“การเปลี่ยนแปลงไม่ได้อยู่ที่เรา มันอยู่ที่เขา” ‘สมชาย สุรประดิษฐ์กุล’ เจ้าของร้านศักดิ์ชาย อีเล็คทริค ร้านซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าเจ้าเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ในย่านบรรทัดทอง
ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา หนึ่งในย่านที่มีผู้คนพลุกพล่านคอยแวะเวียนไปมาอยู่ตลอด กำลังได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ย่อมหนีไม่พ้นย่าน ‘บรรทัดทอง’ ที่ในอดีตเคยเป็นศูนย์รวมร้านขายเสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬา ร้านขายอะไหล่รถยนต์ ทว่าปัจจุบันบรรทัดทองกลายเป็นสวรรค์ของเหล่านักชิม เพราะเต็มไปด้วยร้านอาหาร ร้านค้า ร้านสตรีทฟู้ดที่หลากหลาย โดยเฉพาะยามค่ำคืนที่คึกคักเป็นพิเศษ
แต่ในความคึกคักเช่นนี้ บางคราอาจทำให้เราหวนนึกถึงร้านค้าเก่าแก่ สถานที่ และอาคารสิ่งปลูกสร้างหลายแห่งที่อยู่คู่ย่านบรรทัดทอง–สวนหลวง–สามย่าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำและความผูกพันของผู้คนจำนวนไม่น้อย ที่ต้องปิดกิจการหรือย้ายออก เหตุผลส่วนใหญ่ของคนที่ต้องปิดกิจการหรือย้ายออก นั่นก็เพราะสู้กับค่าเช่าที่ที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว
ทว่าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ‘สมชาย สุรประดิษฐ์กุล’ เจ้าของร้าน ‘ศักดิ์ชาย อีเล็คทริค’ ผู้อาศัยอยู่ในย่านบรรทัดทองมาตั้งแต่รุ่นพ่อ ยังคงสานต่อกิจการร้านซ่อมเครื่องไช้ไฟฟ้าแห่งนี้ต่อไป แม้จะเหลืออยู่เพียงเจ้าเดียวก็ตาม
“เราอาศัยอยู่ย่านนี้มาอย่างยาวนานเกือบ 40-50 ปี สภาพแวดล้อมในอดีตของพื้นที่ละแวกนี้เต็มไปด้วยบ้านอยู่อาศัย ทีนี้พอเกี่ยวข้องกับจุฬาฯ เลยมีเรื่องของค่าเช่า ทำให้บ้านที่เขาอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำการค้าสู้ไม่ไหว ก็อยู่ไม่ได้ ย้ายออกไปเรื่อยๆ เพราะค่าเช่ามักจะขึ้นทุกเที่ยว ทุกปี ทุกการต่อสัญญา
“รู้สึกหดหู่ ตอนเพื่อนบ้านเก่าๆ ที่อยู่ด้วยกันมานานหายไป ปัจจุบันก็มีเพื่อนบ้านใหม่ๆ ข้างบ้านที่ดีๆ เข้ามาทดแทน ซึ่งเราก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสมัยที่เราอยู่ ให้เข้ากันได้ เพราะอย่างตรงนี้เวลาตกดึก ตอนกลางคืนเสียงก็จะดังหน่อย เพราะเขาค้าขายกัน ขณะที่ถ้าเป็นเมื่อก่อนสองสามทุ่มก็จะเริ่มเงียบแล้ว พักผ่อนได้ดีหน่อย
“ร้านซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้านี้ เราสานต่อจากพ่อ ทำกันมานาน ตั้งแต่ร้านที่เคยอยู่ฝั่งตรงข้าม แต่พอมีคนขอเซ้ง มาขอเช่าร้านเรา เลยเลือกย้ายมาฝั่งนี้ อยู่ตรงหัวมุม มีรถวิ่งเข้า–ออกจะเห็นร้านเรามากกว่า ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นขาประจำ ที่เขาไว้ใจเรา จากการที่พูดความจริงกับเขา ไม่ได้หลอกลวงเขา อาจจะมีขาจรบ้าง คนผ่านไปผ่านมาที่รู้ว่าที่นี่มีร้านซ่อม ก็เอาเข้ามาซ่อม
