“เสียง” ในฐานะอาวุธ จากยุคโบราณถึงปัจจุบัน

3 Min
820 Views
06 Aug 2020

ถ้าพูดถึงเสียง คนส่วนใหญ่คงจะนึกถึงเสียงดนตรีอันรื่นรมย์ หรือเสียงที่เป็น ‘ภาษา’ ที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสาร

ดังนั้น เวลาเรานึกถึงเสียงก็จะนึกถึงเสียงเพื่อการสื่อสาร (ภาษา) และเสียงเพื่อความรื่นรมย์ (ดนตรี) เป็นหลัก

แต่ในความเป็นจริง “เสียง” สามารถเป็นอย่างอื่นได้อีกสารพัด และหนึ่งในนั้นคือ ‘อาวุธ’

1.
“เสียง” ไม่ใช่สิ่งที่รื่นรมย์เสมอไปมาตั้งแต่อดีตแล้ว มนุษย์ในยุคโบราณน่าจะมีความหวาดกลัวเสียงที่ตัวเองไม่เข้าใจมาตลอด เช่น เสียงฟ้าผ่า

ทุกวันนี้ ลองสังเกตสัตว์อย่างสุนัข สุนัขแทบทุกตัวกลัวเสียงฟ้าผ่า เพราะพวกมันไม่เข้าใจว่าคือเสียงอะไร และมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ก็กลัว ‘เสียงธรรมชาติ’ ที่ดังๆ เช่นกัน

ความ “ดัง” ของเสียงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เสียงใช้เป็น ‘อาวุธ’ ได้

ในแง่นี้ เราก็จะเห็นเลยว่ายุคโบราณที่ไม่มีเทคโนโลยีขยายเสียง เสียงแทบไม่ถูกใช้เป็นอาวุธโดยตรง และในสงคราม เสียงก็เป็นสิ่งที่มีไปเพื่อปลุกใจนักรบที่จะออกรบอย่างเสียงกลองศึกหรือแตรสงครามเท่านั้น

2.
ตัวอย่างของการใช้เสียงเพื่อสร้างความกลัวในสงครามคือ ‘นกหวีดแห่งความตาย’ ของชาวแอซเท็ค ซึ่งเป็น ‘เครื่องเป่า’ ที่เป่าออกมาแล้วเสียงเหมือนภูตผีเป็นพันตนกำลังกรีดร้อง เวลาใช้ พวกนักรบก็จะเป่าพร้อมกันเวลาออกรบ สร้างความประหวั่นพรั่งพรึงให้ข้าศึก (ลองฟังเสียงได้ที่ https://youtu.be/I9QuO09z-SI)

อย่างไรก็ดี การพูดถึงเสียงแห่งความกลัวนี้ ก็พูดยากว่าเป็นการใช้เสียงในฐานะของอาวุธ เพราะดูจะเป็นการใช้เสียงเป็น ‘สัญลักษณ์’ การมาถึงของกองทัพมากกว่า

ซึ่งในแง่นี้ความน่ากลัวไม่ได้อยู่ที่เสียง แต่อยู่ที่เสียงเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของกองทัพอะไร เช่น ในยุคมองโกลเรืองอำนาจ แต่เสียงฝีเท้าม้าศึกของมองโกลที่มาแต่ไกลก็น่าจะทำให้ชาวบ้านขนหัวลุกได้แล้ว ในทำนองเดียวกันตั้งแต่ช่วงสงครามโลกถึงสงครามเย็น เสียงของเครื่องบินรบยันเสียงการทิ้งระเบิดก็ทำให้ชาวบ้านที่ได้ยินเสียงมาแต่ไกลขนพองสยองเกล้า ไปจนถึงเป็นอาการทางประสาท PTSD หรือ Post-Traumatic Stress Disorder ซึ่งเป็นโรคจิตเภทชนิดหนึ่งที่เกิดจากสภาวะจิตใจของผู้ป่วยได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์เลวร้าย ได้เช่นกัน

3.
เครื่องขยายเสียงคือเทคโนโลยีแห่งศตวรรษที่ 20 ที่เกิดระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญมาก นอกจากจะช่วยให้เรามี ‘ดนตรี’ อย่างทุกวันนี้ ยังส่งผลทางการเมืองด้วย ดังที่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ กล่าวว่า “ถ้าโลกนี้ไม่มีลำโพงขยายเสียง เราไม่มีทางพิชิตเยอรมนีได้แน่นอน”

เทคโนโลยีขยายเสียง สร้างความเป็นไปได้ของเสียงอย่างมหาศาล ไม่ได้แค่ทำให้มนุษย์จัดคอนเสิร์ตใหญ่ๆ คนดูหลักหมื่นหลักแสนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ได้เท่านั้น แต่ยังเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองอะไรอีกสารพัดแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนเช่นกัน

แต่ที่สำคัญที่สุด เครื่องขยายเสียงคือต้นตอของการใช้เสียงเป็น ‘อาวุธ’ อย่างสมบูรณ์

