4 Min

ย้ายทำเนียบ ปธน.ไปอยู่ ‘เขตทหาร’ โครงการเร่งด่วนผู้นำเกาหลีใต้คนใหม่ ไม่สนคนมองว่าย้ายเพื่อ ‘หนีอาถรรพ์’

4 Min
540 Views
30 May 2022

เรื่องใหญ่ของเกาหลีใต้ในวันนี้คงจะหนีไม่พ้นความเคลื่อนไหวของประธานาธิบดีคนใหม่ยุน ซอคยอล’ (Yoon Suk-yeol) ที่เข้าพิธีปฏิญาณตนรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อ 10 พฤษภาคม 2022 แต่ขณะเดียวกันก็ประกาศชัดเจนว่าจะไม่เหยียบย่างเข้าไปยังทำเนียบประธานาธิบดีชองวาแด’ (Cheong Wa Dae) เป็นอันขาด

ทำเนียบแห่งนี้คนส่วนใหญ่รู้จักในชื่อภาษาอังกฤษว่าบลูเฮาส์’ (Blue House) เป็นที่พำนักของประธานาธิบดีเกาหลีใต้มาทุกยุคทุกสมัยนับตั้งแต่ปี 1948 ทั้งยังเป็นที่ทำงานของประธานาธิบดี และสถานที่ต้อนรับแขกเหรื่อที่เป็นบุคคลสำคัญระดับประเทศอีกด้วย

แต่สถานที่จัดพิธีปฏิญาณตนของ ยุน ซอคยอล ในครั้งนี้คือลานหน้าอาคารรัฐสภาแห่งชาติ ในเขตยออีโด (Yeoido) ส่วนที่ทำงานชั่วคราวของประธานาธิบดีคนใหม่จะอยู่ที่อาคารกระทรวงกลาโหมในเขตยงซาน ใจกลางกรุงโซล ซึ่งพื้นที่โดยรอบเป็นค่ายทหารและหน่วยงานในกำกับดูแลของกระทรวงกลาโหม 

ขณะที่ทำเนียบประธานาธิบดีแห่งใหม่ที่ยุนตั้งชื่อเล่นเอาไว้ล่วงหน้าว่าทำเนียบประชาชน’ (People’s House) จะถูกปรับปรุงจากอาคารของกระทรวงกลาโหมในเขตยงซาน โดยเขาให้เหตุผลว่าอยากสร้างทำเนียบใหม่ที่นี่เพื่อจะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยของผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เพราะทำเลแห่งนี้ถูกล้อมรอบด้วยหน่วยงานด้านความมั่นคงอยู่แล้ว

หลากหลายข้อสงสัยย้ายทำเนียบหนีอาถรรพ์หนีผู้ประท้วง?

ผลสำรวจความเห็นประชาชนเกาหลีใต้เกี่ยวกับการย้ายทำเนียบประธานาธิบดีไปอยู่ที่ยงซาน รายงานโดยบลูมเบิร์ก’ (Bloomberg) เมื่อ 9 พฤษภาคม 2022 พบว่ามากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามไม่เห็นด้วยกับการย้ายทำเนียบ ขณะที่อีก 40 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยกับการย้าย แต่บางส่วนมองว่าดำเนินการอย่างเร่งด่วนเกินไป และภารกิจแรกของประธานาธิบดีไม่ควรเป็นการมองหาที่ทำงานใหม่ให้กับตัวเอง ส่วนที่เหลือมีความเห็นแตกต่างออกไป โดยมองว่านี่เป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะเป็นการทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้เมื่อตอนหาเสียง

