จากคำดูถูก-การลองภูมิ สู่ตำนานวันสงกรานต์ ‘นางสงกรานต์’ คือใคร ทำไมต้องมี 7 คน และเพราะอะไรเทศกาลสงกรานต์ถึงมี 3 วัน?
‘สงกรานต์’ หรือเทศกาลสงกรานต์ เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย ตรงกับช่วงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหาร คนสมัยโบราณจึงคิดทำกิจกรรมเพื่อเป็นการพักผ่อนหลังจากทำงาน และเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้พบกันและเล่นสาดน้ำกัน เพื่อคลายความร้อนในเดือนเมษายน
คำว่า สงกรานต์ มาจากภาษาสันสกฤตว่า ‘สํ – กรานต’ แปลว่า ก้าวขึ้น, ย่างขึ้น หรือเคลื่อนที่ ในบริบทของคำนี้จะหมายถึง การที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายสู่ราศีใหม่ เรื่องราวการเคลื่อนของพระอาทิตย์นี้กลับมีจุดเริ่มต้นจากเพียง ‘คำดูถูกของนักเลงสุราคนหนึ่ง’ เท่านั้น
อ้างอิงจากจารึกตำนานวันสงกรานต์ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บันทึกเรื่องราวนี้บนแผ่นศิลา 7 แผ่น ที่ติดประดับไว้ในศาลาของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ ได้บอกเล่าตำนานวันสงกรานต์ และที่มาที่ไปของนางสงกรานต์
ย้อนกลับไปสมัยก่อนพุทธกาล มีเศรษฐีอายุเลยวัยกลางคนคนหนึ่งที่อยู่กับความทุกข์ใจเพราะตัวเองยังไร้ทายาท ได้ถูกนักเลงสุราที่อาศัยอยู่บ้านข้างๆ กัน พูดจาถากถางให้เจ็บช้ำด้วยการจี้ปมในใจ ที่แม้จะร่ำรวยสินทรัพย์แต่กลับไม่มีบุตรเลยสักคนเดียว
จากคำดูถูกของนักเลงสุรา เศรษฐีผู้นั้นจึงได้เริ่มต้นบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตรด้วยความมานะพยายามนานถึง 3 ปี
จนกระทั่งวันหนึ่ง เศรษฐีและบริวารได้ล้างข้าวสารด้วยน้ำสะอาด 7 ครั้งแล้วหุงถวายให้ต้นไทรต้นหนึ่ง ตอนนั้นเองเหล่าเทพยาดาเกิดเห็นใจและสงสารเศรษฐีผู้นี้เป็นอย่างมาก จึงได้พากันไปเฝ้าพระอินทร์และทูลขอบุตรให้กับเศรษฐี
พระอินทร์จึงได้บัญชาให้เทพบุตรนามว่า ‘ธรรมบาล’ ลงมาจุติเป็นบุตรของเศรษฐี เมื่อครบกำหนดคลอด เศรษฐีก็ตั้งชื่อบุตรชายว่า ‘ธรรมบาลกุมาร’
เมื่อธรรมบาลกุมารเติบใหญ่ก็กลายเป็นเด็กที่มีปัญญาเฉียบแหลม หัวไว รอบรู้ แถมยังเรียนรู้ภาษานกได้อีกด้วย เมื่ออายุได้เพียง 7 ขวบ ธรรมบาลกุมารก็เรียนจบไตรเพท ซึ่งเป็นคัมภีร์สูงสุดของศาสนาพราหมณ์ กิตติศัพท์ความฉลาดของเด็กน้อยเจ้าปัญญาผู้นี้โด่งดังไปทั่ว จนไปเข้าหูของเทพองค์หนึ่งที่มีนามว่า ‘ท้าวกบิลพรหม’
ท้าวกบิลพรหมไม่รอช้าและคิดที่จะ ‘ลองภูมิ’ ธรรมบาลกุมาร ด้วยความมั่นอกมั่นใจว่าทดสอบความเก่งกล้าสามารถของตนนั้น มนุษย์เด็กผู้นี้คงไม่สามารถพิชิตได้ จึงได้เอา ‘ชีวิต’ เป็นเดิมพัน และรีบลงมายังโลกมนุษย์เพื่อท้าพนันตัดคอกับธรรมบาลกุมาร ด้วยปริศนา 3 ข้อ ที่มีเงื่อนไขว่า หากธรรมบาลกุมารสามารถตอบได้ ตนจะตัดศีรษะตัวเองบูชาสติปัญญาและความสามารถของธรรมบาลกุมาร แต่ถ้าธรรมบาลกุมารตอบไม่ได้ ก็จะต้องเสียหัวเพื่อเป็นพยานแห่งความพ่ายแพ้ครั้งนี้