4.
การใช้เสียงเป็นอาวุธ หลักๆ คือการใช้เครื่องขยายเสียงขยายเสียงน่ารำคาญเปิดวนไปมาทำให้คนประสาทเสีย

เทคนิคแบบนี้พบได้ตั้งแต่ในการเปิดเสียงโหยหวนหลอกหลอนพวกเวียดกงของทหารอเมริกันสงครามเวียดนาม

การใช้เครื่อง Long Range Acoustic Device ที่กระแทกเสียงแหลมๆ ดังๆ ซ้ำๆ เพื่อให้ผู้ชุมนุมต้าน G20 ในอเมริกาปี 2009 สลายตัว (ลองฟังเสียงได้ที่ https://youtu.be/QSMyY3_dmrM)

หรือกระทั่งเหตุการณ์ลึกลับที่สถานทูตอเมริกันในคิวบา ปี 2017 ที่มีคนคาดการณ์ว่าเกิดจากการขยายเสียงที่มนุษย์ไม่ได้ยินแล้วเปิดวนซ้ำๆ จนทำให้ร่างกายมนุษย์เจ็บป่วย อาการดังกล่าวเรียกว่า Havana Syndrome

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ เป็นการใช้เทคนิคการขยายเสียงเปิดเสียงบางรูปแบบวนไปมา เพื่อให้คน ‘ประสาทเสีย’ และเทคนิคทำนองเดียวกัน บางทีก็ไม่ต้องใช้เสียงประหลาดๆ แต่ใช้ ‘เสียงดนตรี’ ที่ฟังกันปกติ แต่เปิดดังๆ วนซ้ำไปมา เพื่อให้คนที่โดนเสียงถล่มใส่ยอมจำนน

แต่เทคนิคการใช้ ‘เสียงดนตรี’ เพื่อ ‘ทำร้าย’ มนุษย์ก็คงไม่มีอะไรที่เด่นเท่าการใช้เพื่อทรมานในค่ายกักกันต่างๆ อีกแล้ว

5.
การใช้เสียงเพื่อทำร้ายมนุษย์ในค่ายกักกัน มีรายงานมาตั้งแต่ช่วงสงครามเย็นมาจนถึงค่ายกวนตานาโมอันอื้อฉาวของกองทัพอเมริกา

โดยใช้หลักการเดียวกับเทคนิค ‘อาวุธ’ คือเปิดเสียงดังๆ ซ้ำๆ วนไปมา และที่น่าสนใจคือการ ‘ทรมาน’ ต่างๆ จะใช้เพลงที่ฟังกันปกติในชีวิตประจำวัน และนั่นไม่ได้หมายถึงเพลงที่หลายๆ คนดูจะไม่ชอบ อย่างเพลงเมทัลหนักๆ หรือเพลงฮิปฮอปทั้งหมด เพราะบางครั้งแม้แต่เพลงประกอบรายการเด็กอย่าง Barney and Friends ก็ถูกเอามาใช้ทรมานนักโทษเช่นกัน

ถึงแม้การใช้ดนตรีเพื่อทรมานจะฟังดูตลก แต่กลับเป็นวิธีการที่ได้ผล ทำให้คนประสาทเสียได้ตามเป้าหมายการทรมาน ไม่เช่นนั้นก็คงไม่ถูกใช้ซ้ำไปมาหลายทศวรรษ และถึงแม้ว่าเรื่องราวที่กวนตานาโมจะโดนแฉในที่สุด และนักดนตรีจำนวนมากก็ออกมาร่วมกันประท้วงให้หยุดใช้ดนตรีของพวกเขาหรือดนตรีใดๆ เพื่อการทรมานผู้คน

แต่ในทางปฏิบัติการใช้ดนตรีเพื่อทรมานก็คงจะดำเนินต่อไปใน ‘ที่ลับ’ ต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมัน ‘เวิร์ค’

6.
ที่เล่ามาทั้งหมด ก็จะเห็นได้ว่าเสียงต่างๆ บนโลก ไม่ได้เป็นไปแค่เพื่อการสื่อสารและความรื่นรมย์ แต่ทำหน้าที่ต่างๆ ได้อีกเยอะ ทั้ง ‘ประหลาด’ ที่สุดอย่างการใช้เป็น ‘อาวุธ’ ในการห้ำหั่นและทำร้ายมนุษย์ด้วยกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

และนี่ก็คงจะตอกย้ำว่า แท้จริงแล้ว ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่จะ ‘ไร้พิษภัย’ โดยสิ้นเชิง

เพราะสิ่งที่ดูจะไม่มีพิษภัยจำนวนมาก ก็ถูกใช้อย่าง ‘มีพิษภัย’ ได้เสมอ ถ้าผู้ใช้มีจินตนาการเพียงพอ

อ้างอิง: The Conversation. Friday essay: the sound of fear. https://bit.ly/3jPHV5X
Wikipedia. Havana Syndrome. https://bit.ly/2DeJJok