ก่อนหน้านี้ ยุนเคยหาเสียงว่าถ้าได้รับตำแหน่งจะย้ายที่ตั้งทำเนียบประธานาธิบดีให้ใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น และจะยุบกระทรวงที่ดูแลกิจการด้านสตรี ทำให้เขาถูกวิจารณ์ว่ามีแนวคิดล้าหลังต่อต้านเฟมินิสต์ แต่เขาก็ไม่ได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่คิดจะย้ายออกจากทำเนียบบลูเฮาส์ แม้แต่ มุน แจอิน ที่เพิ่งพ้นตำแหน่งก็เคยคิดจะย้ายเช่นกัน แต่อดีตประธานาธิบดีเหล่านั้นมักวางแผนว่าจะย้ายหลังจากที่ตนเองเข้ารับตำแหน่งแล้ว จึงลงเอยด้วยการยุ่งอยู่กับภารกิจต่างๆ จนการย้ายทำเนียบกลายเป็นเรื่องยาก เพราะต้องคำนึงถึงการโยกย้ายตามไปของเจ้าหน้าที่รัฐบาล และประเด็นความปลอดภัยของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในรัฐบาลด้วย

ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนตั้งคำถามมากมาย โดยชุงอังเดลี’ (JoonAng Daily) รายงานความเห็นนักวิชาการที่มองว่า ยุนอาจต้องการย้ายสถานที่ทำงานประธานาธิบดีเพื่อแก้อาถรรพ์เพราะทำเนียบบลูเฮาส์เคยเกิดเหตุนองเลือดครั้งใหญ่เมื่อ 21 มกราคม 1968 ที่หน่วยจู่โจมจากเกาหลีเหนือ 31 นายพยายามบุกเข้าไปลอบสังหารพัค จ็องฮี’ (Park Chung-hee) อดีตประธานาธิบดีเผด็จการเกาหลีใต้ ซึ่งแม้จะปฏิบัติการไม่สำเร็จ แต่ก็มีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย ทั้งพลเรือน เจ้าหน้าที่ และทหารฝั่งเหนือ

นอกจากนี้ยังมีอดีตประธานาธิบดีอีกหลายคนที่พำนักและทำงานในทำเนียบบลูเฮาส์ตั้งแต่ปี 1948 และต้องพบกับชะตากรรมอันพลิกผัน มีประธานาธิบดีที่จบชีวิตตัวเอง และอีกหลายคนเจอคดีอื้อฉาวถึงโรงถึงศาลและต้องติดคุกกันไปหลังจากพ้นตำแหน่ง รวมถึงพัค กึนเฮ’ (Park Geun-hye) ลูกสาวของ พัค จ็องฮี ทั้งที่เป็นอดีตประธานาธิบดีหญิงที่มาจากการเลือกตั้งคนแรก แต่ถูกประชาชนเดินขบวนขับไล่จนศาลสั่งถอดถอนพ้นจากตำแหน่งไปเมื่อปี 2017 

นักวิชาการด้านผังเมืองและการออกแบบบางรายตั้งข้อสงสัยว่า ยุนเป็นผู้ที่เชื่อศาสตร์เกี่ยวกับโชคลางและการเลือกทำเลที่ตั้ง (Pungsu Jiri) คล้ายกับหลักฮวงจุ้ยของจีน อาจต้องการหลีกเลี่ยงพลังด้านลบที่เกิดจากเรื่องไม่ดีต่างๆ ที่สั่งสมมายาวนานหลายทศวรรษของทำเนียบบลูเฮาส์ จึงต้องการย้ายออกจากที่แห่งนี้ สอดคล้องกับท่าทีของเขาที่ไม่ยอมเหยียบย่างเข้าไปในทำเนียบบลูเฮาส์เลยแม้แต่ก้าวเดียวในวันรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

ขณะที่นักวิเคราะห์การเมืองมองว่า ยุนรับตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยคะแนนนิยมที่ต่ำที่สุดถ้าหากเทียบกับอดีตประธานาธิบดีคนก่อนๆ และทำเนียบบลูเฮาส์อยู่ไม่ไกลจากจัตุรัสควางฮวามุน’ (Gwanghwamun Square) ซึ่งเป็นสถานที่เดินขบวนและชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลเกาหลีใต้ ทั้งยุคเผด็จการและยุคที่ผู้นำมาจากการเลือกตั้ง ยุนจึงอาจจะอยากย้ายเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ต้องเผชิญหน้าผู้ประท้วง