โดยคำถาม 3 ข้อของท้าวกบิลพรหม มีดังนี้
- ตอนเช้าราศีคนอยู่แห่งใด
- ตอนเที่ยงราศีของคนอยู่แห่งใด
- ตอนค่ำราศีของคนอยู่แห่งใด
เมื่อฟังคำถามจบ ธรรมบาลกุมารเองก็ไม่รู้ว่าคำตอบอะไร จึงขอผลัดวันตอบคำถามไปอีก 7 วัน จนกระทั่งถึงวันที่ 6 เด็กน้อยก็ยังไม่รู้คำตอบอยู่ดีและไม่ทราบว่าจะไปหาคำตอบมาจากแหล่งใด จึงได้แอบหลบไปพักใจหนีเข้าป่า
ระหว่างที่ธรรมบาลกุมารนอนพักเอาแรงใต้ต้นตาล ด้านบนของต้นตาลนี้มีสามี-ภรรยานกอินทรีคู่หนึ่งอาศัยอยู่ ภรรยานกอินทรีถามสามีว่า พรุ่งนี้จะไปหาอาหารกันที่ไหนดี ฝ่ายสามีนกอินทรีจึงตอบว่า พรุ่งนี้พวกเขาคงไม่ต้องบินไปหาอาหารไกล เพราะจะได้กินเนื้อธรรมบาลกุมาร ที่จะต้องถูกตัดคอเพราะยังหาคำตอบไปตอบท้าวกบิลพรหมไม่ได้
นางนกอินทรีได้ยินเช่นนั้น จึงถามสามีว่าคำถามนั้นคืออะไร ฝ่ายเจ้านกอินทรีหนุ่มจึงได้เล่าให้ภรรยาฟังพร้อมอธิบายคำตอบแต่ละข้ออย่างละเอียด ดังนี้
ข้อแรก ตอนเช้าราศีของคนอยู่ที่หน้า จึงต้องล้างหน้าทุกๆ เช้า
ข้อต่อมา ตอนเที่ยงราศีคนอยู่ที่อก จึงต้องเอาเครื่องหอมประพรมที่อก
ข้อสุดท้าย ตอนค่ำราศีคนอยู่ที่เท้า จึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน
ธรรมบาลกุมารที่นอนพักใจเตรียมโดนตัดหัวในตอนแรก จึงได้คำตอบเพราะตนเองรู้ภาษานก
วันรุ่งขึ้น ท้าวกบิลพรหมเป็นฝ่ายแพ้ จึงจำเป็นต้องทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้ (และแน่นอนว่าสามี-ภรรยานกอินทรีก็อดกินเนื้อธรรมบาลกุมารเช่นกัน)
ก่อนที่ท้าวกบิลพรหมจะทำตามเงื่อนไขที่ตนเองกำหนดไว้ เขาได้เรียกลูกสาวทั้ง 7 ตนมาพบและบอกกับลูกๆ ว่า ตนต้องตัดศีรษะเพื่อบูชาความเก่งกล้าสามารถของธรรมบาลกุมาร แต่เมื่อศีรษะของตนหลุดออกจากบ่าแล้ว อาจเป็นหายนะเลวร้ายของโลกได้ เพราะหากเอาศีรษะของท้าวกบิลพรหมไปวางไว้บนแผ่นดิน ไฟจะลุกไหม้ทั้งโลก หากโยนศีรษะขึ้นไปบนอากาศ ฝนฟ้าจะแล้ง หากเอาศีรษะไปโยนลงมหาสมุทร น้ำจะเหือดแห้ง เพราะแท้จริงแล้ว ท้าวกบิลพรหม ก็คือ ‘พระอาทิตย์’ และคำว่า ‘กบิล’ มีความหมายว่า ‘สีแดง’ นั่นเอง
ท้าวกบิลพรหมจึงจัดแจงให้บรรดาลูกสาวเอาพานมารองรับศีรษะของตนเองเพื่อป้องกันโลกไม่ให้เป็นอันตรายจากภัยความมั่นใจของผู้เป็นพ่อ โดยลูกๆ ของท้าวกบิลพรหมต่างมีหน้าที่ปกป้องโลก ดังนี้
เมื่อท้าวกบิลพรหมถูกตัดศีรษะ ให้ส่งต่อศีรษะนั้นให้ ‘นางทุงษะ’ ลูกสาวคนโตเป็นผู้เอาพานรับศีรษะไว้ แล้วแห่ประทักษิณ หรือเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุนาน 60 นาที แล้วอัญเชิญศีรษะของท้าวกบิลพรหมไปไว้ในมณฑปถ้ำคันธุรลี ที่เขาไกรลาส บูชาด้วยเครื่องทิพย์
