่มมักกอลลีได้รับการฟื้นฟูโดยผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่ยอมลงทุนเดินทางไปตามเมืองเก่าๆ เพื่อเก็บเกี่ยวและเรียนรู้สูตรของการหมักมักกอลลี

นอกจากผู้คนที่เห็นความสำคัญของเหล้าพื้นเมืองแล้ว รัฐบาลเกาหลีใต้เองก็เช่นกัน รัฐบาลได้แก้ไขกฎหมายเพื่อวางแนวทางในการผลิตและขายเหล้าพื้นเมืองให้ได้มาตรฐานมากขึ้น เช่น การกำหนดวัตถุดิบที่ใช้ต้องเป็นข้าวพื้นเมืองที่ผ่านเกณฑ์ของรัฐบาล การบังคับให้ผู้ผลิตระบุส่วนผสมและแหล่งที่มาของวัตถุดิบให้ชัดเจน รวมถึงการควบคุมคุณภาพสินค้าให้มีรสชาติสม่ำเสมอและปลอดภัย ก่อนจะอนุญาตให้ซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกาหลีใต้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

ภาพลักษณ์ของเหล้าพื้นเมืองจึงถูกปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยและมีคุณภาพตามหลักเกณฑ์สากล และรัฐบาลเกาหลีใต้เองก็มีนโยบายส่งเสริมการส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สัญชาติเกาหลีไปสู่ต่างประเทศด้วย

หากจะย้อนกลับไปตอบคำถามที่ว่าอะไรทำให้เกาหลีใต้สามารถรื้อฟื้นเหล้าพื้นเมืองโบราณที่เกือบจะหายไปตลอดกาล ให้กลับมาสร้างรายได้ในตลาดสุราอีกครั้ง และกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในปัจจุบัน?”

คำตอบที่ชัดที่สุดก็คงจะเป็นการที่ผู้คนยังคงเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมพื้นเมือง และเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อเหล้าพื้นเมือง จากที่มองว่าล้าสมัย ไม่โก้หรู ก็พยายามพัฒนาให้มีแพ็คเกจจิงหรือภาพลักษณ์ที่ทันสมัย ดึงดูดผู้บริโภคมากขึ้น ที่สำคัญ คือการสนับสนุนจากภาครัฐที่ช่วยให้มักกอลลีกลับมาผงาดในตลาดนักดื่มอีกครั้ง รวมทั้งเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศที่ส่งออกสู่สายตาชาวโลก

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับมามองตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศของเราเอง กลับเจอความคล้ายและแตกต่างอยู่หลายข้อ ประเทศไทยก็มีเหล้าพื้นเมือง เหล้าที่มีความเป็นมาคู่กับวัฒนธรรมอยู่มาก แต่กลับเป็นที่รู้จักเพียงในกลุ่มคนเฉพาะกลุ่ม

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมไทยต้องปรับมุมมองเกี่ยวกับเหล้าพื้นเมืองใหม่ และเรียนรู้ที่จะต่อยอดวัฒนธรรมการดื่มสุราพื้นเมืองไทย ถือเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและเปิดประสบการณ์ให้เหล่านักดื่มทั้งหลายไปพร้อมๆ กัน

อ้างอิง