ย้ำเหตุผลย้ายเพื่อพัฒนาที่ดิน’ – เปิดทำเนียบเก่ารับนักท่องเที่ยวเต็มที่

แม้จะถูกตั้งคำถามและข้อสันนิษฐานหลายประเด็น โฆษกประจำตัว ยุน ซอคยอล ก็ยืนยันว่า ประธานาธิบดีคนใหม่ต้องการย้ายทำเนียบไปยังเขตยงซานเพื่อกระตุ้นการพัฒนา เพราะนับตั้งแต่อดีตที่เกาหลียังตกอยู่ภายใต้อาณานิคมญี่ปุ่น เรื่อยมาจนถึงยุคก่อตั้งประเทศเกาหลีใต้ พื้นที่ในเขตยงซานเป็นที่ตั้งของทั้งค่ายทหารเกาหลีและเป็นฐานที่มั่นของกองทัพต่างชาติมาตลอด รวมไปถึงกองทัพสหรัฐอเมริกาที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากในสงครามเกาหลีระหว่างฝั่งเหนือและฝั่งใต้เมื่อปี 1950-1953

ด้วยเหตุนี้ หลายๆ รัฐบาลในอดีตของเกาหลีใต้จึงพยายามจะขอเวนคืนพื้นที่ในเขตยงซานเพื่อนำมาพัฒนาเป็นโครงการต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของเมือง ซึ่งยุนก็ดำเนินการเรื่องนี้ต่อมา และใช้โอกาสนี้ย้ายทำเนียบประธานาธิบดีมาด้วยเลย พร้อมบอกว่าโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นการลงทุนและการจ้างงานเพิ่มขึ้นในระยะเวลาต่อจากนี้ 

ส่วนทำเนียบบลูเฮาส์เก่าแก่ดั้งเดิมซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจจักรวรรดินิยมในอดีต เพราะตั้งอยู่ห่างไกลและเหมือนถูกตัดขาดจากประชาชนคนทั่วไป จะเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชมอย่างเปิดกว้างมากขึ้น เพราะพื้นที่โดยรอบของอาคารสำคัญแห่งนี้มีทั้งสวนที่เต็มไปด้วยพืชพรรณกว่า 180 ชนิดและมีทัศนียภาพระดับเป็นหน้าเป็นตาของชาติ ตลอดจนอาคารสถาปัตยกรรมซึ่งเป็นที่พำนักของเจ้าหน้าที่และแขกระดับประเทศ รวมถึงอาคารที่มุงด้วยกระเบื้องหลังคาสีน้ำเงินทำด้วยมือกว่า 150,000 ชิ้น ซึ่งเป็นที่มาของชื่อบลูเฮาส์

หลังจากที่ ยุน ซอคยอล รับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ ทำเนียบบลูเฮาส์จะเปิดต้อนรับผู้เข้าชมเพิ่มขึ้นได้ถึงประมาณ 39,000 คนต่อวัน หรือราว 6,500 คนในเวลา 2 ชั่วโมง ยกระดับจากเดิมที่เคยจำกัดผู้เข้าชมที่ราว 1,500 คนต่อวันตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เพราะตอนที่ประธานาธิบดีกับเจ้าหน้าที่ยังทำงานและพักอาศัยอยู่ในทำเนียบแห่งนี้ ก็ต้องคำนึงถึงการอารักขาความปลอดภัยของบุคคลสำคัญของประเทศ หลายพื้นที่จึงเป็นเขตห้ามเข้า 

การเปิดทำเนียบบลูเฮาส์ให้สาธารณชนเข้าชมในสมัยของยุนจึงมีผู้สนับสนุนยกย่องว่าเป็นการปรับให้สถานที่ที่เปรียบเหมือนพระราชวังของประธานาธิบดีกลายเป็นพื้นที่สาธารณะของประชาชนจริงๆ และเชื่อว่าการย้ายทำเนียบไปยังเขตยงซานจะทำให้ผู้คนรู้สึกใกล้ชิดกับผู้นำประเทศมากขึ้น

อ้างอิง