นอกจากนี้ ท้าวเวสสุกรรมก็ยังเนรมิต ‘ภควดี’ หรือโรงประดับด้วยแก้ว 7 ประการ ให้เป็นที่ประชุมเทวดา เหล่าเทพเทวดาก็เอาเถาฉมูนวดลงมาล้างในสระอโนดาต 7 ครั้ง
เมื่อครบ 365 วัน หรือ 1 ปี นับเป็น ‘สงกรานต์’ ลูกสาวของท้าวกบิลพรหมต้องผลัดเวรกันมาเชิญศีรษะของพ่อแห่รอบเขาพระสุเมรุทุกปี
เหล่าลูกสาวทั้งเจ็ดของท้าวกบิลพรหม เป็นเทพธิดาอยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช หรือสวรรค์ชั้นที่ 1 โดยในแต่ละปี ลูกสาวคนไหนจะรับหน้าที่ ‘นางสงกรานต์’ หรือเป็นผู้มาเชิญศีรษะพ่อไปแห่รอบเขาพระสุเมรุ หรือศูนย์กลางของจักรวาลตามความเชื่อโบราณนั้น ขึ้นอยู่กับว่า วันที่ 13 เมษายน จะตรงกับวันใด โดยแต่ละวัน มีผู้รับหน้าที่นางสงกรานต์ ดังนี้
1. นางทุงษะ เป็นนางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์
2. นางโคราด เป็นนางสงกรานต์ประจำวันจันทร์
3. นางรากษส เป็นนางสงกรานต์ประจำวันอังคาร
4. นางมัณฑา เป็นนางสงกรานต์ประจำวันพุธ
5. นางกิริณี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี
6. นางกิมิทา เป็นนางสงกรานต์ประจำวันศุกร์
7. นางมโหทร เป็นนางสงกรานต์ประจำวันเสาร์
โดยในปีนี้ ผู้ที่รับหน้าที่เชิญศีรษะท้าวกบิลพรหม คือ ‘นางมโหทร’ หรือนางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) มีนิลรัตน์เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือเนื้อทราย หัตถ์ขวาถือจักร หัตถ์ซ้ายถือตรีศูล เป็นอาวุธคู่กาย ประทับเหนือมยุราปักษา (นกยูง)
ในช่วงเวลาที่นางสงกรานต์เชิญศีรษะท้าวกบิลพรหมแห่รอบเขาพระสุเมรุ คือเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษเป็นวันแรกของเทศกาลสงกรานต์หรือเรียกว่า ‘วันมหาสงกรานต์’ หรือวันที่ 13 เมษายน
ขณะวันที่ 14 เมษายนจะเรียกว่า ‘วันเนา’ คือวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนมาอยู่กึ่งกลางระหว่างราศีมีนและราศีเมษ ส่วนวันที่ 16 เมษายน จะเป็น ‘วันเถลิงศก’ คือวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษอย่างสมบูรณ์ นับเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองเข้าสู่ปีใหม่ โดยปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 16 เมษายน เวลา 2 นาฬิกา 15 นาที 0 วินาที นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเทศกาลสงกรานต์ถึงต้องมี 3 วันนั่นเอง
ปีนี้ กระทรวงวัฒนธรรม ได้แต่งตั้งให้ แอนโทเนีย โพซิ้ว มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2023 และรองชนะเลิศอันดับ 1 มิสยูนิเวิร์ส 2023 เป็น ‘นางมโหทรเทวี’ หรือนางสงกรานต์ประจำปี 2567 และเป็นทูตวัฒนธรรมแห่งประเทศไทยอีกด้วย