“ถ้าจะให้เปลี่ยนร้านไปทำอย่างอื่นก็ต้องเริ่มใหม่ เรียนรู้วิชาใหม่ ที่สำคัญลูกค้าที่เราสั่งสมมาก็จะหายไป ลูกค้าประจำเขาคงไม่ตามเราไปถึงร้านใหม่ด้วย ตอนนี้เลยทำได้แค่ไปพิมพ์นามบัตร คอยแจกตามร้านค้าแถวนี้ที่เขาใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า ให้เขารับรู้ว่าร้านเราตรงนี้รับซ่อม เพราะละแวกนี้แต่ก่อนมีหลายร้าน แต่เขาย้ายออกไปหมด เลยเหลือแค่ร้านเราเพียงเจ้าเดียวแล้ว
“จริงๆ วันหนึ่งรายได้ไม่แน่ไม่นอน แล้วแต่ บางวันก็ได้สี่ห้าพัน บางวันได้สองสามพัน หรือบางวันถึงขั้นไม่มีรายได้เข้ามาก็มี ทำอะไรไม่ได้ ถ้าไม่มีก็ตามนั้น คือต้องรองานว่าพรุ่งนี้จะมีหรือเปล่า เราไม่ได้วิ่งข้างนอก ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าที่ส่งเข้ามา
“เราถูกล้อมรอบด้วยความเปลี่ยนแปลง อดีตเคยหาของกินลำบาก เดี๋ยวนี้เดินกินง่ายขึ้น มันค่อยๆ กลืนเข้ามาเรื่อยๆ ร้านค้าใหม่ๆ เริ่มเข้ามาด้านใน บางทีมีมาติดต่อขอเซ้งร้านก็มี แต่เราไม่เซ้ง เพราะเรายังอยู่ได้ เรามีความผูกพันกับผู้คน ซึ่งปัจจุบันเพื่อนบ้านสมัยก่อน ตั้งแต่วัยเด็ก หรือคนเก่าคนแก่เหลือน้อยลงทุกวันแล้ว และเหลือร้านเก่าแก่ดั้งเดิมอยู่ไม่กี่ร้าน
“มีคุยกัน ปรึกษากันบ้างว่าก่อนจะต่อสัญญาเราจะเอายังไงกันต่อ ส่วนใหญ่ก็ได้วางแผนไว้รองรับ เพราะถ้าไม่เตรียมพร้อมนี่แย่เลย มีบางปีที่ขึ้นค่าเช่าเยอะมากๆ ปีนั้นก็เป็นปีที่มีคนย้ายออกไปเยอะมากๆ เช่นกัน ผู้คนที่ยังอยู่ได้เลยเป็นร้านค้า
“สำหรับความคิดจะย้ายออกยังไม่มี รอแค่ดูค่าเช่าของจุฬาฯ ว่าถ้าขึ้นค่าเช่ามากก็คงไม่อยู่แล้ว คงต้องย้าย แต่ตอนนี้เพิ่งต่อสัญญาไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ขึ้นมา 3 เปอร์เซ็นต์ เดือนหนึ่งจาก 22,000 ก็ขึ้นเป็น 24,000-26,000 เราดูแล้วยังพออยู่ได้
“มีกลัวไหม มันก็มี แต่เราซื้อบ้านสำรองไว้ เรามีซื้อบ้านไว้นานแล้ว แต่ไม่ได้ไปอยู่อาศัย ตอนนี้ปล่อยเช่าไว้ เรามีการวางแผนเรื่องนี้นานแล้ว
“ส่วนถ้าวันหนึ่งเกิดต้องย้ายออกขึ้นมาจริงๆ เราทำใจมานานแล้ว การเปลี่ยนแปลงมันมีมาตลอด การเปลี่ยนแปลงไม่ได้อยู่ที่เรา มันอยู่ที่เขา ซึ่งทุกวันนี้เรายังอยู่ แม้ค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อยๆ จากเมื่อก่อนข้าวจานละ 30-40 บาท ตอนนี้ 70- 80 บาท ยังไม่อิ่มเลย แต่อาศัยว่าลูกเดินทางง่าย เดินทางสะดวกเวลาไปเรียน ไปทำงาน เพราะย่านนี้อยู่ใจกลางเมือง”
สมชาย สุรประดิษฐ์กุล
เจ้าของร้านซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ศักดิ์ชาย อีเล็คทริค